'กลัวจนอยากวิ่งหนีออกจากโรง'
คือหนึ่งในคำวิจารณ์จากชาวเกาหลีใต้ ที่ได้ดู'ร่างทรง' ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยและเกาหลี โดยมีภูมิหลังของเรื่องอยู่ที่ภาคอีสาน ประเทศไทย
นอกจาก 'อยากวิ่งหนี' แล้ว ยังมีรีวิวอื่นๆ เช่น 'ไม่มีผีสักตัวแต่น่ากลัวมากๆ' หรือ 'เอาผ้ามาปิดตาดูเถอะ' ที่ทำให้ชาวเน็ตไทย (ที่ยังไม่ได้ดู) ได้แต่ฮือฮาและแอบขำ แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนกันถกเถียงถึงความหลอนระดับ 'ต้องปิดตาดู' ของผีไทยในสายตาชาวโลก
หลายคนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตรงของการ 'เห็นผี' วัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละจังหวัด รวมถึงพิธีกรรมอย่างในภาพยนตร์ที่อาจดูลึกลับสำหรับชาวต่างชาติ แต่กับคนไทยอย่างเรา ความหลอนนี้กลับเป็นสิ่งที่แทบจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน อย่างการแขวนเสื้อแดงขับไล่ผีแม่ม่ายและโรคห่า ผ้าสามสีรอบต้นไม้ หรือบรรยากาศอึมครึมในพิธีทรงเจ้าเข้าผี
LINE TODAY จึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจธรรมชาติของ 'หนังผีไทย' ว่าเพราะปัจจัยอะไรกันนะ ที่ทำให้ผีไทยยังคงยืนหนึ่งในเรื่องความหลอน จนใครต่อใครถึงกับต้องปิดตาดู!
*คำเตือน : มีภาพฉากสยองขวัญจากภาพยนตร์ คนขวัญอ่อนควรเตรียมใจ*
ไทยแลนด์ ดินแดนแห่งเรื่องเล่าและตำนานหลอน
ประเทศไทยมีตำนานและเรื่องเล่าเก่าแก่มากมายที่อิงกับพระพุทธศาสนา เรื่องผีสาง บาปกรรม หรือไสยศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในหมวดใกล้เคียงที่นักเล่าเรื่องผีหรือคนทำหนังมักหยิบยืมมาเป็นแรงบันดาลใจ
ตำนานเรื่องผีสุดฮิตก็มีตั้งแต่ ผีกระสือ ผีกระหัง ไปจนถึง 'ผีเปรต' ที่เกิดจากความอกตัญญูเมื่อตอนยังมีชีวิต เราเห็นเปรตในหนังผีเรื่องดังอย่าง 'ห้าแพร่ง' (ภาคต่อที่แบ่งเรื่องผีออกเป็นตอนๆ เหมือน 'สี่แพร่ง') ที่ทำออกมาได้สุดเฮี้ยน แปลกใหม่และน่าตื่นเต้น แต่ก็ทำให้เราได้ฉุกคิดในการกระทำของตัวละครไปพร้อมๆ กัน
ไหนจะ 'แม่นาก' ตำนานสุดคลาสสิกที่ถูกนำมาเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่เราก็ยังไม่เบื่อ ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงที่รอคอยสามีตัวเองกลับมาจากสมรภูมิรบ ที่มาของพล็อตหักมุมสุดเซอร์ไพรส์ และมุก 'เก็บมะนาว' ที่ยังตราตรึงผู้ชมทั้งไทยและเทศ
นอกจากตำนานและเรื่องเล่า คดีที่เกิดขึ้นในไทยก็สร้างชื่อไม่เบา ภาพยนตร์เรื่อง'ผีช่องแอร์' เป็นตัวอย่างของการดัดแปลงเรื่องจริงไปทำเป็นหนังผี ความเป็นมาคือมีการพบศพในช่องแอร์ช่วงปี 2534 จากนั้นกลุ่มคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ทยอยเสียชีวิตไปทีละคน เป็นบทสรุปที่หากเกิดจากความบังเอิญ ก็เป็นความบังเอิญที่สุดจะซวย และชวนขนหัวลุกอยู่เหมือนกัน
