ไลฟ์สไตล์

ปริศนาโบราณคดี : 'หลวงพ่อเพชร' หรือแท้จริงคือ 'พระสิงห์ 1 ล้านนา'? (1)

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 16 พ.ค. 2564 เวลา 16.54 น. • เผยแพร่ 16 พ.ค. 2564 เวลา 03.09 น.
(ซ้าย) หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดท่าถนน จ.อุตรดิตถ์ (ขวา) หลวงพ่อเพชรจำลอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่

 

‘หลวงพ่อเพชร’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (1)

 

ในประเทศไทยมีพระประธานองค์สำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันในระดับชาติที่มีชื่อเดียวกันว่า “หลวงพ่อเพชร” อยู่สององค์ องค์หนึ่งอยู่ที่อุตรดิตถ์ อีกองค์หนึ่งอยู่ที่พิจิตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลวงพ่อเพชรทั้งสององค์นี้มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างแปลกคล้ายกัน กล่าวคือ ไม่ทราบระยะเวลาการหล่อสร้างที่แน่ชัด ไม่ใช่งานพุทธศิลป์ในพื้นถิ่นของภาคเหนือตอนล่าง แต่ได้มาโดยการขนย้ายจากต่างถิ่น

โดยเฉพาะกรณีของหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรนี้ ระบุชัดเจนว่าได้มาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ ทำให้เกิดการสร้าง “หลวงพ่อเพชรจำลอง” ขึ้นเป็นพระประธานในวัดพระธาตุศรีจอมทอง และแทนที่จะเรียกว่า “พระเจ้าเพชร” ตามธรรมเนียมของชาวล้านนาที่นิยมเรียกพระพุทธรูปว่า “พระเจ้า”

แต่กลับเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” ตามอย่างภาคกลาง โดยที่วัฒนธรรมล้านนาไม่เคยมีการเรียกพระประธานว่า “หลวงพ่อ” มาก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อิทธิพลการเรียก “หลวงพ่อเพชร” นี้ต่อมายังกระจายไปถึงการเรียกพระพุทธรูปแห่งอื่นๆ ในล้านนาที่ประทับขัดสมาธิเพชรว่า “หลวงพ่อเพชร” กันอีกหลายแห่ง เช่นที่ “เวียงท่ากาน” สันป่าตอง

เท่านั้นไม่พอ วงการท่องเที่ยวล้านนายังได้สร้างสโลแกนดึงดูดผู้มาเยือนให้กราบ “หลวงพ่อเพชร” เพื่อขอพรในทำนองว่า เมื่อกราบแล้วจะบังเกิดโชคลาภร่ำรวยได้เพชรนิลจินดา

ทั้งๆ ที่ “เพชร” คำนี้ไม่ได้หมายถึงวัสดุอันเลอค่าที่นำมาใช้สร้างพระพุทธรูป หากแต่เป็นการเรียกตามท่านั่ง ซึ่งในงานพุทธศิลป์สยามก็มีท่านั่งหลักๆ อยู่สองท่า คือขัดสมาธิราบ กับขัดสมาธิเพชร

ประเด็นที่จะชวนคุยในตอนนี้มีอยู่ 3-4 ประเด็นคือ

1. การกำหนดอายุพระพุทธรูปของหลวงพ่อเพชรทั้งสององค์ ตกลงสร้างเมื่อไหร่กันแน่

2. ที่มาแห่งการสร้างพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ต่างจากประทับขัดสมาธิราบอย่างไร

3. จริงหรือที่พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชรของล้านนา ต้องเป็นกลุ่มพระสิงห์ 1 เท่านั้น

4. นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับปมปัญหาที่ถามกันมากว่า ยังสมควรเรียกพระพุทธรูปกลุ่มพระสิงห์ 1 ล้านนาว่าพระเชียงแสนกันได้อยู่หรือไม่?

