ไลฟ์สไตล์

เบื้องหลัง “ลายรดน้ำ” ประณีตศิลป์ชั้นสูง ทำอย่างไร?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 25 พ.ค. เวลา 08.08 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. เวลา 08.02 น.
พาลีชิงนางมณโฑจากทศกัณฐ์ (ภาพลายรดน้ำจากหนังสือ “รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2555)

งานเขียน“ลายรดน้ำ”จัดเป็นงานประณีตศิลป์ของไทยที่มีเอกลักษณ์ ความวิจิตรงดงาม และมีการสืบทอดวิธีการตามแบบอย่างโบราณยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศิลปกรรมในการตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงงานเครื่องเขิน ให้มีความวิจิตรและมีคุณค่าทางศิลปะ

เชื่อว่าทุกท่านคงมีโอกาสได้ชื่นชมความงดงามของงานเขียนลายรดน้ำมาบ้างแล้ว แต่ศิลปกรรมนี้คืออะไรกันแน่ และมีขั้นตอนการสร้างงานอย่างไรบ้าง?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

งานเขียนลายรดน้ำ คือ การเขียนลายด้วยน้ำยาหรดาล ลงรัก ปิดทอง รดน้ำ เพื่อเพิ่มความวิจิตรมากยิ่งขึ้น

พบหลักฐานเก่าแก่ของศิลปกรรมประเภทนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎก ฝีมือช่างวัดเชิงหวาย (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) ตำหนักทองวัดไทรสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ประทับเมื่อครั้งเสด็จประพาสคลองโคกขาม สมุทรปราการ และ หอเขียนวังสวนผักกาดหรือหอไตรวัดบ้านกลิ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ยังไม่รวมงานลายรดน้ำที่ปรากฏอยู่ในการตกแต่งบานประตูและหน้าต่าง พระอุโบสถ พระวิหาร หอไตร และสิ่งของเครื่องใช้ในราชสำนักหรือในพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อีกหลายแห่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเขียนลายรดน้ำนั้น กล่าวอย่างย่อ ๆ เริ่มจากการเขียนลวดลายด้วย “น้ำยาหรดาล” ลงเป็นรายละเอียดภาพ โดยการถมลงไปตรงพื้นในส่วนที่ไม่ต้องการให้ทองคำเปลวติด แล้วนำไป “ลงรัก” คือ การเช็ดรักด้วยยางรักที่เคี่ยวด้วยการตั้งไฟ เพื่อขับน้ำออกจากยางรักจนหมดแล้ว เรียกขั้นตอนนี้ว่า “รักเช็ด” ก่อนถอนยางรักที่เป็นส่วนเกินออกให้เหลือตามต้องการ จากนั้นปิดทองคำเปลวลงไปบนชิ้นงาน กวดทองคำเปลวให้แน่นจนทั่ว แล้วนำไปรดน้ำ หรือการล้างเอาน้ำยาหรดาลที่เขียนและถมพื้นไว้ออก คงเหลือเป็นทองคำเปลวที่อยู่บนพื้นรักซึ่งติดเป็นลวดลายหรือภาพต่าง ๆ ตามที่เขียนไว้

โดยทั่วไปจะเรียกงานประณีตศิลป์นี้ว่า “งานเขียนน้ำยาหรดาลลงรักปิดทองรดน้ำ”หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ลายรดน้ำ” นั่นเอง

การเตรียมวัสดุ-ส่วนผสม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากขั้นตอนอย่างสรุป สำหรับการสร้างงานเขียนลายรดน้ำ จะพบชื่อส่วนประกอบ-ส่วนผสมต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เราอาจไม่พบเห็นหรือได้ยินชื่อกันบ่อยนัก เพราะเป็นวัสดุที่ใช้ในงานเขียนลายรดน้ำหรืองานศิลปกรรมไทยจำพวกการ “ลงรักปิดทอง” เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการเตรียมวัสดุ ดังนี้

1. ยางรัก ยางไม้ดิบจากการเจาะหรือกรีดต้นรัก (ต้นน้ำเกลี้ยง) มากรองให้สะอาด ได้รักน้ำเกลี้ยงสำหรับทารองพื้นวัสดุรองรับการเขียนลายรดน้ำให้มีทั้งความเรียบและมันเงา

