รูปลวดลายสัตว์ จำแนกออกเป็น สัตว์เสมือนจริงตามธรรมชาติ เช่น งู จระเข้ สิงโต เสือ ช้าง หมา ตะกวด และสัตว์ในจินตนาการ อย่างสัตว์หิมพานต์ที่มีการผสมผสานกันของสัตว์หลากหลายชนิดในสัตว์ 1 ตัว ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี หรือสัตว์สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมความเชื่ออันประกอบด้วยพญานาค ถือได้ว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์อันดับต้นๆ ของการถูกนำมาสร้างสรรค์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องนาคาคติ ที่มีพัฒนาการด้านความเชื่ออันสืบทอดคตินี้มาจากลัทธิบูชางู ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในบริบทแถบถิ่นลุ่มน้ำโขง
นอกจากนี้ในแถบสองฝั่งโขงที่พบการนำจระเข้มาใช้ในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งโดยเฉพาะส่วนฐานเชิงบันไดโดย จระเข้ มกร หรือตัวเหราคายนาค ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมความเชื่อกับเทพเจ้าหลายองค์ แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับน้ำ เฉกเช่น มกร หรือที่เรียกว่า เหรา โดยจระเข้ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในอุษาคเนย์และเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของคนอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม อย่างน้อยก็มีร่องรอยหลักฐานราวยุคสุวรรณภูมิเมื่อ 2,500 ปี
ช้าง เป็นสัตว์สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องเนื่องในวัฒนธรรมนาคาคติ ดั่งปรากฏหลักฐานในตำนานสิงหนวัติกุมาร เรื่องพระเจ้าพรหมว่า งูใหญ่ (นาค) กลายร่างเป็นช้างเผือกชื่อช้างพานคำ เป็นพาหนะคู่บุญทั้งพระเจ้าพรหมและท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง
ม้า ในบริบทวัฒนธรรมความเชื่อไทยลาวสามารถเชื่อมโยงกับตำนานอุรังคนิทานตอนกัณฑ์ที่ 4 ที่เทพเจ้า
สโมสรโดยเป็นเหตุการณ์ตอนที่เทพต่างๆ เสด็จมาบูชาอุรังคธาตุ สรุปความว่าม้าที่ปรากฏอยู่ตามศาสนาคารในบริบทอีสานและลาวสัมพันธ์กับม้าพลาหก ซึ่งเป็นสัตว์พาหนะหนึ่งของพระอินทร์ที่มีอิทธิฤทธิ์ในการเหาะเหินเดินอากาศได้
หมา เป็นสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ โดยเป็นสัตว์ชนิดแรกที่มนุษย์สามารถทำให้เชื่องจนเป็นสัตว์บ้านได้ หมาปรากฏตัวในภาพการล่าสัตว์และต้อนสัตว์อยู่บ่อยครั้งในศิลปะถ้ำ จากความใกล้ชิดที่ช่วยในการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตรายและออกล่าสัตว์ ล่าเหยื่อ คนจึงยกย่องหมาเป็นสัตว์ให้คุณ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีหมาร่วมอยู่ในพิธีกรรมความเป็นอยู่ ทั้งหมาจริงหรือหมาจำลอง อย่างหมาดินเผา เลยเป็นเครื่องสังเวยให้แก่ผู้ตายให้ดูแลคุ้มครองหรือเอาไปใช้งานอีกโลกหนึ่ง
คติความเชื่อแห่งรูปสัญญะในเชิงช่างญวน
