ไลฟ์สไตล์

หลายคนในร่างเดียว ทำความรู้จัก “โรคหลายบุคลิก”

TODAY
อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 15.50 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 14.47 น. • Workpoint News

บ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมายขึ้นในสังคม โดยเฉพาะคดีสะเทือนขวัญที่มีการฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม สิ่งที่สังคมได้รับรู้ภายหลังจากมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แล้ว บุคคลใกล้ชิดมักกล่าวถึงผู้กระทำผิดเหล่านั้นว่า ไม่อยากเชื่อว่าคนคนนี้จะกระทำความผิดอย่างไม่น่าให้อภัยได้ขนาดนี้ เพราะปกติเขาดูเป็นคนอ่อนน้อม สุภาพ เรียบร้อย อัธยาศรัยดี มีน้ำใจไมตรี ฯลฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหล่านี้ล้วนเป็นบุคลิกที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กับการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา พาลให้คนในสังคมต่างไม่ไว้ใจ หรือรู้สึกไม่ดีกับคนที่ดูสุภาพ หรือดูเป็นคนดี และทำให้คนที่มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตนหรือสุภาพหลายๆ คนเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง เด็กวัยรุ่นที่กำลังเติบโตจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร ควรวางตัวอย่างไร เกิดความสับสนในบุคลิกภาพของตนเอง

เราจึงได้เห็นคำหยาบคายเต็มสังคม พบเจอคนที่แสดงความหยาบกระด้างทางวาจา มึงวาพาโวยกันมากขึ้น เหน็บแนมกันเก่งขึ้น จิกกัดกันมากขึ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกสังคมตีตราว่าดีเพียงเปลือกนอก เพื่อให้รู้สึกไม่แปลกแยก เราจึงได้เห็นการปฏิเสธอย่างทันควันเมื่อมีใครสักคนมาชมว่าคุณเป็นคนดี แทบทุกคนรีบตอบกลับว่า “ไม่ ฉันไม่ใช่คนดี” คำว่า “คนดี” กลายเป็นคำที่เหมือนมีตำหนิ ไม่มีใครกล้ายอมรับที่จะใช้ ทั้งที่ที่จริงในใจ มนุษย์ทุกคนล้วนอยากทำความดี อยากเป็นคนดี แต่มนุษย์เราอยากเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากกว่า ทุกคนล้วนไม่อยากรู้สึกโดดเดี่ยว หรือไม่มีพวก

จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนเหนือการคาดเดา ไม่มีใครล่วงรู้ว่า หากมีสิ่งที่มากระทบใจ ย้ำบาดแผลที่ฝังลึกในอดีต จะทำให้คนที่เคยแสนดีกลายเป็นฆาตกรในชั่วพริบตาได้หรือไม่ หากกล่าวให้ละเอียดลึกลงไปอีก ก็มีทั้งคนที่ป่วย มีอาการทางจิต และคนที่ไม่ป่วย แต่ไร้สำนึก หรือขาดความยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งคนที่มีบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ใช่ว่าคนที่ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก หรือมีบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง จะเป็นฆาตกรไปเสียทุกคน มีผู้ป่วยจำนวนมากที่น่าสงสาร และไม่เคยทำร้ายใคร ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ แต่เป็นคนหยาบคาย จิตใจหยาบกระด้างอยู่แล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นคนปกติเสมอไป ทุกบุคลิกภาพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทั้งคนปกติและคนป่วยก็มีทั้งคนดีและไม่ดีเช่นกัน

เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เรามาทำความรู้จักคนที่มีบุคลิก “หลายคนในร่างเดียว” กันดีกว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โรคหลายบุคลิก หรือ Multiple Personality Disorder ถูกจัดอยู่ในโรคทางจิตเวชประเภท Dissociative identity disorders ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลายบุคลิกจะมีสองอัตลักษณ์หรือมีบุคลิกมากกว่าหนึ่งบุคลิกในคนเดียวกัน ซึ่งบุคลิกเหล่านี้จะเข้าควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมักจะประสบกับการสูญเสียความทรงจำ เมื่ออีกหนึ่งบุคลิกเข้ามาควบคุม

