ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

5ขั้นจัดการปัญหา อย่าปล่อยให้ ‘หนี้’ถึงทางตัน !

Money2Know
เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้

ทุกคนในโลกนี้ล้วนเคยทำผิด ทุกคนในโลกนี้ล้วนเคยตัดสินใจพลาด ขึ้นอยู่กับว่าจะผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน และขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เคยผิดพลาดจะเรียนรู้บทเรียนชีวิตนั้นๆ อย่างไร และจะหาทาง “กลับมา” มีชีวิตที่เป็นปกติอีกครั้งได้หรือไม่

ความผิดพลาดที่ว่านี้ หมายรวมถึงทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องความรัก และเรื่องบริหารจัดการเงิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดิฉันเคยมีเพื่อนรักที่เรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่เด็ก คบหากันจนเรียนจบ แยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อนรักคนนี้มีครอบครัวที่ดีมาก คุณพ่อคุณแม่ทำงานมั่นคง สะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งให้ลูกสาวใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ แต่เพราะความที่เพื่อนดิฉันคิดว่าตัวเองไม่สวย และเป็น “คนกลางๆ” ในสังคม ไม่มีอะไรโดดเด่น พอถึงวันนึงมีผู้ชายไม่ดีๆ เข้ามาในชีวิต ก็รีบร้อนคว้าไว้ เพราะคิดว่า นี่คือโอกาสเดียวที่จะมีคนมารัก

แม้พ่อแม่ (รวมถึงเพื่อนฝูง) จะไม่เห็นด้วย แต่เธอก็ไม่ยอมฟังใครค่ะ ดิฉันเคยถามว่า ผู้ชายทำไม่ดีกับเราสารพัด ทำไมไม่ตัดใจเลิกไป จะรักอะไรขนาดนั้น เธอตอบว่า “เธอเสียดายเวลาที่คบหากันมายาวนานถึง 15ปี ไม่อยากเริ่มใหม่กับใครอีก”

จากปัญหาคู่ครองไม่เหมาะสม เป็นคนที่ไม่ดีพอสำหรับชีวิตเรา สุดท้ายเพื่อนของดิฉันประสบปัญหาทางการเงินหนักมาก จนในที่สุดก็ต้องออกห่างจากเพื่อนในกลุ่ม และเท่าที่ทราบมาล่าสุดก็น่าจะเลิกรากับผู้ชายที่เคยครั้งหนึ่งไม่ยอมเลิก เพราะ “เสียดายเวลาที่คบหากันมา” ไปเรียบร้อยแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผ่านไปหลายปี ดิฉันไม่แน่ใจว่า เพื่อนของดิฉันคนนี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หรือยัง แต่ที่แน่ใจมากๆ ก็คือ เธอไม่สามารถกลับมาคบหากับเพื่อนเก่าได้อีกแล้ว เพราะตั้งแต่เธอมีปัญหาทางการเงินคราวนั้น เธอก็ตระเวณยืมเงินเพื่อนเก่าถ้วนหน้า และไม่ยอมใช้คืนให้ใครแม้แต่สตางค์เดียว

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงหลักคิดเรื่องการลงทุนในหุ้น ที่ “กฏเหล็ก” ประการหนึ่งที่นักลงทุนต้องท่องไว้คือ ‘เสียดาย’ดีกว่า ‘เสียใจ’ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นจะต้องท่องคำว่า“หยุดการขาดทุน” หรือ Stop Lossให้ขึ้นใจไว้เสมอ เพราะหุ้นบางตัว เราคิดว่าเราศึกษาดีพอแล้ว รู้หน้าก็แล้ว รู้ใจก็แล้ว แต่ก็มีโอกาสที่เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาจะปรับตัวลดลง และมีโอกาสที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นจะเปลี่ยน ดังนั้น เราต้องมีจุดตัดสินใจว่า“เราจะขาดทุนกับมันแค่นี้”ไม่ปล่อยให้ถลำลึกลงหมดตัว

อย่า “เสียดาย” เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้อง ‘เสียใจ’ซึ่งเจ็บปวดกว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดิฉันว่า หลักคิดนี้ก็ใช้ได้กับ “ลูกหนี้”แตกต่างแค่ว่า คนที่เป็นลูกหนี้ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องมันบานปลายจนถึงทางตัน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น มันจะแก้ยาก และอาจจะเลยเถิดไปขั้นแก้ไขไม่ได้

