ไลฟ์สไตล์

ผู้บริหาร “บีทีเอส” ตอบทุกปัญหาคาใจ “รถไฟฟ้าเราไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ไหนเลย”

TheHippoThai.com
อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 04.58 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 13.00 น.

ผู้บริหาร “บีทีเอส” ตอบทุกปัญหาคาใจ รถไฟฟ้าเราไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ไหนเลย”

เพิ่งจะเปิดตัว “Rabbit Line Pay” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อลดเวลาการไปต่อคิวเติมเงินที่ตู้พนักงาน แม้จะเป็นหนึ่งเรื่องที่ได้รับการพัฒนา แต่ผู้โดยสารอย่างเราๆ ก็คงมีอีกหลายเรื่องในใจที่อยากถาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันนี้…เรามาร่วมพูดคุยกับ “คุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของรถไฟฟ้าบีทีเอส ถึงคำถามคาใจหลายๆ คน

เมื่อไหร่ “ตู้จะรับธนบัตร”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณสุรพงษ์อธิบายกับเราว่า “ก็ยอมรับว่าเราประเมินพฤติกรรมคนไทยผิดตั้งแต่ต้น ถ้าเราใส่ตู้ที่มันรับแบงค์ตั้งแต่ต้นก็คงจบไปแล้ว คราวนี้ก็มีคำถามว่าทำไมไม่ปรับปรุงของเดิมที่มี ผมเช็คแล้วมันทำไม่ได้ พื้นที่มันเล็กไป จะเห็นได้ว่าตู้ใหม่ที่เราซื้อมาที่รับธนบัตรมันอยู่ข้างนอกเพราะต้องใช้พื้นที่ ตอนนี้เราก็ปรับปรุงของเก่าให้เป็นจอทัชสกรีน แล้วเดี๋ยวก็จะรับคิวอาร์โค้ดด้วย ก็จะซื้อผ่านมือถือได้ เรื่องตู้รับธนบัตรเราขอเวลาถึงสิ้นปีนี้ครับ”

“ลิฟต์เกาะกลางถนน” แห่งสถานีช่องนนทรี ทำไมถึงไปอยู่ตรงนั้น?

“คือเมื่อก่อนเข้าใจว่ารถเมล์มันวิ่งตรงกลาง แล้วเขาต้องการให้มันไปต่อเชื่อมกับตรงกลาง ตอนหลังรถเมล์ได้เลิกไป ตอนนี้เข้าใจว่าทาง กทม. กำลังจะทำเพิ่ม แต่ทางเท้าบ้านเราก็แคบใต้ทางเท้าก็มีสายเคเบิลเต็มไปหมดเลย การจะทำอะไรทีไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็เลยทำยากและใช้เวลา”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เป็นผู้บริหาร ได้ใช้บริการบีทีเอสเองบ้างหรือไม่?

“ผมขึ้นบีทีเอสบ่อยครับ” คุณสุรพงษ์กล่าว “คือถ้าเข้าไปในเมืองแล้วจุดที่เราไปมีรถไฟฟ้าพอดี ถ้าเวลาได้ด้วย ผมก็จะพยายามใช้บีทีเอส ขึ้นไปแล้วก็จะคอยสังเกตนะครับ เราก็จะได้เห็นด้วยว่าลูกน้องเราทำงานอย่างไร ผู้โดยสารเป็นอย่างไร”

ซึ่งทางคุณสุรพงษ์เองก็ยอมรับว่าเคยขึ้นรถไฟฟ้าด้วยตัวเองแล้วก็ต้องเจอกับ “รถเสีย” ด้วยตัวเองเช่นกัน

“ก็เคยเจอแต่น้อยมาก พอเสียปุ๊บเราก็ต้องรีบโทรถามลูกน้องเลยว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามช่วยแก้ปัญหาเท่าที่ช่วยได้ แต่บางทีเราไปยุ่งกับเขามากอาจจะทำให้เขาช้าลง คอยฟังมากกว่า แล้วมีอะไรที่เราช่วยผู้โดยสารได้เราก็ยื่นมือไปช่วย

เมื่อมีปัญหาสิ่งที่บีทีเอสขาดคือการ“การสื่อสารที่ดี” กับผู้โดยสารใช่หรือไม่?

