ไลฟ์สไตล์

อยากลดพลาสติกต้องทำยังไง? นโยบายจัดการพลาสติกแบบไหนที่ประเทศอื่นเขาทำกัน

The MATTER
อัพเดต 17 มิ.ย. 2561 เวลา 11.40 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2561 เวลา 03.59 น. • Pulse

จากเหตุการณ์วาฬเสียชีวิตและพบถุงพลาสติกจำนวนมากในท้องของวาฬ ทำให้กระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมรวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์ขยะพลาสติกล้นทะเลเป็นที่พูดถึง ก็จุดประกายให้บ้านเรากลับมาทบทวนการจัดการขยะพลาสติกในไทยอีกครั้ง

Young MATTER ชวนไปดูนโยบายจำกัดและกำจัดขยะพลาสติกในต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย และประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีวิธีการจัดการอย่างไรและผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เผื่อว่าบ้านเราจะเอาไปใช้ได้บ้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไอร์แลนด์ ประเทศแรกของยุโรปผู้บุกเบิกเก็บภาษีถุงพลาสติก

ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยมาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกที่ถูกใช้ในไอร์แลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 โดยผู้บริโภคจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติก ผลลัพธ์จากนโยบายนี้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 90% และยังลดปริมาณขยะมูลฝอยได้จำนวนมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ไอร์แลนด์ได้กลายเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกมากที่สุดในยุโรป ชาวไอร์แลนด์หนึ่งคนผลิตขยะพลาสติก 61 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งทำให้กลุ่มองค์กรอิสระเพื่อสิ่งแวดล้อม (The Environmental Pillar) ออกมาเรียกร้องให้ไอร์แลนด์เร่งหาแนวทางกำกับดูแลพลาสติกให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังได้รับความเพิกเฉยจากรัฐบาล

เดนมาร์ก ใช้หลากหลายวิธีการจัดการพลาสติก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีมาตรการกำกับดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเป็นประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลาสติกอย่างเห็นผลชัดเจน โดยเดนมาร์กมีการเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้ค้าปลีก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เพื่อกดดันให้ร้านค้าปลีกคิดค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับลูกค้า และกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (reusable bags) ซึ่งจากมาตรการนี้ทำให้เดนมาร์กลดการใช้ถุงพลาสติกจากเดิมได้ถึง 66%

แถมเดนมาร์กยังมีระบบมัดจำค่าขวดที่เก็บเงินค่าขวดพลาสติกเพิ่มจากราคาสินค้า เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดมาคืนเพื่อรับเงินที่มัดจำไว้ ขวดพลาสติกที่รวบรวมได้จะนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งทำให้เดนมาร์กสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกที่รับคืนในระบบ

เยอรมนี นำร่องลดขยะขวดพลาสติกด้วยขวดชนิดที่ใช้ซ้ำได้

นอกจากเยอรมนีจะมีการเก็บภาษีรีไซเคิลจากร้านค้าทุกร้านที่มีถุงพลาสติกให้แก่ลูกค้าแล้ว ยังมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคส่งคืนขวดเพื่อรีไซเคิลต่อไปได้ มาตรการนี้ทำให้บริษัทเครื่องดื่มเลือกผลิตขวดที่สามารถใช้ซ้ำออกสู่ตลาด ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมากเมื่อเทียบกับการผลิตขวดใหม่ โดยในปีแรกหลังดำเนินนโยบายนี้ขวดพลาสติกในท้องตลาดเป็นขวดชนิดใช้ซ้ำได้ (multi-use bottles) 64% และต่อมาการใช้ขวดชนิดนี้ก็ลดลงเหลือ 46%

แม้จะดูมีแนวโน้มที่ดีแต่นโยบายนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับไปเสียหมด เพราะในปี ค.ศ. 2015 Coca Cola ได้ออกมาประกาศเลื่อนการใช้ขวดชนิดใช้ซ้ำได้ (multi-use bottles) ด้วยเหตุผลค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและการคงคลังที่สูงของขวดชนิดนี้

