ราคาหมูดิ่ง เกือบต่ำกว่า 100 บาทแล้ว แม้สงกรานต์การบริโภคเพิ่มขึ้น ด้านชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ชี้หมูเถื่อนทุบราคาเกษตรกรไทยไม่ฟื้น เรียกร้องรัฐเปิดรายชื่อชิปปิ้งนำเข้าหมูเถื่อน-คนผิดต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการทำลายของกลางไม่ใช่ให้คนเสียหายลงขันทำลายเอง
วันที่ 17 เมษายน 2666 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจราคาเนื้อหมู พบว่า สถานการณ์ราคาหมูเนื้อแดงปรับลดลงอย่างมาก เหลือเฉลี่ย กก.ละ 109-110 บาท หากเทียบกับปี 2565 ราคาหมู ชำแหละขาย 190 บาท/กก. คิดเป็นการปรับลดลงประมาณ 50-60%
ขณะที่ราคาต้นทุนหมูเป็นหน้าฟาร์มล่าสุดที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศวันพระ ที่ 13 เมษายน 2566 ทรงตัวเท่ากับงวดก่อนหน้า วันที่ 5 เมษายน 2566 กล่าวคือ
- ภาคตะวันตก 84 บาท/กก.
- ภาคตะวันออก 86-88 บาท/กก.
- ภาคอีสาน 88 บาท/กก.
- ภาคเหนือ 88 บาท/กก
- ภาคใต้ 86 บาท/กก.
ซึ่งหากเทียบกับปี 2565 ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม 95-98 บาท/กก. ถือว่าราคาหน้าฟาร์มลดลง ประมาณ 10 บาท/กก.
สภาวะการค้าสุกรขุนทุกพื้นที่ราคายืนแข็ง เทศกาลท่องเที่ยวและสงกรานต์เป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการบริโภค และคาดการณ์ต้นทุนไตรมาสที่ 2/2566 น่าจะย่อตัวช่วงปลายไตรมาสตามต้นทุนลูกสุกรพันธุ์ที่ปรับลดลง
ส่วนราคาลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม วันจันทร์ ที่ 10 เมษายน 2566 อยู่ที่ 2,200 บาท บวก/ลบ 84 บาท
หมูเถื่อนระบาดหนัก
นสพ.วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หมูเถื่อน ที่ลักลอบนำเข้ามา ขายในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมายาวนานกว่าหนึ่งปี เบียดเบียนตลาดให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยต้องเดือดร้อนและเข้าสู่ภาวะขาดทุน รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำของโรค ASF ที่เป็นสาเหตุหลักให้หมูไทยหายไปจากระบบจำนวนมาก ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยผู้บริโภคเนื้อหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร นับเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศเรื่อยมา
เปิดรายชื่อชิปปิ้ง บี้จ่ายค่าทำลายของกลาง
“แม้ว่าการติดตาม ตรวจสอบ จับกุม มีออกมาเป็นระยะก็จริง แต่กลับไม่สามารถทำให้กระบวนการหมูเถื่อนหายไปจากประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด เป็นที่น่าสังเกตว่าการจับกุมในแต่ละครั้งมีหลักฐานเช่น การตรวจสอบ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างและพบหมูเถื่อนจำนวนมาก
ซึ่งอยากให้ภาครัฐ เปิดเผยชื่อชิปปิ้ง ทุกบริษัทที่นำเข้าหมูเถื่อน และต้องดำเนินคดี ต้องบังคับจ่ายค่าเสียหายในรูปแบบการปรับค่าทำลายซากหมูเถื่อนของกลาง จากชิปปิ้งเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงการรอลงอาญา หรือปรับไม่กี่หมื่นบาท”
นสพ.วรวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะนำเข้าสินค้าใด ๆ มาจนถึงท่าเรือไทยได้ ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ที่สำคัญ ต้องมีการระบุชื่อ “ชิปปิ้ง” หรือผู้นำเข้า รวมถึงชื่อเจ้าของสินค้าในตู้นั้น ๆ ลงในเอกสารนำเข้า-ส่งออก ซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานกรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งมีความซับซ้อน
รวมถึงให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า เพื่อประกอบการผ่านพิธีการ และทำการตรวจปล่อยสินค้า ตลอดจนดำเนินการจัดส่งสินค้าถึงปลายทาง สำหรับสินค้านำเข้า ดังนั้นทางกรมศุลกากร น่าจะมีรายชื่อของคนเหล่านี้อยู่ในมือ
นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาฝังทำลายของกลางผิดกฏหมายกลับกลายเป็นว่าผู้เสียหาย ต้องลงขันช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เป็นผู้ที่เสียหายจากการถูกหมูผิดกฎหมายเบียดเบียน ต้องหวาดหวั่นกับเชื้อโรคที่อาจกลับมา แล้วยังต้องมาเสียค่าใช้จ่ายพวกนี้ เป็นต้นทุนแฝงที่ไม่ควรต้องแบกรับ