“เมื่อก่อนเราต้องยอมรับว่าเราไม่ทำ แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยน คนบริโภคโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เราเพิ่งปรับปรุงทำอย่างจริงจังมาได้ปีกว่า ก็พอดีกับที่รถเสียเยอะ ก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้จะได้ติดตามโซเชียลมีเดียของบีทีเอสก็จะเห็นว่ามีการปรับปรุงเยอะนะครับ”

“บีทีเอสไม่แคร์” เพราะไม่มีคู่แข่งหรือเปล่า?

“คงไม่ใช่ครับ” คุณสุรพงษ์ตอบ “เราแคร์ครับ ทุกอย่างเราปรับปรุงตลอดนะครับ ตั้งแต่โบราณเลยที่ไม่มีบันไดเลื่อน เรามีบันไดเลื่อนอยู่ไม่กี่ที่ ก็คิดว่าผู้โดยสารจะลำบากไหม ทุกวันเราก็ลงทุนทุกสถานีทำบันไดเลื่อนให้มันครบ ลิฟท์เราก็ยังสนับสนุน เป็นต้น ระบบตั๋วเรามีการปรับปรุงตลอด ซื้อรถเราก็มีการซื้อตลอด

“แต่ก็เข้าใจว่าบางครั้งพัฒนามันไม่ทันกับความต้องการ คือช่วง 10 ปีแรกของการให้บริการคนมันไม่ได้เยอะ ทำอะไรก็อาจจะทันใจอยู่ ตอนนี้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเยอะมาก การเติบโตมันต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นการปรับปรุงมันอาจจะไม่ทันใจ แต่ผมเรียนว่าเราแคร์ผู้โดยสารครับ”

เลือกได้หนึ่งอย่าง อยากจะแก้ไขอะไรก่อน?

“สำหรับตอนนี้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือสถานีตากสินเพราะมันเป็นรางเดียว อย่างสุขุมวิทมันไหลได้ตลอด ทุก 2 นาที 40 วิ รถจะมา ปัญหาคือสายสีลมตรงสถานีตากสิน สิ่งที่จะทำได้อย่างเดียวคือต้องแก้ให้เป็นสองราง ตอนนี้เราก็ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงเพื่อใช้พื้นที่เพิ่ม แต่ต้องไปทำ EIA ในปีหน้า”

“คนก็บอกว่าทำไมสถานีตากสินไม่ทำเป็นสองชั้นล่ะ คือถ้ามันคิดก่อนตั้งแต่แรกตอนนั้นมันทำได้ ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะมันต้องปิดระบบ” จากนั้นคุณสุรพงษ์ก็เริ่มอธิบายพร้อมกับวาดรูปให้ดู

“คราวนี้วิธีแก้คือต้องเอาสถานีเดิมออก แล้วเอารางมาใส่ ทีนี้คนจะขึ้นลงยังไง? เราก็ต้องขยายด้านข้างออกไปอีก 1.80 เมตรจากพื้นที่สถานีปัจจุบันก็ทำให้คนใช้ได้”

“แต่แค่นี้ก็ใช้เวลาสองปีแล้ว เพราะว่าต้องขยายสะพานก่อน เพื่อให้เลนรถวิ่งได้เหมือนเดิม เลนถนนก็จะค่อยๆ เบี่ยงออก 1.80 เมตร เพื่อชดเชยสถานีบีทีเอสที่จะขยายออกมา เมื่อเสร็จแล้วถึงจะเริ่มมาทำตัวสถานีที่ขยายออกไป ทางกระทรวงคมนาคมเขาจะปรับปรุงข้างล่างด้วย จุดที่ไปเชื่อมเรือเขาจะทำเป็นอย่างดีเลย”

เราจะฝากความหวังกับบีทีเอสได้หรือไม่?