สวีเดน ระบบจัดการดีจนประเทศขาดแคลนขยะ

สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลอย่างงดงาม ขยะในประเทศสามารถนำไป reuse ได้เกือบทั้งหมด มีเพียงแค่ 4% ที่ไม่สารถมารถนำกลับมาใช้ได้และต้องนำไปถมที่แทน อีกทั้งยังมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศถึง 810,000 ครัวเรือน และโครงการนี้นี่เองที่ทำให้สวีเดนขาดแคลนขยะในการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จนต้องรับซื้อขยะจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือจากภาคประชาชนที่มีวินัยในการจัดเก็บและคัดแยกขยะ สวีเดนมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่เก็บเงินค่าขวดจากผู้บริโภคหากไม่นำขวดที่ใช้เสร็จแล้วไปคืน ณ จุดรับคืน จึงทำให้สวีเดนมีขวดพลาสติกที่รีไซเคิลได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกทั้งหมด

ปัจจุบันสวีเดนยังให้ความสนใจกับการกำกับดูแลถุงพลาสติก ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้บริโภครายงานปริมาณการผลิตและใช้ถุงพลาสติกต่อ Swedish Environmental Protection Agency และสวีเดนกำลังริเริ่มระบบมัดจำถุงพลาสติก 0.5 โครนาสวีเดน (1.86 บาท) ต่อใบ โดยเมื่อผู้บริโภคนำถุงมาคืนก็จะได้รับเงินคืน เพื่อป้องกันการทิ้งถุงพลาสติกไปอย่างเสียเปล่า

สหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐออกกฎควบคุมพลาสติกกันเอง

ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างอเมริกายังไม่ได้มีการห้ามหรือเก็บภาษีกับถุงขยะพลาสติกทั่วประเทศ มีเพียงแค่บางรัฐเท่านั้นที่มีมาตรการนี้ ได้แก่ ออสติน และ บราวน์สวิลล์ รัฐเท็กซัส, บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์, ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์, ลอสแอนเจลิส และ ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย, ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน, โบลเดอร์ รัฐโคโลราโด, มอนต์กอเมอรี รัฐแมริแลนด์, นิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก, พอร์ตแลนด์ รัฐเมน และ วอชิงตันดีซี

ปี ค.ศ. 2007 ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกของอเมริกาที่มีการห้ามถุงพลาสติกเด็ดขาด ซึ่งนโยบายนี้ได้ผลักดันให้ชาวเมืองใช้ถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้ (reusable bags) ด้วยการวางขายถุงกระดาษใส่ของที่ย่อยสลายได้ไว้ที่จุดแคชเชียร์ จากนโยบายนี้ทำให้มลพิษจากถุงพลาสติกได้ถึง 72%

เมืองหลวงของอเมริกาเองอย่างวอชิงตันดีซีก็มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกเหมือนกัน โดยภาษีที่เก็บได้ถูกนำเข้ากองทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (The Anacostia River Clean Up and Protection Fund) ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 นโยบายนี้ก็สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 85%

จีน ห้ามใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดขยะมหาศาลของตัวเอง

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ย่อมเป็นธรรมดาที่อัตราการใช้ถุงพลาสติกจะสูงมากเป็นเงาตามตัว โดยทั่วทั้งประเทศต่อหนึ่งวันมีการใช้ถุงพลาสติกถึงประมาณ 3,000 ล้านใบ และสร้างขยะสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งทรัพยากรน้ำมันดิบที่จีนสูญเสียไปเพื่อการผลิตถุงพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี

จนเมื่อปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลจีนมีคำสั่งห้ามร้านค้า และห้างสรรพสินค้าจัดเตรียมถุงพลาสติกฟรีที่มีขนาดบางกว่า 0.25 มิลลิเมตรให้กับลูกค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้จีนลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 40,000 ล้านใบ แต่ในร้านค้าปลีกเล็กๆ ก็ยังมีให้ถุงพลาสติกฟรีอยู่