 

หลวงพ่อเพ็ชร์เมืองอุตรดิตถ์

นามศักดิ์สิทธิ์แบบ 2 อิน 1

 

ที่มาของ “หลวงพ่อเพ็ชร์” (เป็นชื่อเฉพาะที่เขียนแบบนี้) พระคู่บ้านคู่เมืองชาวอุตรดิตถ์ ปรากฏในหนังสือที่วัดท่าถนนหรือวัดวังเตาหม้อพิมพ์แจก ความยาวกว่า 45 หน้า สรุปได้ว่า

แรกเริ่มเดิมทีถูกฝังซ่อนอยู่ในดินปลวกที่ป่าสะแก จนชาวบ้านมาพบพระเกตุมาลาโผล่ออกจากดินปลวกนั้น จึงแจ้งให้ “หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง” แห่งวัดหมอนไม้ทราบ

หลวงพ่อด้วงกับชาวบ้านจึงช่วยกันชักลากนำพระพุทธรูปออกมาและพยายามเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดหมอนไม้ด้วยความทุลักทุเลอยู่หลายวัน เนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมาก และระยะทางก็ไกลหลายกิโลเมตร บางช่วงบางตอนองค์พระถึงกับพลัดตกน้ำก็มี

ซ้ำเมื่อนำมาไว้ที่วัดไม้หมอนแล้ว ยังมีชาวบ้านป่าสะแกรวมตัวกันไปฟ้อง “เจ้าเมืองคง” ว่าการกระทำเช่นนี้เสมือนเป็น “พระลักพระ” อีกด้วย ความที่เมื่อนำพระพุทธรูปออกมาขัดสีฉวีวรรณแล้วพบว่าเป็นเนื้อสำริดผสมนาก งดงามเปล่งประกายฉายรัศมี จนอาจทำให้ชาวบ้านป่าสะแกเกิดความเสียดาย

โชคดีที่เจ้าเมืองคงตัดสินว่าหลวงพ่อด้วงไม่มีความผิด ไม่ถือว่าเป็นการโจรกรรมในลักษณะ “พระลักพระ” หากแต่เป็นการนำเอาสมบัติแผ่นดินที่ถูกซุกซ่อนไว้มาบูชาใหม่

หลังจากนั้น 1 ปีหลวงพ่อด้วงเห็นว่าสภาพของวัดหมอนไม้เป็นวัดขนาดเล็กที่ไม่มีอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธปฏิมาให้สมกับสง่าราศี จึงได้นำไปที่วัดวังเตาหม้อถวายให้แก่ “หลวงพ่อเพ็ชร์” พระภิกษุผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองอุตรดิตถ์อย่างกว้างขวางแทน

เรื่องราวทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา พ.ศ.2443 พระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้ชะลอเอาพระพุทธรูปที่มีความงามและความสำคัญจากทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้ในระเบียงคตวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นจำนวนมาก

พระพุทธปฏิมาองค์งามที่หลวงพ่อเพ็ชร์ดูแลก็เป็นหนึ่งในผลพวงแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครองนั้นด้วย ส่งผลให้พระภิกษุ “หลวงพ่อเพ็ชร์” ทุกข์ระทมโศกาดูรจนถึงขั้นหัวใจสลาย

ท่านได้ปฏิญาณตนว่าจะไม่ขออยู่วัด ตราบที่วัดไม่มีพระพุทธปฏิมา หลวงพ่อเพ็ชร์ได้ออกจากวัดหายไปไม่ฉันภัตตาหารต่อเนื่องกันนานหลายวัน ในที่สุดได้มีผู้ไปพบศพท่านบนยอดเขานาตารอด

การมรณกรรมของท่านครั้งนั้น เป็นดั่งภาพแทนความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวอุตรดิตถ์ เชื่อว่าน่าจะส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาลสยามอยู่บ้าง ทำให้อีก 10 ปีต่อมา ได้มีการส่งพระปฏิมาองค์นี้กลับคืนสู่วัดท่าถนน

สมัยที่หลวงพ่อเพ็ชร์มีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้มีการขนานนามพระปฏิมากรองค์ดังกล่าวแต่อย่างใด ครั้นเมื่อชาวอุตรดิตถ์ได้รับกลับคืนมาแล้ว จึงพร้อมใจกันเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” อย่างไม่มีข้อแม้

“เพ็ชร์” แรก เรียกเพื่อรำลึกถึงนามของพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เคยถวายชีวิตปกป้องรักษาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองให้แก่ชาวอุตรดิตถ์จนวายปราณ

“เพชร” ที่สอง เรียกให้สอดคล้องกับท่านั่งประทับขัดสมาธิเพชรของพระพุทธรูป

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” ของอุตรดิตถ์จึงมีการสะกดแบบพิเศษกว่าที่อื่นๆ

 

หลวงพ่อเพ็ชร์ เป็นศิลปะล้านนา

หรือศิลปะสุโขทัย?

