ไลฟ์สไตล์

เสพติดความเศร้า - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 11 ก.พ. 2562 เวลา 04.20 น. • วินทร์ เลียววาริณ

สมัยผมเป็นวัยรุ่น โรงหนังบางโรงในกรุงเทพฯ มีโปรโมชั่น ซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบได้รับกระดาษทิชชูหนึ่งห่อ เอาไว้ซับน้ำตา เพราะหนังเศร้าสลดทุกข์ระทมขมขื่นสุดประมาณ

เวลานั้นหนังเศร้าตั้งชื่อแนวอีโมชั่นเต็มๆ เช่น ธรณีกรรแสง น้ำตานางทาส น้ำตาสาวใช้ น้ำตาแม่ค้า ฯลฯ แค่ชื่อเรื่องก็เตรียมเศร้าแล้ว ดูๆ ไปน้ำตาก็ไหล เห็นคนอื่นร้องไห้ พลอยทำให้ร้องตาม ไม่นานทั้งโรงก็มีแต่คนร้องไห้ ราวกับไปร่วมงานศพ จะออกจากโรงหนังต้องลุยน้ำตาที่ท่วมโรงออกมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนังจีนก็ไม่น้อยหน้า คัดสรรมาแต่หนังเศร้าสะเทือนอารมณ์ขมขื่นฤทัย

หนังตระกูลนี้เรียกว่า tearjerker มีสูตรสำเร็จ เขียนไม่ยาก ไม่ต้องเน้นความสมจริง แค่เน้นอารมณ์ก็ใช้ได้แล้ว เคล็ดลับคือทำให้ตัวละครเอกถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สุขภาพเสื่อม สังคมรังเกียจทั้งที่เป็นคนดีเหลือประมาณ เท่านี้ก็จับใจคนดูได้แล้ว

หนังไทย tearjerker เรื่องหนึ่งนานมาแล้วเศร้าเหลือประมาณ นางเอกผจญชะตากรรมโหดร้ายรันทดบัดซบสิ้นดี ลูกตาย พ่อตาย แม่ป่วยเป็นอัมพาต บ้านถูกไฟไหม้ คนทำหนังต้องการยัดความเศร้าแบบ ‘จัดเต็ม’ ตัวละครจึงต้องทุกข์ทรมานปานนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่แปลกก็คือคนดูจ่ายเงินไปร้องไห้อย่างมีความสุข

กลายเป็นว่าดูหนังเศร้าแล้วผ่อนคลาย!

ออกจากโรงแล้วตาแดงๆ น้ำตายังไม่แห้งดี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พอตาหายแดง ก็ไปดูอีกรอบ!

เกิดอะไรขึ้น?

…………..

ผมรู้จักคนไม่น้อยที่ชอบดูหนังเศร้า ดูแล้วร้องไห้ แล้วไปดูซ้ำอีก

เพื่อนผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า “ร้องไห้แล้วมีความสุข”

ทีแรกฟังดูเป็นตรรกะที่ย้อนแย้งแปลกๆ แต่เมื่อเข้าใจกลไกเคมีสมองดีขึ้น ก็พบว่าธรรมชาติไม่สร้างการร้องไห้มาโดยไร้เหตุผลหรือไม่มีประโยชน์ การร้องไห้เป็นการลดความกดดันอย่างหนึ่งของสมอง

ในหนังเรื่อง Fight Club ตัวละครเอกเป็นโรคนอนไม่หลับอย่างแรง เมื่อการรักษาจากแพทย์ไม่ประสบผล หมอคนหนึ่งก็แนะนำให้ทดลองแนวทางใหม่ นั่นคือไปร่วมบำบัดจิตกับกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งอัณฑะ ในกระบวนหนึ่งของการบำบัดร่วมคือร้องไห้ในอ้อมอกของคนไข้คนอื่น ปรากฏว่าเขาค้นพบอิสรภาพ และนอนหลับได้เป็นครั้งแรก