ออสเตรเลีย ลด 1 ใน 3 ของถุงพลาสติกได้ และเดินหน้าลดต่อไปให้มากขึ้น

ปี ค.ศ. 2011 ออสเตรเลียมีการห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิด PE แบบใช้ครั้งเดียวทุกชนิดที่บางกว่า 35 ไมครอน โดยรัฐบาลออสเตรเลียรณรงค์ให้พลเมืองใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (reusable bags) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการห้ามนี้ก็ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถกำจัดขยะพลาสติกที่จะส่งไปหลุมฝังกลบได้ถึง 1 ใน 3 จากปริมาณเดิม

ล่าสุดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ออสเตรเลียมีความเคลื่อนไหวเรื่องพลาสติกอีกครั้ง ในรัฐควีนส์แลนด์และรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย จากเดิมที่ห้ามแค่ถุงพลาสติกที่บางกว่า 35 ไมครอน เป็นห้ามถุงพลาสติกชนิดที่หนากว่าด้วย โดยการห้ามครั้งนี้เป็นความพยายามที่ต้องการลดขยะถุงพลาสติกให้มากกว่าเดิม เนื่องจากเร็วๆ นี้ปริมาณขยะถุงพลาสติกทั้งประเทศมีจำนวนมากกว่า 3.2 พันล้านตันต่อปี

สหราชอาณาจักร เริ่มเก็บภาษีถุงพลาสติก และตั้งเป้าห้ามใช้หลอดพลาสติกในอนาคต

อีกประเทศที่ขณะนี้ตื่นตัวเรื่องการกำกับดูแลการใช้พลาสติกก็คือ สหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา อังกฤษเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในร้านค้าใหญ่ๆ ใบละ 5 เพนซ์ (2.14 บาท) ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 80% และคาดว่าการลดการใช้ถุงพลาสติกในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยสามารถลดงบประมาณค่ากำจัดขยะมูลฝอยได้ถึง 60 ล้านปอนด์ และยังลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 13 ล้านปอนด์

โดยในอนาคตอังกฤษมีแผนที่จะนำระบบมัดจำขวดพลาสติกมาใช้ รวมถึงในการประชุมเครือจักรภพอังกฤษได้เสนอให้มีการห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และก้านสำลีแคะหูอีกด้วย

ไต้หวัน ประเทศน้องใหม่มาแรงด้านการจัดการพลาสติก

เมื่อช่วงต้นปี 2018 ไต้หวันประกาศถึงมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก ข้าวของที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งจะห้ามอย่างครอบคลุมภายในปี 2030 โดยในปี 2019 ร้านอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวันจะงดการให้หลอดฟรีในร้านอาหาร และในปี 2050 ชาวไต้หวันจะต้องจ่ายเงินหากมีการใช้หลอดพลาสติกอยู่

นโยบายนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก แต่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน หลียิ่งหยวน แสดงความมั่นใจว่า วิถีชีวิตแบบใช้พลาสติกน้อยลงนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่มากกว่า ทั้งยังลดขยะที่เกลื่อนกลาด ถังขยะจำนวนน้อยลง รวมถึงได้ชายหาดที่สะอาดขึ้นอีกด้วย

อาเซียน เพื่อนบ้านของไทยเริ่มหยุดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว

ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของไทยมีหลายประเทศมีดำเนินการเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว โดยปี ค.ศ. 2016 อินโดนีเซียใช้งบประมาณถึง 1 พันล้านในการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทดลองเก็บภาษีถุงพลาสติก ถึงแม้กระแสตอบรับจากประชาชนจะเป็นลบ แต่รัฐบาลก็สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้จำนวนมาก