ในเมื่อจุดเริ่มต้นของการพบ “หลวงพ่อเพ็ชร์” นั้น พบในวัดร้างกลางป่าที่มีต้นสะแกขึ้นปกคลุมจำนวนมาก โดยองค์พระถูกหุ้มด้วย “ดินปลวก” นั่นคือคำบอกเล่าเก่าสุดที่สืบค้นได้ เราจึงไม่สามารถระบุที่มาได้ไกลเกินไปกว่านั้นว่ามีใครได้ชะลอเคลื่อนย้ายมาจากดินแดนล้านนาหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร

ดังนั้น การศึกษาในประเด็นว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” มีอายุราวพุทธศตวรรษไหน และเป็นพุทธศิลป์ล้านนาแบบที่เรียกกันว่าสิงห์ 1 หรือไม่นั้น คงหาคำตอบได้จากแนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นตัวช่วย

พบว่าแม้พุทธลักษณะโดยรวมของหลวงพ่อเพ็ชร์จะเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะล้านนาที่เรียกกันว่า “พระสิงห์ 1” อาทิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมอมยิ้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน มีชายสังฆาฏิสั้นๆ บนพระอังสะซ้าย ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

ทว่าก็ยังมีอีกหลายจุดที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากพระสิงห์ 1 ล้านนา

นั่นคือ การทำพระเพลา (หน้าตัก) กว้างกว่าพระสิงห์ล้านนาทั่วไป และอาสนะที่รองรับนั้นเป็นฐานเขียงแบนแบบหน้ากระดานเรียบๆ ไม่ใช่ฐานบัวคว่ำบัวหงาย

โดยเฉพาะพระเศียรนั้นค่อนข้างยกสูงตั้งตรง ไม่โป่งออกแบบพระสิงห์ล้านนา รองรับพระเมาลี (อุษณีษะ) หรือจอมกระหม่อมที่เป็นทรงกรวยสูงพอประมาณ ปิดปลายด้วยรัศมีลูกแก้วกลมใหญ่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เปรียบเทียบพุทธลักษณะของหลวงพ่อเพ็ชร์กับพระพุทธรูปสำริดจากวัดสระศรี เมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ในหนังสือ “ลักษณะไทย : พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” ว่า

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2000-2090) สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจแล้ว ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากสกุลช่างที่เรียกว่า “พระสิงห์” หรือ “พระพุทธสิหิงค์จำลอง” ของล้านนา โดยฝีมือช่างผู้สร้างมีความอ่อนหวานแบบสุโขทัย

จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าหากเราพบพระพุทธรูปที่ดูละม้ายคล้ายคลึงกับ “พระล้านนาสิงห์ 1” ที่ไหนก็แล้วแต่ ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่า จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นบนแผ่นดินล้านนาเสมอไปเท่านั้น ด้วยเหตุที่รูปแบบของพระสิงห์ 1 นี้ได้ส่งอิทธิพลให้แก่นายช่างสมัยสุโขทัยและอยุธยาอีกด้วย

 

หลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตร

สร้างสมัยพระนเรศวร

นำลงมาสมัยพระนารายณ์?

ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อเพชร พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวพิจิตรนั้น ระบุไว้ในหนังสือ “พระพุทธปฏิมาเมืองไทย” รวบรวมและเรียบเรียงโดย “สมบัติ จำปาเงิน” สรุปความอย่างย่อๆ ได้ว่า

พระพิจิตรผู้เป็นเจ้าเมืองได้สร้างวัดชื่อ “นครชุม” มีพระอุโบสถใหญ่โตสวยงาม ในห้วงเวลานั้น กองทัพจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพผ่านเมืองพิจิตรเพื่อขึ้นไปปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระพิจิตรมีความคุ้นเคยกับนายทัพคนหนึ่ง จึงได้ขอร้องให้ช่วยหาพระพุทธปฏิมาที่มีลักษณะงามมาฝาก

เมื่อเสร็จศึกแล้ว นายทัพผู้นั้นได้อาราธนาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับขัดสมาธิเพชร (ต่อมาคนภาคเหนือตอนล่างเรียก “หลวงพ่อเพชร”) ลงแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำปิง เอามาฝากไว้ที่จวนเจ้าเมืองกำแพงเพชร

พระพิจิตรขึ้นไปอัญเชิญหลวงพ่อเพชรลงมายังเมืองพิจิตร ประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุมสืบมา กระทั่งปี 2445 ทางราชการกับประชาชนได้สร้างวัดท่าหลวงขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อเพชรเป็นการเฉพาะ