นี่อาจเป็นหนัง แต่ก็ไม่ต่างจากความจริงเท่าไร เพราะการร้องไห้ลดความเครียดได้จริง

ฝรั่งมีคำพูดว่า Have a good cry หมายถึงการร้องไห้ที่ไม่ต้องอั้น ร้องไห้จนหมดสิ้น แล้วจะรู้สึกดีขึ้น เหมือนปลดปล่อยความทุกข์ออกไป

*ร้องไห้ช่วยลดความเครียดได้อย่างไร? *

การร้องไห้เป็นผลของการปะทุและระเบิดของอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นความเศร้า บางครั้งเป็นความดีใจ น้ำตาที่มาจากอารมณ์เริ่มที่สมอง เมื่อสมองจับสัญญาณความเครียดได้ ความแรงของอารมณ์ที่ปะทุ ทำให้ระดับฮอร์โมน adrenocorticotropic เพิ่มขึ้นมากไป ก่อให้เกิดกระบวนการร้องไห้

ระบบต่อมไร้ท่อหลัั่งฮอร์โมนไปยังพื้นที่รอบนัยน์ตา ทำให้น้ำตาเริ่มไหล แต่ไม่ไหลเปล่า มันหลั่งออกมาพร้อมสารเคมีหลายชนิดหลั่งออกมา เช่น โปรตีนที่เรียกว่าโปรแลคติน, ฮอร์โมน adrenocorticotropic, Leu-enkephalin โพทาสเซียม และแมงกานีส 

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าสารเหล่านี้เป็นพิษที่เกิดจากความเครียด การร้องไห้ช่วยขับพิษและสารก่อความเครียดออกจากร่าง ร้องไห้แล้วดีขึ้นเพราะฮอร์โมนที่หลั่งจากความเครียดถูกกำจัดออกไปกับน้ำตา ยกตัวอย่างเช่น แมงกานิสในปริมาณพอเหมาะดีกับร่างกาย มากเกินไปก็เป็นอันตราย เมื่อน้ำตาชะล้างสารเหล่านี้ออกไป ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นทางกายภาพและจิตใจ

ขณะที่การหัวเราะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน การร้องไห้ก็ช่วยเช่นกัน

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือผู้หญิงมีโปรแลคตินมากกว่าผู้ชาย นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่า บ่อยกว่า อาจเพื่อขจัดมันออกไป

มีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าการร้องไห้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเชื่อมต่อกับคนร้องไห้ได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการส่งสัญญาณออกไปอย่างได้ผล ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนที่เห็นอย่างแรงและได้ผล มันช่วยลดความโกรธของอีกฝ่ายลง

เคยมีประสบการณ์โกรธใครสักคนไหม? เมื่อเขาหรือเธอร้องไห้ ความโกรธของเราก็ลดลง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีว่า การร้องไห้เป็นรูปหนึ่งของการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพไม่น้อยเชื่อว่า เหตุที่ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายเฉลี่ย 5-7 ปี เพราะร้องไห้บ่อย ผู้หญิงปลดปล่อยอารมณ์เครียด โกรธ และอื่นๆ ด้วยการร้องไห้

ในบรรดาชนชาติต่างๆ ดูเหมือนชาวญี่ปุ่นจะเป็นพวกต่อมน้ำตาตื้น ร้องไห้ง่ายจริงๆ และก็ได้ยกการร้องไห้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือตั้งสมาคมร้องไห้ หรือคลับร้องไห้ (rui-katsu) สมาชิกสามารถร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรตามอัธยาศรัย ร้องไห้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ต้องกลับบ้าน

การกระตุ้นให้ร้องไห้ทำโดยการดูหนังเศร้า หรืออ่านหนังสือเศร้า เพราะเชื่อว่าร้องไห้แล้วดีขึ้น ถือว่าเป็นจิตบำบัดชนิดหนึ่ง

ตาบวมนิดหน่อย แต่คุ้ม

ในเมื่อเราสามารถใช้การร้องไห้เป็นการบำบัดจิตได้ ขยายวงให้กว้างขึ้นไม่ดีกว่าหรือ? ดังนั้นจึงมีบริการทำให้พนักงานองค์กรร้องไห้ ร้องไห้ทั้งออฟฟิศ