เพื่อนบ้านที่พรมแดนอยู่ติดกับเราอย่างมาเลเซีย รัฐบาลก็ได้การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเช่นกัน ส่วนเมียนมาร์มีมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกในหลายเมือง เช่น มัณฑะเลย์ บากัน และ เนปิดอว์ นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาร์ยังประกาศให้พื้นที่เมืองมิตจีนาและเมืองสะกายเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกด้วย

ทางด้านกัมพูชา ก็ใช้วิธีเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค และทางการกำลังพิจารณาห้ามผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.03 มิลลิเมตร และมีความกว้างน้อยกว่า 30 เซนติเมตร โดยกัมพูชาวางแผนลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 50% ภายในปี 2019 และจะเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในปี 2020

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติก แม้ว่าผลลัพธ์จะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็มีความตื่นตัวและทดลองลงมือทำแล้ว ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังไม่มีนโยบายในการจัดการใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงการขอความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเอกชน 15 องค์กร ให้งดการให้ถุงพลาสติกในวันที่ 15 ของทุกเดือน และปีที่แล้วก็มีการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ แต่คนไทยก็ยังต้องรับมือกับมลพิษจากขยะพลาสติกและโฟมถึง 2.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งภาคประชาชน ภาคเอกชนเองนั้นก็มีการตื่นตัวและรณรงค์กันอยู่ในช่วงนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก

thaipublica.org

www.prachachat.net

www.earthday.org

asiancorrespondent.com

www.iurban.in.th

nordic.businessinsider.com

www.bigfatbags.co.uk

www.theguardian.com

liveworkgermany.com

www.reusethisbag.com

greennews.ie

www.abc.net.au

www.treehugger.com

www.straitstimes.com

Conten by Punyapa Prasarnleungwilai

Illustration by Sairung Rungkitjaroenkan and Sainamthip Janyachotiwong

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 15
  • Mee Chydchai
    เริ่มจากตัวเราเองก่อนเลยครับ ไม่ต้องรออะไร งดใช้ถุงพลาสติกทุกชนิด โดยใช้ถุงผ้าแทน
    17 มิ.ย. 2561 เวลา 05.57 น.
  • ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์รู้ๆกันอยู่คับ ใครเป็นผู้ผลิตพลาสติกและโฟมรายใหญ่คับ??? โลกเค้าไปถึงใหนกันแล้ว แต่บ้านเรายังกลับเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม รอประเทศล่มสลายละกันคับท่าน...
    17 มิ.ย. 2561 เวลา 05.22 น.
  • ฟ้าใส
    ไทย ละ เมื่อไหร่จะออกมาตรการ ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก ซะที อายไหม ที่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมลภาวะเป็นพิษนี้ ลด ละ เลิก ได้แล้ว
    17 มิ.ย. 2561 เวลา 06.00 น.
  • 🌸pim🌸
    บ้านเราน่าจะต้องเริ่มจาก เซเว่นสะดวกซื้อก่อนเลย เพราะคนเข้าเซเว่นเยอะ น่าจะทำถุงกระดาษเหมือนเมืองนอก นิดๆหน่อยๆก็น่าจะใส่ถุงกระดาษอาจจะช่วยชาติได้นะ ┈┈┈┈┈┈▕▔╲ ┈┈┈┈┈┈┈▏▕ ┈┈┈┈┈┈┈▏▕▂▂▂ ▂▂▂▂▂▂╱┈▕▂▂▂▏ ▉▉▉▉▉┈┈┈▕▂▂▂▏ ▉▉▉▉▉┈┈┈▕▂▂▂▏ ▔▔▔▔▔▔╲▂▕▂▂▂▏
    17 มิ.ย. 2561 เวลา 05.15 น.
  • BOM
    เก็บค่าธรรมเนียมใช้ถุงพลาสติก
    17 มิ.ย. 2561 เวลา 06.49 น.
ดูทั้งหมด