จากข้อมูลนี้ ไม่ระบุศักราชว่าแม่ทัพอยุธยาขึ้นไปตีเมืองเหนือเมื่อไหร่ ทั้งยังไม่บอกถึงแหล่งสถานที่ที่หลวงพ่อเพชรเคยประดิษฐานมาก่อนอีกด้วย

เอกสารเล่มอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลตามสื่อออนไลน์ที่คัดลอกต่อๆ กันมากล่าวถึงหลวงพ่อเพชรเพิ่มเติมจากหนังสือของอาจารย์สมบัติว่า

“ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เกิด ‘ขบถจอมทอง’ เมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปราม เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรได้ปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์”

สิ่งที่ดิฉันสะดุดใจคือ การเรียกเมือง “จอมทอง” หน้าด่านสำคัญทางทิศใต้ของเชียงใหม่ว่าเป็น “ขบถ” จนทำให้กรุงศรีอยุธยามีสิทธิ์ยกทัพขึ้นไปปราบ เรื่องนี้ดิฉันเคยทักท้วงไว้แล้วสองหนในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี ครั้งแรกในบทความเรื่องนางลาวทอง และครั้งที่สองตอนเขียนเรื่องพระนางจิรประภามหาเทวี

โดยตั้งคำถามว่า “กรุงศรีอยุธยามีสิทธิ์อะไรมาเรียกหัวเมืองสำคัญของลุ่มน้ำปิงตอนกลางคือจอมทอง ซึ่งขึ้นตรงกับล้านนาเชียงใหม่มาตลอด ว่าเป็นกบฏหรือขบถ?”

ในที่นี้จึงไม่ขอเสียเวลามาถกเถียงเรื่องเดิมๆ อีกรอบ เพราะจะทำให้ประเด็นสำคัญที่วางไว้ถูกเบี่ยงเบนไป นั่นคือการขึ้นไปเอาพระพุทธรูปที่วัดพระธาตุศรีจอมทองของแม่ทัพคนหนึ่งเพื่อนำไปฝากพระพิจิตรนั้น ตรงกับสมัยใดกันแน่?

ใช่สมัยที่แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนหรือไม่ โดยวรรณคดีเรื่องนี้ก็ผูกเรื่องให้ขุนแผนยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงทอง จนได้นางลาวทองไปเป็นเมียอีกคน

ในขณะที่เอกสารของวัดพระธาตุศรีจอมทอง กล่าวถึง “หลวงพ่อเพชร” พระประธานองค์ปัจจุบันในวิหารจัตุรมุขว่า เป็นการจำลองมาจากหลวงพ่อเพชรองค์เดิมที่สร้างขึ้นราว พ.ศ.1660-1800 ปัจจุบันอยู่เมืองพิจิตร องค์จำลองนี้นำมาประดิษฐานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2541

อายุสมัยของ “หลวงพ่อเพชร” ตามที่ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองระบุไว้ให้เก่าถึงยุคหริภุญไชยนั้น ดูขัดแย้งกับรูปแบบพุทธศิลป์ของหลวงพ่อเพชรมากพอสมควร ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้กำหนดอายุของหลวงพ่อเพชรไว้ว่า อยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 (คือราว พ.ศ.2140-2170)

เนื่องจากทำพระพักตร์ออกสี่เหลี่ยม พระเศียรค่อนข้างสั้น เม็ดพระศกแหลมแบบศิลปะอยุธยาตอนกลางแล้ว เป็นช่วงที่ล้านนารับอิทธิพลหลายอย่างของอยุธยาขึ้นไป และยิ่งเมื่อพินิจดูศักราชที่อาจารย์พิริยะกำหนดไว้ว่าอยู่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ย่อมตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถพอดี

อาจเป็นไปได้ว่า หลวงพ่อเพชรวัดพระธาตุศรีจอมทองสร้างขึ้นโดยช่างล้านนา ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และถูกนำลงมาไว้ที่พิจิตรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะยุคนี้มีการยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ โดยกวาดต้อนผู้คนและของมีค่าจากเชียงใหม่มาไว้ที่สยามจำนวนมาก

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • โหราจารย์ นโม
    สวยงามควรค่าแก่การสักการะบูชาทั้งสององค์
    16 พ.ค. 2564 เวลา 09.19 น.
ดูทั้งหมด