ไลฟ์สไตล์

ลายกนก-ลายกระหนก เป็นของไทย เป็นเรื่องไม่จริง!?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 22 พ.ย. 2566 เวลา 04.22 น. • เผยแพร่ 22 พ.ย. 2566 เวลา 04.06 น.
กนกใบเทศ ลายกนก ลายกระหนก

คนทั่วไปเข้าใจตรงกันว่า กนก คือ ลายไทย เลยเรียกปนกันทั้ง ลายไทย ลายกนก ลายกนกไทย คำว่า กนก เขียนเป็น กระหนก ก็ได้ เป็นคำว่า ลายกระหนก

บางคนเลยทึกทักว่า ลายกนก เป็นงานสร้างสรรค์ของไทยโดย “ช่างไทย” แท้ ๆ งดงามอ่อนช้อยกว่าใครในโลก แต่ไม่จริง !

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลายกนก – ลายกระหนก – ลายไทย ได้ต้นแบบจาก “ครู” แขกชมพูทวีป หรือแขกอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ราวหลัง พ.ศ. 800 – 1200 (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ กระหนกในดินแดนไทย โดย ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 หน้า 22)

ลายกระหนกอินเดียแพร่หลายมากับศาสนาพราหมณ์และพุทธ สู่ดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์คราวเดียวกัน ไม่ต้องไปหลงทางหาตรงไหนก่อน – หลัง เสียเวลาเปล่า ๆ

เพราะมีต้นแบบพ่อแม่เดียวกัน คือ ลายกนกชมพูทวีปอินเดีย ในแง่ตัวลายจึงไม่มีอะไรต่างกัน เว้นเสียแต่พบอยู่ในเขตประเทศไหน? ก็สมมุติเรียกว่า ลายของดินแดนนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็บอกไม่ได้หรอกว่า ลายใครเป็นลายใคร เพราะเป็นกระหนกเดียวกัน เช่น เอาลายไทยไปวางในเขมร, เอาลายเขมรไปวางในลาว, เอาลายลาวไปวางในพม่า, เอาลายพม่าไปวางในมอญ, เอาลายมอญมาวางในไทย, ฯลฯ

ลายดั้งเดิมก่อนรับกระหนกอินเดีย

ก่อนรับกระหนกจากอินเดีย ช่างเขียนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์วาดรูปลวดลายธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (หรือเบสิก) อย่างแข็งแรงแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีหลักฐานเป็นลายเส้นบนหน้าผา, ผนังถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นภาพเขียนดึกดำบรรพ์ มีอายุเก่าแก่มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พบทั่วไปในดินแดนไทยตั้งแต่ ภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้ แล้วพบกระจายอยู่ในดินแดนเพื่อนบ้านโดยรอบด้วย

ทุกแห่งที่พบล้วนเป็นภาพเขียนศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อในศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ แล้วสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนยุคนั้น บริเวณนั้น ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ และก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย

บริเวณโดยรอบของหน้าผา, ผนังถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (เทียบเท่าโบสถ์, วิหารสมัยหลัง) ใช้ทำพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เช่น ขอฝน, ฯลฯ

คนเขียนลายเส้นเป็นรูปต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น คน, สัตว์, ฯลฯ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลพิเศษ (ที่ยุคต่อไปจะเรียกว่าช่าง) มีอำนาจระดับหมอผี หมายถึง ผู้มีวิชามากกว่าคนอื่นในท้องถิ่นชุมชนนั้น

ทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานอันมั่นคงว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีประสบการณ์ชำนาญ และความสามารถระดับสูงแล้วในทางวาดรูป เขียนภาพ ทั้งเหมือนจริง และเหนือจริง เป็นเส้นสัญลักษณ์ ยุคก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย

งานช่างอื่น ๆ ก็ไม่ต่างจากงานช่างเขียน ไม่ว่าช่างฟ้อน ช่างขับ รวมถึงช่างดีดสีตีเป่า ซึ่งรู้จักทั่วไปทุกวันนี้ว่างานดนตรีและนาฏศิลป์ ล้วนมีรากเหง้าร่วมกันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

“ลายกระหนก”. จากหนังสือ “วัฒนธรรมร่วม อุษาคเนย์ในอาเซียน”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 44
  • Most Indie
    ส่วนตัวนะครับผมคิดว่าเอาเข้าจริงๆ ถ้าพูดให้ลึกๆเลยก็คือไม่มีอะไรที่เปนของเราจริงๆสักอย่างหรอก เรารับอิทธิพลวัฒนธรรมดินแดนอื่นมาทั้งนั้น เพียงแต่เรามีความคิดสร้างสรรค์ในแบบของเรา อาศัยแนวคิดของเค้ามา ลงรายละเอียดสื่อความรู้สึกในแบบคนพื้นเมืองของเรา ความเปนศิลปินมันมีอยู่ในตัวเราทุกคนแหละครับ
    18 ส.ค. 2562 เวลา 11.49 น.
  • kamen rider
    รามเกียรติ์ก็มิใช่ของไทย แต่ฝรั่งทำสารคดีฮินดูทีไร ก็ยกภาพวาเรามเกียรติ์แบบไทยๆใส่ลงไป โดยที่มิใช้ของอินเดียเลย ....มันอยู่ที่ความวิจิตรพริ้วไหว ที่คนมอง ไม่สำคัญต้นแบบมาจากไหน
    18 ส.ค. 2562 เวลา 11.17 น.
  • เอ๋
    แหล่งอารยธรรม อินเดีย จีน ถูกถ่ายทอดสู่ ภูมิอื่น เขมร พม่า แล้วไทย รับต่ออีก ทั้ง ศาสนา ศิลปะ ภาษาเขียน พูด อะไรที่เป็นไทยหายาก แต่เป็นคนละเรื่องกับการภาคภูมิใจ ในตัวเอง
    18 ส.ค. 2562 เวลา 11.17 น.
  • 🔥พิมาน🔥
    สรุปว่า ทั้งลายกระหนก&พุทธศาสนา ที่พบเห็นในไทย ก็ล้วนกำเนิดจากอินเดียแล้วมาเจริญในไทยเหมือนๆกัน
    18 ส.ค. 2562 เวลา 11.18 น.
  • ธนิต
    จะอย่างไรก็ช่าง ผมยังรักในความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นครับ
    18 ส.ค. 2562 เวลา 11.54 น.
ดูทั้งหมด