แนวคิดเรื่อง 'บาปกรรม' ค่อนข้างเด่นชัดเป็นพิเศษสำหรับ 'ผีไทย' คนทำหนังผีหลายคนเลือก 'กรรม' มาเป็นโจทย์ในการเล่าหนัง และเพิ่มความน่ากลัวของผีเข้าไปในเนื้อเรื่อง ทำให้หนังผีไทยหลายต่อหลายเรื่องเต็มไปด้วยความสมจริง แต่ก็ตั้งอยู่บนความขนหัวลุกอย่างสมเหตุสมผล
'ผีไทย' ที่เกิดจากการกระทำ 'คน'
อย่าลืมว่าก่อนเป็นผี เขา (และเธอ) ก็เคยเป็นคน! หนังผีไทยอันดับต้นๆ ในใจคอหนังผีทั่วโลกอย่าง'ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ' เป็นตัวอย่างของหนังผีที่พูดถึงความน่ากลัวของผี แต่ก็ทำให้เรานึกหวาดระแวงสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่ไม่น้อย สิ่งที่ทำให้ ชัตเตอร์ฯ โดดเด่นจากหนังผีเรื่องอื่นๆ คือการโฟกัสตัวละครหลักของเรื่อง และพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวที่ชวนให้เราเคลือบแคลงใจว่าสรุปแล้วตัวละครโดนหลอกเพราะผีเฮี้ยนเอง หรือเพราะความผิดบางอย่างในอดีต
หนังผีอีกเรื่องที่โดดเด่นใน 'พล็อตเรื่อง' ไม่แพ้กัน คือ 'ลัดดาแลนด์' ที่ดูเผินๆ อาจคล้ายหนังสไตล์บ้านผีสิง แต่เมื่อได้ดู จะพบว่าเหตุการณ์กระตุกขวัญทุกเรื่องในหนังล้วนมีที่มาจากผลการกระทำของคน ไปจนถึงจุดจบแสนเศร้า ปั่นประสาท และชวนหดหู่เป็นที่สุด
ดรามาแบบนี้เองที่ทำให้คนดูลุ้นไปกับตัวละครจนนั่งไม่ติด ยิ่งเมื่อหนังถูกแต่งเติมด้วยกลยุทธ์สับขาหลอกสุดสร้างสรรค์ของผีที่ทำให้เราต้องอุทานว่า 'คิดได้ไงเนี่ย' อย่างการขี่คอ แอบโผล่มาในรูปภาพ ปีนลงบันไดแบบนักยิมนาสติก หรือเดินห้อยหัวจากเพดาน เป็นต้น
บรรยากาศแบบไทย เพิ่มรสชาติให้ขนหัวลุก
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ได้มาจากหนัง แต่มาจาก 'Home Sweet Home' เกมผีโดยคนไทยที่ได้รับเสียงชื่นชมจากคอเกมทั้งไทยและต่างชาติ ด้วยองค์ประกอบสุดหลอนครบครันทั้งไสยศาสตร์การทำมนตร์ดำ ไอเท็มหลอนอย่างเสาตกน้ำมัน กุมารทอง ไปจนถึงผีที่น่ากลัวที่สุดในหมู่ผีทั้งปวง นั่นก็คือ 'ผีนางรำ' นั่นเอง
เหตุผลหลักๆ ที่เกม Home Sweet Home เป็นที่พูดถึงในหมู่ชาวต่างชาติคือฉากหลังแสนไทยที่ช่วยสร้างประสบการณ์หลอนให้การเล่นเกมยากขึ้นหลายเท่าตัว ผู้เล่นจะได้ทำภารกิจ 'สืบสวน' ในบ้านร้าง ซึ่งเสมือนรวมทุกฝันร้ายมาไว้ด้วยกัน ทั้งการหลุดมิติไปในสถานที่ลึกลับต่างๆ การเล่นซ่อนแอบกับผี และการปรากฏตัวของผีนางรำที่ไม่ได้หลอนแค่ตาเห็น แต่ยังชวนขวัญหายด้วย 'เพลงไทยเดิม' ที่จะบรรเลงขึ้นทุกครั้งเมื่อผู้เล่นเข้าใกล้ผีนางรำตนนี้ ซึ่งความหลอนสุดขีดนี้ยังเคย (เกือบ) สร้างปัญหาให้ทีมผู้ผลิต เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมถึงกับแจ้งทางทีมว่าไม่อนุญาตให้ใช้ท่ารำไทยของจริงในเกม เพราะเกรงว่าผีนางรำจะทำให้คนกลัวการรำไทย ทีมผู้ผลิตจึงต้องออกแบบท่ารำใหม่ให้น่ากลัวน้อยลง
