ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ซานเปยจี เมนูจีนที่พ้องกับเนื้อผัดใบโหระพา และร่องรอย “ไก่สามถ้วย” ในครัวไทย

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 26 มิ.ย. 2566 เวลา 03.00 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2566 เวลา 15.27 น.
ซานเปยจีตามจินตนาการของพ่อครัวไทย

รู้จัก “ซานเปยจี” เมนูจีนที่พ้องกับเนื้อผัดใบโหระพา และร่องรอย “ไก่สามถ้วย” ในครัวไทย

เมื่อนึกถึงกับข้าวจานผัดอย่างโบราณของครัวไทย ที่ผ่านมา ผมย่อมนึกไปถึงเนื้อผัดใบโหระพา ค่าที่ว่ามันปรากฏในคำบอกเล่าหลายๆ แหล่ง เช่น ปากคำและข้อเขียนของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ที่ให้ภาพเนื้อผัดน้ำมันขลุกขลิกกับหอมหัวใหญ่หั่นซอย กระเทียม พริกไทย รากผักชีตำ และใบโหระพา หรือบรรดาน้าๆ ลุงๆ หลายคนที่ผมเคยสอบถาม ซึ่งก็พูดถึงผัดเนื้อ หมู หรือไก่ กับกระเทียมทุบ พริกชี้ฟ้าหั่นหรือพริกขี้หนูสับ แล้วใส่ใบโหระพาผัดพอสลดในท้ายที่สุด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แน่นอนว่ากับข้าวจานนี้มีอายุมากกว่าผัดพริกใบกะเพรา ซึ่งปรากฏร่องรอยเก่าสุดในช่วงไม่เกิน 8 ทศวรรษมานี้เท่านั้นเอง

แต่ด้วยกระแสชาตินิยมจางๆ ที่ยังหลงเหลือในกระแสเลือด ผมเลยไม่ได้นึกเฉลียวใจอะไรต่อจากนั้น ทั้งๆ ที่ถ้าคิดสักนิดก็คงระลึกได้ว่า สำรับอะไรที่ปรุงในกระทะน้ำมัน ก็อาจมีฐานรากเก่าที่มาจาก “ที่อื่น” โดยเฉพาะครัวจีนได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่พูดถึงอะไรทำนองนี้ ผมมิได้หมายความประณามหมิ่นว่า สำรับกับข้าวนั้นๆ “ไม่ไทย” ดอกนะครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความเป็นไทย เป็นลาว เป็นเขมร หรือเป็นอะไรอื่นๆ อีกมากมายในโลกนี้ คือการประสมประสาน สำหรับในแง่อาหารนั้น การรับเอาวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง วิธีกินที่เป็นอื่นเข้ามาจนเป็นความคุ้นเคย ย่อมคือกระบวนการทำเป็นไทย ทำเป็นลาว ทำเป็นเขมร ซึ่งแทบหาต้นสายปลายจวักได้ยากยิ่ง

กระทั่งอาจไม่จำเป็นต้องหา แค่ตระหนักรู้ความเป็นมาเป็นไปบ้าง ก็คงเพียงพอที่จะไม่เผลอยกทัพพีชี้ตะหลิวกดข่มผู้อื่นโดยไม่จำเป็นบ่อยครั้งเกินไปนัก

สำหรับเนื้อผัดใบโหระพา ที่เริ่มมีการพูดถึงมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ผมคิดว่าช่วงก่อนหน้านั้นควรจะผัดด้วยไก่หรือหมูกันมากกว่า เพราะเนื้อวัวในประเทศสยามนี้ไม่ได้ถูกตระเตรียมให้เป็นวัตถุดิบบริโภคมาก่อน ต่างจากไก่ที่เลี้ยงปล่อยตามใต้ถุนแทบทุกบ้าน หรือหมู ที่ถ้าหากไม่ใช่หมูพื้นบ้านตัวดำๆ ก็มีคนจีนเลี้ยงไว้เชือดกินเชือดขายเป็นปกติอยู่แล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ดี กับข้าวที่ดูเหมือนมีความเป็นไทยมากๆ อย่างเช่นสำรับนี้ ก็มีความพ้องกันอย่างสำคัญ กับสำรับผัดแบบจีนแถบมณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของลุ่มน้ำแยงซีเกียง ที่ว่ากันว่าต่อมาไปโด่งดังและนิยมกินกันมากในไต้หวัน