หลายคนอาจสับสนว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนคนนี้ป่วยหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยู่กับเพื่อนมีความกล้าแสดงออก แต่อยู่กับผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยพูด เงียบ และเหนียมอาย นี่เป็นบุคลิกภาพของคนเดียวที่แตกต่างไปตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ใช่อาการป่วย แต่อาการป่วยที่แท้จริงคือความหลากหลายของอัตลักษณ์ โดยอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวตนของคนคนนั้น

ข้อมูลจากรายการพบหมอรามา ระบุว่า ในคนปกติจะมีเพียงอัตลักษณ์เดียว แต่ในผู้ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์มักมีมากกว่าหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องกับสติ ความจำ เอกลักษณ์ของตัวเอง และการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยในผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดเพี้ยนทั้งหมดในส่วนที่กล่าวมา เพราะในตัวตนของคนเหล่านั้นมีหลายส่วนที่ไม่ต่อเนื่องกัน หรือถูกแยกออกจากกันเป็นหลายส่วน อย่างในคนทั่วไปจะรู้ตัวเองว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร หรือตกอยู่ในสถานการณ์ไหน เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักจากใคร แต่เขาก็ยังไม่ลืมตัวตนของตัวเอง เพียงแต่จะแสดงออกแตกต่างกันไปตามสถานการณ์

แต่ในผู้ป่วย ความเป็นตัวตนเหล่านั้นจะขาดออกจากกัน ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกไม่ต่อเนื่องและไม่เหมือนกัน บางครั้งจะรู้สึกรักตัวเอง แต่บางครั้งก็จะรู้สึกเกลียดตัวเอง และมีความกดดันเกิดขึ้น มีความทรงจำเกี่ยวกับตัวเองที่ขาดหายไป จึงแสดงออกแตกต่างไปจากเดิมที่เคยเป็น เกิดจากพันธุกรรมและประสบการณ์วัยเด็ก ที่อาจมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก ถูกทำร้ายทางเพศ หรือมีเหตุการณ์ที่รุนแรงทางเพศ

เมื่อผู้ป่วยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงจึงมีกลไกป้องกันตัวเองเกิดขึ้น และตัดขาดจากตัวเอง ตัดขาดจากความทรงจำของตัวเอง เพราะรู้สึกไม่ชอบและไม่ยอมรับในตัวตนของตัวเอง จึงแสดงออกในอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไป บางครั้งพบร่วมกับภาวะโรคซึมเศร้า หรือเจอร่วมกับประวัติของการถูกทำร้าย โดยคนไข้จะแสดงอาการเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ เพราะคนไข้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย

การรักษาอาการดังกล่าวจะต้องใช้จิตบำบัดในระยะยาว ซึ่งจะต้องค่อยๆ ปรับอัตลักษณ์และบุคลิกภาพในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน โดยใช้จิตแพทย์เป็นหลักในการรักษา สิ่งที่คนรอบข้างควรทำคือให้ความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่คนไข้เป็น เมื่อคนไข้แสดงอาการก็พยายามยอมรับ หรือไม่แสดงอาการต่อต้าน เพื่อให้คนไข้รู้สึกยอมรับในตัวเองให้ได้ และอัตลักษณ์ของคนไข้ก็จะค่อยๆ กลมกลืนกัน

 

เกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับโรคหลายบุคลิก

เกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับโรคหลายบุคลิกตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ในการพิมพ์ครั้งที่ 5 ระบุถึงอาการของผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกภาพดังต่อไปนี้

  • มีการแสดงอัตลักษณ์หรือบุคลิกที่แตกต่างกันตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปอย่างชัดเจน โดยพิจารณาความแตกต่างจากรูปแบบของความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งการเกิดขึ้นของบุคลิกเหล่านี้สามารถประเมินได้ด้วยตนเองหรือเป็นการสังเกตจากนักบำบัดเพื่อการวินิจฉัย
  • เกิดการสูญเสียความทรงจำ (Amnesia) ที่จำกัดว่าบุคคลหนึ่งควรจะจดจำอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือภยันตราย และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
  • มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำตามหลักวัฒนธรรมหรือศาสนา
  • อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลลัพท์ของการใช้สารใดๆ เช่นแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค หรือสารเสพติด

 

โรคหลายบุคลิกกับโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ต่างกันอย่างไร ?