เหตุผลคือ สังคมญี่ปุ่นไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น ดังนั้นหากเราเห็นเพื่อนในออฟฟิศร้องไห้ จะเกิดการเชื่อมใจกันขึ้น ทำงานเป็นทีมดีขึ้น เพราะเพื่อนเห็นตัวตนภายในของเราว่าเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ การร้องไห้ด้วยกันจึงเป็นเรื่องดีต่อธุรกิจ

บริษัทร้องไห้จำกัดนี้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฉายหนังเศร้าให้ลูกค้าดู

หนังที่ให้ดูอาจเป็นเรื่องของชายหูหนวกกับลูกสาว ลูกสาวป่วยเป็นโรคร้ายแรง ถูกส่งไปโรงพยาบาล ผู้เป็นพ่อไม่สามารถสื่อสารกับพยาบาลได้ว่าเขาเป็นพ่อ เพราะไม่ได้ยิน พยาบาลจึงห้ามให้ไปเยี่ยมลูก พ่อร้องไห้อย่างโศกเศร้าขณะที่ลูกสาวตายอย่างโดดเดี่ยว

tearjerker ตามสูตรทุกประการ

ตลอดเวลานั้นเจ้าหน้าที่จะดูและร่วมร้องไห้ด้วย คนดูเศร้าสลดน้ำตาท่วมออฟฟิศ เจ้าหน้าที่จะให้บริการทิชชูซับน้ำตา

สมาคมเจ้าน้ำตานี้เชื่อหลักความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness GNH) ของประเทศภูฏาน เพียงแต่เปลี่ยนเป็น Gross National Tear (GNT) เชื่อว่าถ้าร้องไห้เป็น และถูกเวลา จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี

บางทีการดูหนังเศร้า ฟังเรื่องเศร้าทำให้เรารู้สึกดีเพราะทำให้เกิดการเปรียบเทียบโดยไม่ตั้งใจว่า ชีวิตเราดีกว่าชีวิตของตัวละคร

บางทีท้ายที่สุดแล้ว เราอาจไม่ได้สงสารคนอื่น เราสงสารตัวเราเอง!

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

กุมภาพันธ์ 2562

ความเห็น 7
  • ดี
    11 มิ.ย. 2562 เวลา 16.10 น.
  • Wiboon Wongsuwon
    เพิ่งไปดู Friend Zone มาวันนี้คนเดียว (14 ก.พ.) ขนาบข้างด้วย หญิงสาว และน่าจะโสดเพราะทั้งคู่มาดูคนเดียวเช่นกัน ใจนึงที่อยากไปดูวันนี้เพราะเป็นวันแห่งความรัก ใครเขาก็น่าจะมากันเป็นคู่ๆกัน และแอบ 'จิต นิดๆที่ชอบมองคนที่มาเป็นคู่สวีทกัน (รักกันให้นานๆ นะมึง ^___^) แต่การที่เราถูกขนาบด้วยหญิงสาว (น่าจะโสด) ทั้งสองข้างนั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า ในโลกใบนี้ยังมีคนโสด และไม่ง้อแฟนเพื่อเข้าไปดูหนังรัก ฟิลกู๊ด หรือทำกิจกรรมที่มันคล้ายๆกับเราในวันที่เขาแสดงความรักกัน...ส่วนเราได้แต่แอบมอง #วิถีคนโสด
    14 ก.พ. 2562 เวลา 14.34 น.
  • ด้วยเคารพรักคิดถึง..
    เลือมเรืองในอดีสทุกเรื่องอะไรที่คิดผิดก็เลือมหัยหมดหัยคิดถึงแต่เรื่องดีๆนัยวันไหมครับ
    12 ก.พ. 2562 เวลา 13.06 น.
  • ตื่นเช้ามาอ่าน. ขอบคุณค่ะ
    11 ก.พ. 2562 เวลา 23.43 น.
  • ร้องไห้ครั้งสุดท้ายกันเมื่อไร
    11 ก.พ. 2562 เวลา 12.59 น.
ดูทั้งหมด