อ่านข่าว : ผู้พัฒนา "Home Sweet Home" แจงปมกระทรวงวัฒนธรรมแบน "ท่ารำไทย" ในเกม ยันแค่โดนตำหนิ
ผีนางรำปรากฏตัวทั้งในละคร และภาพยนตร์ มาแล้วนับไม่ถ้วน นับเป็นผีระดับ 'ตัวบอส' ที่แม้แต่คนไทยด้วยกันยังกล้าการันตีว่าเรื่องไหนมีผีนางรำ เรื่องนั้นหลอนชัวร์
ด้วยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวล ก็มากพอที่จะทำให้หนังไทยมีความขลังและโดดเด่น ประกอบกับฝีมือผู้กำกับและทีมทำหนังไทยฝีมือดีหลายคนที่พิสูจน์ให้ชาวโลกให้เห็นแล้วว่าคนไทยมีดี อย่างหนังเรื่อง 'ลัดดาแลนด์' ก็เคยได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้วด้วย
หนังผีไทย สำหรับชาวต่างชาติ จึงไม่ได้มีเพียงความน่ากลัวให้เก็บไปหลอนจนนอนไม่หลับสักสองสามวัน แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิหลังและเรื่องราวสุดซับซ้อน ที่ปั้นแต่งมาจาก 'ความเป็นมนุษย์' ในหลายๆ มิติ ทั้งประเพณีวัฒนธรรม การกระทำ รวมไปถึงความเชื่อแบบไทยที่ยากจะเลียนแบบ
แล้วคุณล่ะ 'ผีไทย' จากหนังเรื่องไหน ที่คิดว่าหลอนติดตราตรึงใจตลอดกาล!
อ้างอิง
ภาพยนตร์ และเกม -
ร่างทรง (2564) บรรจง ปิสัญธนะกูล ร่วมกับโปรดิวเซอร์ นาฮงจิน
ลัดดาแลนด์ (2554) โสภณ ศักดาพิศิษฏ์
ห้าแพร่ง (2552) ปวีณ ภูริจิตปัญญา / บรรจง ปิสัญธนะกูล / ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ / วิสูตร พูลวรลักษณ์ / ทรงยศ สุขมากอนันต์
สี่แพร่ง (2551) ยงยุทธ ทองกองทุน / ปวีณ ภูริจิตปัญญา / ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ / บรรจง ปิสัญธนะกุล
ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
ผีช่องแอร์ (2547) ทิวา เมยไธสง
นางนาก (2542) นนทรีย์ นิมิบุตร และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
เกม Home Sweet Home (2560) Yggdrazil Group
ที่มา -
sinema.sg 1 / 2
ShelL ดูหนังผีอย่าปิดเสียง
เพราะความน่ากลัวมันจะลดลง90%
08 ก.ค. 2564 เวลา 00.23 น.
noknoo🐀(ธีระยุทธ) เพราะผีไทยเกิดจากประสบการณ์ไม่ใช่จินตนาการ!!
08 ก.ค. 2564 เวลา 00.01 น.
Kuson ซีรี่ ปอบหยิบ ผมดูทุกตอนเลยครับ สุดยอด
08 ก.ค. 2564 เวลา 00.48 น.
เกรียงศักดิ์ 21 ผีที่น่ากลัวสุดๆคือ"ผีจับหัว"
08 ก.ค. 2564 เวลา 00.39 น.
ARTY-PSU.WIT ผีผู้หญิงไทยเวลาห้อยหัวมาจากฝ้าเพดาน…….
ทำไมกระโปรงหรือเสื้อถึงไม่ถลกตามลงมาด้วยอ่ะ…
เห็นไปกันตามปกติ
07 ก.ค. 2564 เวลา 22.43 น.
ดูทั้งหมด