วันที่ 12 มกราคม 2566 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับยาต้านโควิด-19
โดยระบุดังนี้ …ยาต้านไวรัสที่องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 มีเพียง 3 ขนาน ยาฉีด 1 ขนาน คือยาเรมเดซิเวียร์ ยากิน 2 ขนาน คือยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) และโมลนูพิราเวียร์
ยาแพ็กซ์โลวิดมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ แต่มีข้อห้ามใช้ในกรณีที่กำลังกินยาบางชนิดอยู่ เพราะอาจมีปฏิกิริยาต่อกันของยา (Drug Interaction) ซึ่งอาจจะเสริมฤทธิ์กันหรือต้านฤทธิ์กัน ส่งผลต่อผลการรักษาหรือเกิดผลข้างเคียง
ทั่วโลกกำลังรอยาต้านไวรัสชนิดกินตัวใหม่ ยาเรมเดซิเวียร์ได้ผลดีเมื่อฉีดเข้าเส้นเลือดเท่านั้น ถ้านำมากินไม่ได้ผลเพราะไม่ดูดซึมผ่านกระเพาะลำไส้ นักวิทยาศาสตร์จีนได้สังเคราะห์ยากินคล้ายกับยาฉีดเรมเดซิเวียร์ สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะลำไส้เข้ากระแสเลือดได้ดี นำมาใช้เป็นยาต้านไวรัสตัวใหม่
วีวี116 (VV116) ได้ทำการศึกษาวิจัยควบคุมแบบสุ่มระยะที่ 3 เปรียบเทียบยาต้านไวรัส วีวี116 กับแพ็กซ์โลวิดในผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในโรงพยาบาลนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักโดยให้กินทั้งหมด 5 วัน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 (ดูรูป) พบว่า วีวี116 มีประสิทธิภาพดี ลดจำนวนวันที่เจ็บป่วยจากโรคโควิดให้สั้นลง ลดความรุนแรง ไม่ต่างจากยาแพ็กซ์โลวิด ผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแพ็กซ์โลวิด ปากขมน้อยกว่า และไม่มีปฏิกิริยาต่อกันกับยาตัวอื่นเหมือนยาแพ็กซ์โลวิด
ในอนาคตอันใกล้ยาต้านไวรัสตัวใหม่จากประเทศจีน VV116 จะเป็นยากินอีก 1 ขนานสำหรับนำมารักษาโรคโควิด…