คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
สงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาสที่มีอิทธิพลเหนือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งล่าสุดนี้หนักหนาสาหัสกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะชาวอิสราเอลนั้นสูงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ความสูญเสียยิ่งสูง ยิ่งเร่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละฝ่ายให้เดือดพล่านมากยิ่งขึ้น แล้วก็ยิ่งทำให้โอกาสที่สงครามครั้งนี้จะขยายตัวลุกลามออกไปเป็นวงกว้างมีมากยิ่งขึ้น ศึกอิสราเอลกับฮามาสครั้งนี้จึงสามารถส่งผลสะเทือนออกไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับความขัดแย้งนี้ก็ตาม
เนื่องจากตะวันออกกลางไม่เพียงเป็นแหล่งน้ำมันดิบสำคัญของโลกเท่านั้น ยังเป็นเส้นทางเดินเรือ “ทางผ่าน” ของเรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยอีกต่างหาก
ในทางเศรษฐกิจแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้โดยตรงต่อนานาประเทศก็คือ “ราคาน้ำมันแพงขึ้น” ซึ่งก่อให้เกิดผลพวงตามมานั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อจะถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แล้วก็จะกระทบต่อนโยบายด้านการเงินการคลัง ซึ่งลงเอยกลายเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ล้วนวิเคราะห์แนวโน้มที่สงครามครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกไปในทิศทางเดียวกันดังกล่าว แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจตามแนวทางดังกล่าวจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าสงครามครั้งนี้จะขยายตัวลุกลามออกไปมากน้อยเพียงใด
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ วิเคราะห์ความรุนแรงของผลกระทบไว้เป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับ “ฉากทัศน์” ของสงครามหนนี้ว่าจะขยายตัวหรือไม่ และลามออกไปมากน้อยเพียงใด
ในฉากทัศน์แรกสุด คณะนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กชี้ว่า หากสงครามครั้งนี้จำกัดวงอยู่เฉพาะระหว่างอิสราเอลกับฮามาส “ไม่ได้ลามออกไปนอกเหนือดินแดนของปาเลสไตน์” ในทำนองเดียวกับการสู้รบครั้งหลังสุดเมื่อปี 2014 ผลกระทบในทางเศรษฐกิจก็จะจำกัดวงตามไปด้วย ราคาน้ำมันแทบจะไม่ได้รับอานิสงส์ ไม่ได้สูงขึ้นมากมายนัก คือปรับสูงขึ้นระหว่าง 3-4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผลกระทบต่อเศรษฐกิโลกโดยรวมก็แทบจะไม่เกิดขึ้น หรือมีก็น้อยมากเช่นกัน
ในกรณีที่สถานการณ์ “สู้รบลุกลามกินอาณาบริเวณกว้างขวางออกไปอีก” ตามฉากทัศน์ที่สองของบลูมเบิร์ก จนกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ ที่ปักหลักอยู่ในหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและอาวุธจากทางการอิหร่าน โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่อย่างเฮซบอลเลาะห์ ที่มีอิทธิพลอยู่ทั้งในเลบานอนและซีเรีย
ยาเอียร์ โกลัน อดีตรองเสนาธิการร่วมของกองทัพอิสราเอล เชื่อว่า ทั้งอิหร่านและเฮซบอลเลาะห์กำลังจับตาและประเมินสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด เงื่อนไขที่ทำให้การสู้รบลุกลามออกไปสู่ซีเรียและเลบานอน เพราะเฮซบอลเลาะห์กระโจนเข้ามาร่วมวงก็คือ การที่อิสราเอลส่งกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซา ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นจริงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อ “กวาดล้าง” ฮามาส ให้หมดไปจากกาซาจริง ๆ
ในกรณีเช่นนี้ นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยขึ้นไปเมื่อแรกเกิดการสู้รบ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การสู้รบครั้งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาตึงเครียดทางการเมืองขึ้นในหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งในอียิปต์, เลบานอน และตูนิเซีย ปัญหานี้อาจก่อให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นในประเทศเหล่านั้น ในรูปของการเดินขบวนต่อต้านอิสราเอล หรือต่อต้านรัฐบาลของแต่ละประเทศ
บลูมเบิร์กระบุว่า ในกรณีที่การสู้รบขยายวงลามออกไปเป็นสงครามตัวแทน และเกิดเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงเป็นวงกว้างในหลายประเทศจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของตลาดเงินในภูมิภาค ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ และจะฉุดให้จีดีพีโดยรวมของทั้งโลกในปี 2024 หดหายไปถึง 0.3 เปอร์เซนเทจพอยต์ คิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ระบุว่า สถานการณ์อาจลุกลามและรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ร้ายแรงสูงสุด เพราะอิหร่านไม่น่าจะเปิดศึกเพียงลำพัง แต่จะดึงเอา “หุ้นส่วน” ในภูมิภาคอย่าง ซีเรีย, อิรัก, เยเมน และบาห์เรน มาร่วมทำสงครามด้วย
ในกรณีเช่นนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งพรวด และอาจสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จีดีพีโลกจะหดตัวลง 1 เปอร์เซนเทจพอยต์ อัตราเงินเฟ้อของโลกพุ่งไปอยู่ที่ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ที่คาดกันว่าจะอยู่ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่หลงเหลือ เป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982
และอาจทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงอีกครั้ง