ผู้ที่เป็นโรคหลายบุคลิก มักเคยมีประสบการณ์การถูกทารุณกรรมทางร่างกาย และการทารุณกรรมทางเพศอย่างรุนแรงในวัยเด็ก และมักมีอาการคล้ายกับโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder: BPD) รวมถึงมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง (Self-harming behaviors) มีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างรุนแรง และมีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนอาจเกี่ยวข้องกับการถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก (Childhood abuse) และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของทั้งโรคหลายบุคลิกและโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง

มีทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาของโรคหลายบุคลิกได้เสนอว่า บุคคลที่เป็นโรคหลายบุคลิกมักจะเคยประสบกับการได้รับบาดแผลทางจิตใจอย่างรุนแรง และวิธีเดียวที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้คือ การแยกบุคลิกภาพบางส่วนออกจากบุคลิกภาพซึ่งเป็นปกติธรรมดาของผู้ป่วยชั่วคราว (Dissociation) ซึ่งเป็นบุคลิกที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเรื้อรังและนำไปสู่การสร้างหลายๆ อัตลักษณ์ขึ้นมา

การแยกบุคลิกภาพบางส่วนออกจากบุคลิกภาพปกติ เป็นอาการของโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วการแยกบุคลิกที่พบในโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งจะเกิดขึ้นไม่บ่อย หรือไม่รุนแรงเท่าในผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก หรือบางคนที่มีอาการของโรคหลายบุคลิกอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นทั้งสองโรคก็ได้

ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกอาจประสบกับอาการที่แสดงถึงการมีบาดแผลทางจิตใจอื่นๆ ด้วย เช่น ฝันร้าย เห็นภาพในอดีต หรืออาการอื่นๆ ที่เป็นลักษณะของโรคความผิดปกติหลังเผชิญความเครียดหรือเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)

 

(อ้างอิง: https://med.mahidol.ac.th/ramachannel, https://www.honestdocs.co | ภาพประกอบจาก https://steemit.com)

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 7
  • Pat Pat
    อย่ามาชี้นำ เดี๋ยวโดนลดโทษ เลวคือเลว มันไม่ได้ละเมอยิง จบนะ
    23 ม.ค. 2563 เวลา 16.50 น.
  • Tickety-Boo!!!🐈
    ในบันทึกด้านอาชญากรรมโลก.​ เคยมีคนร้ายที่เป็นโรคหลายบุคลิก.​ ก่อคดีปล้นและข่มขืน.​ เป็นชาวอเมริกันในยุค70s เค้าคือ​ บิลลี่​ มิลลิแกน​ ผู้มีบุคลิกซ่อนอยู่ในตัวเองถึง​ 24​ บุคลิก!!!
    23 ม.ค. 2563 เวลา 16.22 น.
  • เป็นห่วงนายกน่าจะเข้าข่าย ใช่ไหมครับเดี้ยวยิ้มเดี๋ยวบึ้งในเวลาเดียวกัน
    24 ม.ค. 2563 เวลา 06.17 น.
  • Pattie
    คนสุขภาพจิตดีจะมีสองตัวตน แบบที่หนึ่ง ต้องทำดี พูดดีเมื่ออยู่ในสังคม แบบที่สอง ทำตามใจตัวเอง คนที่จิตไม่ปกติ มักจะมีบุคลิกเดียว คือ ไม่มีเวลาที่ตัวเองได้อยู่กับตัวเอง ได้ผ่อนคลาย ใจโปรดโปร่งได้นั่งนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาใจจะถูกเร่งเร้า กระสับกระส่าย ไร้ที่พึ่ง ไม่เห็นทางออก
    24 ม.ค. 2563 เวลา 06.09 น.
  • Siripong
    ดั่ง คำ โบราณ ท่าน ว่า” รู้หน้า แต่ ไม่ รู้ ใจ “‼️
    23 ม.ค. 2563 เวลา 16.32 น.
ดูทั้งหมด