การทารักน้ำเกลี้ยงจะต้องทาซ้ำ ๆ หลายครั้ง แต่ละครั้งต้องบ่มด้วยความชื้นและป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้เกาะผิวหน้าของงาน หากมีร่องรอยบนผิววัสดุ สามารถเติมร่องรอยเหล่านั้นด้วย “สมุก” ที่ทำจากส่วนผสมของถ่าน ใบตองแห้ง กับรักน้ำเกลี้ยง เมื่ออุดร่องรอยปล่อยให้แห้งสนิทแล้วจึงขัดผิวให้เรียบ และทารักน้ำเกลี้ยงเคลือบเป็นชั้น ๆ อีกจนกว่าเรียบเนียนใช้งานได้

2. น้ำยาหรดาล ถือเป็นพระเอกของงานเขียนลายรดน้ำ มีส่วนผสม 3 อย่าง ได้แก่

  • หรดาลคือ แร่หินสีเหลืองชนิดหนึ่ง มี 2 ประเภท คือ หรดาลหินและหรดาลกลีบทองโดยมากมักใช้หรดาลหินเป็นส่วนผสมหลัก เพราะมีคุณสมบัติพิเศษคือแตกตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับความชื้น หรดาลมีมากแถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) ประเทศจีน การนำหรดาลมาใช้ทำน้ำยาหรดาลจะต้องบดหรือฝนกับหินลับมีดให้แตกละเอียด แช่น้ำทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ก่อนล้างเอาความเค็มของหินที่มีเกลือเจือปนอยู่ให้เจือจาง
  • กาวยางมะขวิดหรือกาวยางกระถินเทศคุณสมบัติของยางไม้ทั้ง 2 ชนิด คือการละลายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ช่างไทยสมัยโบราณนิยมใช้กาวยางมะขวิดเพราะหาง่าย ส่วนปัจจุบันใช้ยางกระถินเทศซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ และหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณ ก่อนใช้จะกรองเอาสิ่งเจือปนออกก่อน ใช้เป็นกาวเหนียวเพิ่มการเกาะยึดของน้ำยาหรดาล
  • น้ำฝักส้มป่อยใช้ฝักส้มป่อยต้มจนน้ำสีชาแก่ ๆ นำมาเป็นส่วนผสม และตัวทำละลายของน้ำยาหรดาล

3. แบบปรุ แบบหรือลวดลายที่จะใช้เขียนน้ำยาหรดาล ต้องมีความถูกต้องสวยงาม ตามที่ออกแบบไว้ โดยเตรียมการปรุแบบเพื่อนำไปโรยแบบด้วยฝุ่นดินสอพอง ห่อด้วยผ้าบาง ๆ ทำเป็นลูกประคบ เพื่อให้ฝุ่นดินสอพองลอดผ่านรูแบบปรุลงไปติดบนพื้นรองรับการเขียน

4. รักเช็ด คือยางรักน้ำเกลี้ยงที่นำมาเคี่ยวให้เดือด เพื่อไล่น้ำที่ผสมอยู่ในเนื้อยางให้ระเหยออกไปจนหมด ใช้สำหรับเป็นยางเหนียวในขั้นตอนการลงรัก ก่อนการปิดด้วยทองคำเปลว

5. ทองคำเปลว หัวใจสำคัญของงานเขียนลายรดน้ำ มี 2 ประเภท คือ ทองคัด ทองคำเปลวที่มีการคัดคุณภาพ ช่างจะตีทองคำเป็นแผ่น แต่ทองจะไม่มีคราบไหม้จากการตี ไม่มีรูพรุนหรือรอยต่อของเนื้อทอง จึงมีราคาสูงกว่าทองคำเปลวแบบอื่น ๆ นิยมใช้กับงานผิวเรียบเกลี้ยง และ ทองต่อ แผ่นทองคำเปลวที่เหลือจากทองคัด อาจมีรูพรุน หรือสีเข้ม-อ่อนต่างกันในแต่ละแผ่น ราคาจึงถูกลงเล็กน้อย นิยมใช้กับงานที่ลวดลายมีความละเอียดสูง

