ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มาก่อนได้ก่อน!! ชวนครัวเรือนติด ‘โซลาร์’ รับซื้อ 1.68 บาท/หน่วย เริ่ม พ.ค.นี้

The Bangkok Insight
อัพเดต 20 มี.ค. 2562 เวลา 18.11 น. • เผยแพร่ 20 มี.ค. 2562 เวลา 11.09 น. • The Bangkok Insight

ออกเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ประชาชนแล้ว เน้นมาก่อนได้ก่อน เริ่มพฤษภาคมนี้ กำหนดราคารับซื้ออัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย  พร้อมส่งเสริมธุรกิจติดตั้งบำรุงรักษาในประเทศ คาดเงินสะพัด 40,000 ล้าน 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่า ตามที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาไฟฟ้าของประเทศไทย หรือพีดีพี 2018 นั้น ถือเป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน และการใช้แผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Photo Voltaic Solar Cell) ถือเป็นส่วนสำคัญของแผนนี้ มีสัดส่วนเข้าระบบมากกว่า 50% ของพลังงานหมุนเวียน ด้วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 12,725 เมกะวัตต์

นโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้เอง และเปิดให้เชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในบางเวลาเข้าสู่ระบบได้   ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ โครงการนี้เรียกว่า  *“โซลาร์ภาคประชาชน” *

สำหรับในทางปฏิบัตินั้น เป็นหน้าที่่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ที่จะออกกฎเกณฑ์มารองรับ  เบื้องต้นกำหนดให้มีการติดตั้งประมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี คาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะได้ออกมาตรการสนับสนุน ให้ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจติดตั้ง และบำรุงรักษาระบบ ซึ่งในแต่ละปี คาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000 – 20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ. กล่าวว่า กกพ.จะออกประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการต่อไป และจะอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ โดยยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขั้นตอนดำเนินการ

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเริ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือ ติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง 2 แห่ง
  • เปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง และเว็บไซต์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพ.ค. และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562
  • ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562
  • กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

นายเสมอใจ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งโครงการฯนี้ ประชาชน จะต้องมีการลงทุน เพื่อติดตั้งระบบ ดังนั้นจะต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนด้วย

ทั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก และอยากให้มีการเปรียบเทียบ กับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลา ในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น

นฤภัทร อมรโฆษิต

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เสริมว่า หลักเกณฑ์การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย

*1.คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ *

  • บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
  • เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ต่อครัวเรือน

*2.เป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ *

  • พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์
  • พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์

*3.เงื่อนไขการพิจารณา และข้อยกเว้น *

  • การพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวัน และเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญ

4.ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 31
  • PolarBearBill
    เป็นข่าวที่อ่านแล้วมีสาระดีมากกก
    21 มี.ค. 2562 เวลา 06.24 น.
  • The's one.
    น่าจะเริ่มนานแล้ว
    21 มี.ค. 2562 เวลา 04.03 น.
  • Somchai
    เป็นนโยบายที่เข้ากับยุค Thailand 0.4 มาก ไม่รู้ที่มาของ 1.68 บาท และ 10 ปี มาจากไหน ในอนาคตเราคงได้เป็น 4.0 เมื่อถึงเวลานั้นเราคงได้ใช้ระบบ net metering และรับซื้ออย่างน้อย 25 ปี ตามอายุของแผง solar cell
    21 มี.ค. 2562 เวลา 05.54 น.
  • นก_ศศินันท์
    จะรอชมผลงานตอนต่อไปค่ะ
    21 มี.ค. 2562 เวลา 06.55 น.
  • Jiab
    อย่าลืมว่ากลางคืนเราก็ต้องใช้ไฟฟ้า แล้วเอามาจากใหน หาความรู้เพิ่มเติมนิดหนึ่ง (จากแหล่งที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ)แล้วจะรู้ว่าเจ้าของโครงการหมกเม็ด ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงกับเราทั้งหมด กฟผ., กฟน.,กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ(รัฐควบคุม) เมื่อเป็นนโยบายก็ต้องปฏิบัติ พูดอะไรมากไม่ได้เดี๋ยวเดือดร้อน เจ๊งก็ช่างไม่ใช่บริษัทกู
    21 มี.ค. 2562 เวลา 06.34 น.
ดูทั้งหมด