ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่องงบการเงิน E-Commerce ในไทย ขาดทุนแล้ว ทำไมยังโต?

Money2Know
เผยแพร่ 05 ก.ค. 2562 เวลา 10.14 น. • money2know - เงินทองต้องรู้

ถ้าพูดถึงจำนวนสินค้า ที่อยู่ใน 3 แพลตฟอร์มใหญ่ในไทย คงหนีไม่พ้น Lazada, Shopee และ JD Central ที่สร้างมูลค่าให้กับ ตลาด E-Commerce พุ่งสูง 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2561 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปถึงงบการเงิน พบว่า 3 เจ้าที่ว่านั้น ขาดทุนมหาศาล รวมกันเกือบ 8 พันล้านบาท

Lazada ก่อตั้งโดยบริษัท Rocket Internet จากเยอรมนีในปี 2555 เน้นเจาะตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เติบโตได้ดีที่สุดในสิงคโปร์ และเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000,000 บาท ต่อมา Alibaba ได้ควบรวมกิจการเมื่อปี 2559 ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้ Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada ใน อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ลาซาด้า จำกัด ปี 2561 มีรายได้รวม 8,163 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,645 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

JD Central เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง JD.com และ Central Group ด้วยเม็ดเงินกว่า 17,500 ล้านบาท ในชื่อกลุ่ม JD Central หรือ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด กับเป้าหมายการขึ้นเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ ปี 2561 มีรายได้รวม 458 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 944 ล้านบาท

Shopee เปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสิงคโปร์และไต้หวัน และยังให้บริการในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ Shopee ก่อตั้งโดยบริษัท Garena ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Sea Ltd. เพราะมีเป้าหมายต้องการมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน Garena ถือเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่ใหญ่สุดรายหนึ่งในอาเซียน
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ปี 2561 มีรายได้รวม 165 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,114 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าLazada, Shopee และ JD Central รวมกันแล้วจะขาดทุนมหาศาส แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาด E-Commerce ไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในหลายปีติดต่อกัน ดูได้จาก ผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี โดย ETDA ได้เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจากจำนวนเพียง 9.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันมีคนใช้มากถึง 45 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสาร และราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ผู้ขายทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับจำนวนแพลตฟอร์มโดยผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตลาด E-Commerce โต แต่แพลตฟอร์ม ขาดทุน ?
มาถึงจุดนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่า ในเมื่อมูลค่า E-Commerce ไทยโตต่อเนื่อง แต่ทำไมแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central ยังยอมที่จะขาดทุน หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิรซ์ที่จะต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อให้ได้มาร์เก็ตแชร์ หรือได้ตลาด และ พยายามหาลูกค้าได้มากที่สุด เพราะเมื่อคนซื้อแล้วติด ชินกับพฤติกรรมการซื้อของบนแพลตฟอร์มหรือเว็บเป็นประจำคนก็จะไม่เปลี่ยน ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วที่อเมริกา นั่นก็คือ อเมซอน ซึ่งเคยขาดทุนเป็น 10 ปี แต่วันนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่อเมซอนทำ กำลังกลายเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ที่ยอมขาดทุนก่อนในช่วงแรก และหวังกินกำไร ในอนาคต

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • เบสคุง
    Shopee ข้อมูลผิดหรือเปล่า รายได้น้อยเกินไป
    05 ก.ค. 2562 เวลา 13.38 น.
  • Surapun
    ขาดทุนลวง​ หลบหลีกภาษี​ .. ขาดทุนจริงมันคงไม่เติบโตหรอกครับ
    05 ก.ค. 2562 เวลา 12.39 น.
ดูทั้งหมด