ช่างญวนมักแสดงออกผ่านรูปสัตว์สัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์ในลัทธิความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมจีนเป็นกระแสหลักทั้งหมดล้วนเป็นคติมงคล หรือถ้าเป็นลวดลายที่อิงจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ เช่น ลวดลายกลีบดอกเก๊กฮวยที่คล้ายกับกระจังฟันยักษ์ของไทย หมายถึงการมีอายุยืนนาน หรือลายหัวเมฆที่หมายถึงความเป็นสิริมงคลสมปรารถนา ลายอักษรหุยที่เป็นลายแห่งความเป็นสิริมงคล หมายถึงความต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด หรือลายแบบสวัสดิกะที่เป็นตัวหนังสือ หว่าน ที่หมายถึงความโชคดี รวมถึงรูปเครื่องมงคลบูชาอย่างจีน เช่น แจกัน กระถางดอกไม้
โดยในยุคหลังตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2460 ลงมาถึงปี พ.ศ. 2500 งานช่างญวนมีอิทธิพลอย่างมาก จนมาถึงในยุคหลัง งานช่างญวนได้ปรับเปลี่ยนมีลักษณะอย่างไทยภาคกลางมากขึ้นโดยเฉพาะการตกแต่งลายทำเป็นรูปเทพนม พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ โดยเฉพาะรูปลายกนกแบบญวน ซึ่งในยุคหลังสุดจะนิยมทำฮูปนูนที่สีหน้าเป็นตราสัญลักษณ์รูปครุฑและรูปตราเสมาธรรมจักร หรือแม้แต่พานรัฐธรรมนูญที่สื่อนัยยะทางการเมืองตามยุคสมัย โดยทั้งหมดยังอยู่ในกรอบโครงสร้างศิลปะอย่างญวนอีสาน
สรุปลักษณะร่วมระหว่างรูปลวดลายบนพื้นผิวศาสนาคารกับรูปลวดลายตามผนังถ้ำ(ศิลปะสุวรรณภูมิ)
1. ทำขึ้นเพื่อสนองรับใช้ศรัทธาต่อลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เหนือธรรมชาติ
2. เป็นสื่อสาธารณ์ที่สนองทั้งความเชื่อและความบันเทิง
3. เป็นสัญญะที่ใช้แสดงฐานานุรูปหรือฐานานุศักดิ์แห่งสถานที่ทำกิจกรรมสาธารณ์ทางความเชื่อของชุมชน
4. บอกเล่าวิถีทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในโลกแห่งจินตนาการและโลกของความบันเทิง
5. สะท้อนพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งความเป็นปัจจุบันขณะในแง่ของสุนทรียภาพความงามและคุณค่า ความหมายทางสังคมระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ
6. ใช้ทักษะพื้นฐานของการใช้ภาพประกอบเล่าเรื่องด้วยทักษะและเทคนิคตามยุคสมัย
โดยทั้งนี้หากเป็นแม่ลายตัวกนกในฝั่งลาวจะมีลักษณะกนกแบบใบผักกูดทู่ๆ ซึ่งไม่เรียวแหลมเหมือนกนกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการทำช่อดอกในช่างหลวงลาวนิยมทำเป็นดอกกาละกับที่มีลักษณะเหมือนผลสับปะรด ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะนิยมทำเป็นช่อดอกโบตั๋น โดยทั้งหมดนี้จะเห็นว่า “รูปลวดลาย” ในอดีตรวมถึงปัจจุบันสมัย เป็นสัญญะเครื่องบ่งบอกสถานภาพอย่างหนึ่งของผู้คนในสังคมที่เรียกว่า “ฐานานุศักดิ์” โดยความวิจิตรงดงามของลวดลายได้ถูกปรุงแต่งให้เหมาะสมกับบุคคล สถานภาพทางสังคม และบริบทแห่งสถานที่และรวมถึงการใช้งาน
ส่วนความสูงต่ำดำขาว แห่งระบบศักดินาหรือฐานานุศักดิ์ ที่เรากำหนดหรือกล่าวอ้างใช้เป็นมาตรฐานชี้วัดเพื่อแบ่งแยก ล้วนเป็นมายาคติที่ครอบงำ กดทับอำพราง ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างความชอบธรรมให้แก่วัฒนธรรมของตนเองและเหยียดคนอื่นๆ ให้เป็นลูกไล่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2561