ทั่วไป

ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ เผย ฤทธิ์ ไซยาไนด์ มียาต้านพิษ ชี้วินิจฉัยยาก

Khaosod
อัพเดต 27 เม.ย. 2566 เวลา 08.51 น. • เผยแพร่ 27 เม.ย. 2566 เวลา 07.26 น.
ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ เผย ฤทธิ์ ไซยาไนด์ มียาต้านพิษ ชี้วินิจฉัยยาก

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เผย อาการ ไซยาไนด์ ทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงานไม่ได้ ระบุ ประเทศเรา มียาต้านพิษ แก้พิษได้หากได้รับทันเวลา

วันที่ 27 เม.ย.2566 ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center ระบุว่า ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ แบบสั้น ๆ คือ "ทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงานไม่ได้" อวัยวะที่ใช้ออกซิเจนและพลังงานมาก ๆ อย่างสมองและระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงแสดงความผิดปกติก่อน หากได้รับขนาดเพียงพอก็ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ทั้งการกิน สูดดม หรือสัมผัสทางผิวหนัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สารไซยาไนด์มีใช้ในอุตสาหกรรม ทอง จิลเวลรี่ การทำขั้วโลหะ วางยาสัตว์ และใช้ในห้องปฏิบัติการ ไม่ใช่ทุกคนจะได้กลิ่นอัลมอนด์จากไซยาไนด์ (เป็นกรรมพันธุ์) 30-60% ของประชากรเท่านั้นที่จะได้กลิ่นนี้ (โคนันเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน) ผู้ได้รับสารอาจมีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ ชัก เลือดเป็นกรดรุนแรง และเสียชีวิตได้

ประเด็นคือประเทศเรา มียาต้านพิษ ในโครงการยาต้านพิษคือ "โซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟต" สามารถแก้พิษไซยาไนด์ได้หากได้รับทันเวลา โดยในโครงการนี้ได้พยายามให้มีการกระจายยาต้านพิษไซยาไนด์ให้มีอยู่ใน รพ. จังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่หากโรงพยาบาลอำเภอนั้นอยู่ไกลจาก รพ.จังหวัด รวมถึงมีระบบส่งยาต้านพิษไปหา รพ.ที่กำลังช่วยเหลือคนไข้ด้วย

ความยากคือการวินิจฉัยจากเหตุการณ์ เนื่องจากการตรวจยืนยันนั้นอาจได้ผลกลับมาไม่ทันการช่วยเหลือ อีกทั้งบางเหตุการณ์ประวัติการสัมผัสก็ไม่ชัดเจนทำให้นึกถึงได้ยาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อไรจะนึกถึง ไซยาไนด์ จะรักษาระหว่างรอยาต้านพิษอย่างไร จะรู้ได้ไงว่าจะไปหายาต้านพิษจากไหน ได้มาแล้วใช้อย่างไร รอติดตามเนื้อหาแบบละเอียดใน Tox in the News วันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14.00 - 15.30 น. ทางระบบ WebEx https://mahidol.webex.com/mahidol/j.php

ดูข่าวต้นฉบับ