นั่นก็คือ “ซานเปยจี” (三杯)

เพื่อนกินคนหนึ่งของผม คือ อาจารย์นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมจีน บอกว่า ซานเปยจี (ซานเปย – 3 ถ้วย, จี – ไก่) หรือ “ไก่สามถ้วย” ในไต้หวันมีการเพิ่ม “จินปู๋ห้วน” (金不换) คือใบโหระพาเข้าไปด้วย แถมยังมีตำนานผูกพันกับวีรชนสมัยราชวงศ์ซ่ง นาม “เหวินเทียงเสียง” (文天祥) ผู้ซึ่งไม่ยอมสยบภักดีต่อพวกมองโกล จนถูกจำคุกรอวันลงโทษประหาร โดยมีเรื่องเล่าว่า อาม่าผู้หนึ่ง อาศัยความคุ้นเคยกับผู้คุมคุก ได้ลอบนำไก่สับเป็นชิ้นๆ ราดน้ำมันหมู เหล้าหมักจากข้าว และซีอิ๊ว ผัดเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ปรุง “ซานเปยจี” ชามแรกในประวัติศาสตร์ให้เหวินเทียงเสียงรับประทานเป็นมื้อสุดท้ายอย่างเอร็ดอร่อย

ภายหลัง เมื่อมีการเซ่นวักดวงวิญญาณของเขา คนจีนก็จะปรุงสำรับนี้เป็นการระลึกถึงเขาทุกครั้งไป

ผมพยายามนึกอยู่นาน ว่ามีสำรับกับข้าวไทยๆ จานไหนบ้างไหม ที่ผูกพันกับเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นที่จดจำรำลึกจนคนรุ่นปัจจุบันคิดถึงทุกครั้งเมื่อได้กิน แต่ก็นึกไม่ออกเลยนะครับ

ซานเปยจีในทัศนะผม เป็นสำรับกับข้าวที่คิดมาเสร็จแล้วจริงๆ ครับ โดย 3 ถ้วยนั้น สูตรในตำรากับข้าวจีนระบุว่าหมายถึง น้ำมันหมู 1 น้ำซอสหรือซีอิ๊ว 1 และเหล้าจีน 1 เมื่อประสมรสกับขิงฝานทั้งเปลือก กระเทียมทุบ เม็ดพริกไทยบุบ และพริก ก็นับเป็นผัดจานร้อนที่มีกลิ่นและรสชาติลงตัวที่สุดสำรับหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

ผมลองทำซานเปยจีตามจินตนาการของพ่อครัวไทย คือผัดชิ้นไก่บ้านในกระทะน้ำมันไฟกลาง ใส่กระเทียมทุบ เม็ดพริกไทยบุบ ขิง พริกชี้ฟ้า สักครู่ก็เติมเหล้าข้าว ซีอิ๊วดำทั้งหวานและเค็ม อาจเติมน้ำได้เล็กน้อย ผัดไฟอ่อนๆ ไปให้น้ำผัดซึมงวดเข้าเนื้อไก่จนสุกหอม รสชาติดีแล้ว ก็ใส่ใบโหระพาสด

ผัดต่ออีกสักอึดใจ จนใบโหระพาเริ่มสลด ก็ตักมากินได้ครับ หน้าตาเป็นไก่ผัดขิงใส่ใบโหระพาแบบครัวไทยยังไงยังงั้น แต่หอมกลิ่นเหล้าข้าวผสมขิงคลุ้งไปทั้งจานทีเดียว

มันทำให้เราคิดจินตนาการต่อไปถึงกับข้าวกระทะเหล็กแบบจีนจานแรกๆ ที่แพร่เข้ามาในครัวไทย และเริ่มมีวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนมาอย่างยาวนาน บางสำรับอาจเปลี่ยนไปจนแทบจำต้นเค้าไม่ได้แล้ว หากบางสำรับก็อาจยังส่องสะท้อนให้เห็นบรรพชนจานแรกๆ ของมันได้ชัดเจนอยู่

ประการหลังนี้ บางที “ซานเปยจี” อาจเป็นหนึ่งในนั้นก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • mala
    หิวเลย
    24 มี.ค. 2562 เวลา 02.58 น.
  • คนไทยไม่กินสัตว์ใหญ่ ผักหญ้าข้าวเป็นหลัก นึ่งต้มเผาไม่ทอดไม่ผัด
    24 มี.ค. 2562 เวลา 07.22 น.
ดูทั้งหมด