น้องลูกหนี้คนล่าสุดที่เพิ่งเจอกัน มีหนี้จากการใช้บัตรเงินสดที่เธอกู้มาเพื่อใช้คืนหนี้นอกระบบ เป็นการแก้ปัญหาแบบเอาน้ำมันไปราดกองไฟ เพราะถึงแม้บัตรเงินสดจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าหนี้นอกระบบ แต่ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการแก้ปัญหานี้

ปัญหามันเกิดจากการกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เล่นพนันบอล และอื่นๆ อีกมากมายที่เข้าข่ายเป็น “หนี้เสีย” ไม่ใช่ “หนี้ดี” ขณะที่เจ้าหนี้ก็โขกดอกเบี้ยสูงถึง 30% ต่อเดือน หรือ 360% ต่อปี กู้มา 50,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ15,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยแค่ 4เดือนยอดจ่ายก็เกินเงินต้นแล้ว พอไม่ไหวจริงๆ ก็คิดง่ายๆ ด้วยการกดเงินจากบัตรเงินสดไปปิดหนี้นอกระบบ

เคยเขียนไปในตอนที่แล้วว่า บัตรเงินสดนั้นคิดดอกเบี้ย 20-27%ต่อปี ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ แม้จะดูว่า “โหดน้อยกว่า” หนี้นอกระบบ แต่เมื่อกู้มาแล้วไม่เคยชำระคืน สถาบันการเงินผู้ให้กู้ก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกวนไป จนล่าสุดหนี้ 50,000 บาทนั้นพอกพูนกลายเป็นเกือบ 2 แสนบาทแล้ว ดิฉันแนะนำให้เจรจากับเจ้าหนี้ หรือหาทางติดต่อคลินิกแก้หนี้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่า แต่น้องลูกหนี้บอกว่า “ตอนนี้เรื่องไปถึงศาลแล้ว อยู่ระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี”

นี่ก็เป็นตัวอย่างของการปล่อยให้หนี้เดินไปถึงทางตัน!จนตัวเองต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมีคดีติดตัว แม้สุดท้ายจะประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ หรือถูกสั่งอายัดเงินเดือนบางส่วน แต่ “เครดิต” หรือ “ความน่าเชื่อถือ” ก็ไม่มีเหลือแล้ว ต่อไปจะกู้เงินลงทุนธุรกิจ ซื้อบ้าน ซื้อรถก็ยากหมด

หนทางที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองเดินไปทางตัน เริ่มแรกก็ต้องสำรวจตัวเองก่อนค่ะว่า “หนี้” ที่เราก่อไว้ เริ่มมีปัญหาบ้างหรือยัง เรายังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้หรือไม่ มันเริ่มติดขัดอะไรมั้ย ถ้ารู้สึกว่า อาการไม่ค่อยดี ขั้นที่สอง ก็ต้องหยุดก่อหนี้เพิ่มค่ะ เอาแค่จัดการกับหนี้เดิมให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้เงินต้นหรือดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ขั้นที่สาม ต้องสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าเรามีรายจ่ายไม่จำเป็นที่สามารถลดหรือตัดทอนลงได้มั้ย ทำพร้อมกันกับขั้นที่สี่ คือ หารายได้เสริม ลองค้นศักยภาพหรือความสามารถพิเศษที่เรามี ทำอาหาร ทำขนม เย็บผ้า ทำกล่องของขวัญดีไซน์สวยๆ หรือจัดต้นไม้ตกแต่งกระถางสวยๆ เป็นของฝาก ของที่ระลึก ได้หรือไม่ เพราะงานพวกนี้จัดสรรเวลาให้ดี ก็สามารถทำนอกเหนืองานประจำได้

และถ้าทำทั้งหมดแล้ว อาการ “หนี้” ยังทรงหรือทรุด ก็มาถึงขั้นสุดท้ายคือ อย่าหนีเจ้าหนี้ค่ะ อย่าหนี หรืออย่าเฉยๆ แต่ให้คุยกับเจ้าหนี้ เจรจาประนอมหนี้ หาทางออกที่เราก็อยู่ได้ และเขาก็ได้เงินคืน เพราะถ้าหนี จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และสุดท้ายเราอาจจะรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลย*   *

ลองดูนะคะ

ดูข่าวต้นฉบับ