“จริงๆรถไฟฟ้าเราไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ไหนเลย” คุรสุรพงษ์ย้ำ “เป็นความภาคภูมิใจของประเทศเราได้เลย ช่วงเดือนมิถุนายนที่มันเกิดเหตุรถเสีย ไม่มีใครรู้มาก่อน ทางเราเองก็ไม่รู้ จริงๆเรื่องระบบอาณัตสัญญาณที่อื่นเขาก็ใช้ระบบความถี่นี้ เคลื่อนสัญญาณ 2.4 - 5.8 MHz บางคนบอกว่าเราไม่ยอมจ่ายเงินไปใช้คลื่นอื่น มันไม่ใช่” 

“อย่างรถไฟฟ้าที่วิ่งทุกวัน ผมไม่ได้แก้ตัวนะ มันก็ต้องมีเสียบ้าง เราใช้ Siemens มาดูแลรถให้เรานะ เขาก็ทำตามมาตรฐานสากล มันก็มีบ้างที่เสียแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เรารับได้ แต่ตอนมิถุนายนมันเสียติดๆ กัน คนเลยมีความรู้สึกว่าบีทีเอสเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ วันนั้นเราแก้ได้เร็วมากนะ ผมไม่ได้พูดเกินเลย จริงๆ เรากำลังแก้เรื่องตัววิทยุอยู่ จากแผน 3 เดือนเราเปลี่ยนได้ใน 3 วัน ปัญหาเลยคลี่คลายลง ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าเราจะทำให้ดีที่สุด เราไม่ได้อยากเห็นรถเสีย ไม่อยากเห็นรถขัดข้อง ทุกอย่างเราทำมีการป้องกันเต็มที่ครับ” คุณสุรพงษ์ทิ้งท้าย

ความเห็น 121
  • ⚜️TS.ガンダンム789⚜️
    พูดออกมาได้ไม่อายปาก .... 1.ระบบซื้อตั๋ว 2.ระบบเชื่อมโยง 3.บุคลากร 4.ระบบความปลอดภัย 5.การดูแลรักษา(น้ำท่วมทะลักเข้าใจตัวรถ) 6. การตรงต่อเวลา 7ระบบไม้กั้น ระบบหยอดเสียบ หรือช่องแตะบัตร (มีผลในช่วงเร่งรีบ เช่นพอเสียบบัตรโดยสาร บัตรควรโผล่ออกทางด้านปลายสุดหลังไม้กั้น จะช่วยให้ ระบายคนเข้าไปได้มากกว่าในเวลาเท่ากันๆ) ทั้งๆที่สร้างในช่วงยุคปี2010 ควรพิจารณาให้มากกว่านี้ก่อนที่จะพูด แบบไม่คิด...ถ้าไม่จริงตอบสิคับว่าข้อไหน
    20 ก.ย 2561 เวลา 11.44 น.
  • Nat
    ไม่ได้ด้อยแต่บริการสุดเลวมีแต่คำแก้ตัว!!!
    20 ก.ย 2561 เวลา 11.25 น.
  • Woranun
    ตัวรถน่ะดีเพราะมีใช้หลังประเทศอื่นเค้า ที่เลวร้ายคือการบริหาร,บริการ และ บุคลากร อ้างว่าเครื่องรับธนบัตรใช้พื้นที่เยอะ แต่เกือบทุกสถานีมีร้านค้าเยอะแยะราวกับตลาดนัด เป็นธุรกิจผูกขาด ไร้การแข่งขันที่ราคาค่าโดยสารโหดร้ายมาก
    20 ก.ย 2561 เวลา 13.35 น.
  • ต.
    เบรคทีผู้โดยสารเซล้มระเนระนาด
    20 ก.ย 2561 เวลา 11.29 น.
  • Momo 🍑
    เครื่องซื้อตั๋วก็ทุเรศละ ไม่รับแบงค์เนี่ย
    20 ก.ย 2561 เวลา 12.03 น.
ดูทั้งหมด