ขั้นตอนการสร้าง “ลายรดน้ำ”

1. ล้างทำความสะอาดพื้นรักที่เตรียมไว้สำหรับการเขียนลายรดน้ำด้วยดินสอพองละลายน้ำ ใช้นิ้วมือถูทั่วพื้นที่ให้ดินสอพองหลุดติดมือออกมาจนหมด

2. นำแบบปรุที่เตรียมไว้วางทาบ และใช้ลูกประคบฝุ่นดินสอพองลูบตามแบบ ยกแบบปรุออก จะได้แบบร่างสำหรับเขียนลาย

3. เขียนเส้นรอบนอกด้วยน้ำยาหรดาลตามแบบร่างที่ปรุไว้ให้มีขนาดเส้นโตกว่า แล้วเขียนรายละเอียดของลวดลายให้มีขนาดเส้นเล็กกว่า การกำหนดขนาดของเส้นต้องใช้ความสามารถของช่างในการใช้พู่กันขนาดเล็ก ขนยาวพิเศษ หากเขียนเส้นในมีขนาดแตกต่างกันได้หลายขนาด จะยิ่งเพิ่มความวิจิตรของผลงาน

4. เมื่อเขียนตัดเส้นใส่รายละเอียดครบถ้วนแล้ว ใช้พู่กันขนาดโตกว่า ระบายพื้นหลัง และช่องไฟระหว่างตัวลายในพื้นที่ส่วนที่ไม่ต้องการให้ทองคำเปลวติด

5. เมื่อน้ำยาหรดาลแห้งสนิท นำไปลงยางรักเช็ด ถอนยางรักออกด้วยลูกประคบผ้านุ่ม ๆ ให้เหลือความเหนียวตามความเหมาะสม สังเกตความเหมาะสมที่จะปิดทองคำเปลวได้

6. ปิดทองคำเปลวโดยวิธีการปูทองคำเปลวให้เต็มพื้นที่ ใช้นิ้วมือกระทุ้งกวดทองคำเปลวให้ติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกันทั่วทั้งชิ้นงาน ใช้ลูกประคบสำลีกวดทองคำเปลวครั้งสุดท้ายให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ยางรักแห้ง แล้วจึงรดน้ำเอาน้ำยาหรดาลที่เขียนระบายไว้ออก

7. รดน้ำด้วยการใช้กระดาษหุ้มทองคำเปลว เปิดแผ่ออกแล้วจุ่มน้ำวางเรียงบนชิ้นงานจนทั่ว ขยับกระดาษเบา ๆ รวบเป็นก้อนแล้วถูวนไปจนทั่ว เพื่อให้น้ำยาหรดาลหลุดออก

8. ล้างทำความสะอาดให้คราบน้ำยาหรดาลหลุดออกจนหมด ได้ผลงานลายรดน้ำที่มีความวิจิตรงดงาม

งานเขียนลายรดน้ำเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างงานฝีมือและเทคนิคชั้นสูงในการสร้างสรรค์งาน มีความซับซ้อน ขั้นตอน และแบบแผนยังต้องอาศัยความชำนาญ ความอดทน และประสบการณ์ของช่างอย่างมาก ถือเป็นภูมิปัญญาระดับสูงที่สืบทอดเป็นมรดกและเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมไทยอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

กลุ่มงานช่างเขียนและช่างลายรดน้ำ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. ความรู้ด้านการทำลายรดน้ำแบบโบราณ. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566. ใน https://www.finearts.go.th/storage/contents/detail_file/QQLwXIkr4hCqlcMQR1450IHiKcC5rH6lwxpWVDqC.pdf (Online PDF)

สนั่น รัตนะ, ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ. “งานศิลปหัตถกรรมประเภท ลงรักปิดทอง”. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566. ใน https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/cdeb62ca10f63c94f575fa8f7f7a2b1f/_2b017d2593959b9b50b5d33f353487f2.pdf (Online PDF)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เบื้องหลัง “ลายรดน้ำ” ประณีตศิลป์ชั้นสูง ทำอย่างไร?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