จะเป็นอย่างไรถ้าชีวิตอยู่ในโรคของความกังวล?
ทุกวันนี้เราทุกคนต่างลืมตาตื่นมาพร้อมสถานการณ์บางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้มากขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ( Covid – 19), สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และไม่รู้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร, สังคมที่เริ่มมีข่าวความรุนแรงที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเรื่อย ๆ, ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่แปรปวนจนกระทบปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือภัยแล้ง เป็นต้น
การอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ถือเป็นสิ่งกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดที่สูง
เพราะความต้องการพื้นฐานโดยธรรมชาติของจิตใจเราคือ “ความรู้สึกปลอดภัย” เมื่อมีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย
ความคิดและความรู้สึกที่เกิดตามมาได้ง่ายคือ “ความกังวล” ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกป้องกันตัวเองจากความกลัวของเรา
เรากลัวอะไรบ้าง?
1.กลัวที่จะผิดพลาด : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการคิดมากเกินความจริงหรือเกินความจำเป็น
2.กลัวไม่สำเร็จ : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการกดดันตัวเอง กดดันคนรอบข้าง
3.กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการไม่มั่นใจในตัวเองเกินความจริงที่เป็น
4.กลัวผิดหวัง : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการมองโลกในแง่ร้าย
5.กลัวเกิดเหตุการณ์ร้ายซ้ำ : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการหวาดผวาเมื่อเจอเหตุการณ์อะไรที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ตัวเองเคยพบเจอ
6.กลัวการเปลี่ยนแปลง : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของความตื่นเต้น หรือร่างกายตื่นตัวกว่าปกติ
ทั้งหมดเป็นที่มาของความกังวลที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน เมื่อมีเหตุของความกลัวเกิดขึ้น และหายไปเมื่อเหตุหายไปหรือเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวและรับมือกับความกลัวนั้นได้
แต่ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้ หรือมีความกังวลมากจนเกินไปก็สามารถทำให้เราเป็นโรคของความกังวลได้
ซึ่งโรคของความกังวลมีอยู่ 5 ลักษณะด้วยกันคือ
1.โรคแพนิค (Panic disorder)
อาการสำคัญที่เป็นคือ อยู่ ๆระบบประสาทอัตโนมัติก็ทำงานผิดปกติในชั่วขณะโดยคาดการณ์ไม่ได้ เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น มึนงงเหมือนจะเป็นลม รู้สึกมวนท้องคลื่นไส้ ซึ่งในขณะที่เกิดอาการอาจมีความคิดกลัวว่าตัวเองจะตาย กลัวเป็นอะไรร้ายแรงหรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า
2.Specific phobia and social phobia
อาการสำคัญคือ มีความกลัวต่อคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์บางอย่าง หรือการอยู่ในที่ที่มีคนมาก โดยที่ตัวเองก็รู้ตัวว่าความกลัวนั้นไม่สาเหตุสมผลต่อความเป็นจริง แต่ก็ควบคุมความกลัวนั้นไม่ได้จนต้องหลีกเลี่ยงจนกระทบกับการใช้ชีวิต เป็นยาวนานติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน
3.โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive – compulsive disorder)
อาการสำคัญคือ การมีมโนภาพหรือความคิดอัตโนมัติที่ผุดขึ้นมาอย่างควบคุมไม่ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ความคิดนั้นมักเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ความเป็นระเบียบ ความก้าวร้าวหรือความคิดทางเพศ ไม่อยากคิดแต่ห้ามไม่ได้และยิ่งพยายามห้ามความคิดก็จะยิ่งคิด การระบายความอึดอัดของความคิดจะออกมาเป็นการทำอะไรซ้ำ ๆ เช่นล้างมือซ้ำ ๆ จนมือเปื่อย เดินไปปิดกลอนซ้ำ ๆจนไปทำงานไม่ทัน เป็นต้น
4.Posttraumatic stress disorder
อาการสำคัญคือ การเกิดความผวา กลัวจนต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราย้อนคิดถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต
เช่น เคยประสบอุบัติเหตุจากการขับรถจักยานยนต์จนเสียคนรัก ทุกครั้งที่เห็นข่าวอุบัติเหตุหรือเห็นรถจักรยานยนต์ภาพการเกิดอุบัติเหตุของตัวเองก็จะกลับมา แล้วเกิดความหวาดผวาจนกระทบการใช้ชีวิต
5.Generalized anxiety disorder
อาการสำคัญคือ การวิตกกังวลเกินมากกว่าเหตุ เป็นตลอด เป็นกับทุกเรื่อง แม้จะรู้ตัวว่าเป็นความกังวลที่มากเกินไปแต่ก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ยาวนานเกินกว่า 6 เดือน
เมื่อไรที่ความกังวลก้าวข้ามขอบเขตมาสู่เป็นความเป็นโรควิตกกังวลแล้ว เรามักเสียการควบคุมและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์ได้ แต่ยังเป็นเรื่องง่ายที่เมื่อรู้ตัว ยอมรับ แล้วรีบมาพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา
เพราะไม่มีใครไม่กังวล
ทักษะการดูแลความกังวลจึงเป็นเรื่องสำคัญในยุคที่อะไรก็เกิดขึ้นได้
--
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากหมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY
JPP นั่นสิคุณหมอตอนนี้คนไทยส่วนมากกังวลทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะบ้ากันแล้ว
26 ก.พ. 2563 เวลา 13.25 น.
ในการมีสติย่อมที่จะทำให้รู้ว่าควรที่จะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้.
26 ก.พ. 2563 เวลา 11.44 น.
Napa Wat แล้วจะรักษาช่วยเหลืออย่างไร คนที่ป่วยมีอาการเหล่านี้ น่าสงสารเห็นใจอย่างที่สุด เป็นโรคทางกาย ปวดหัวตัวร้อน ยังพอเห็น แต่ป่วยหรือมีอาการเช่นนี้มองไม่เห็น จะรักษาตรงไหน ทำอย่างไร ไม่เคยเห็นหมอหรือผู้เขียนคนใด บอกวิธีดูแลให้ดีขึ้นหรือหายอย่างไร จริงไหมคะ??
26 ก.พ. 2563 เวลา 13.08 น.
ต้องปรับตัวป้องกันตัวเองคร้า
27 ก.พ. 2563 เวลา 03.00 น.
ธรรมมะช่วยได้
27 ก.พ. 2563 เวลา 01.37 น.
ดูทั้งหมด