ในการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 77 ของสมาชิกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เมื่อปี 2021 ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา สายการบินสมาชิกของ IATA ได้ผ่านมติที่มีเป้าหมายจะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2050
คำมั่นสัญญาดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมการบินดำเนินไปในทิศทางสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 2 องศาเซลเซียส และหนึ่งในเส้นทางสู่การบินแบบยั่งยืน และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ คือ การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF
สำหรับประเทศไทย “การบินไทย” ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) มาใช้กับเครื่องบินของการบินไทย
โดยวันที่ 13 ธันวาคม 2566 OR ให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของการบินไทย เส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตไปแล้ว
ชี้ SAF ดันต้นทุนพุ่ง
“ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมติที่มุ่งเป้าการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินต้องขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น และ “เวียตเจ็ท กรุ๊ป” เองขอยืนยันว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยหนึ่งในนั้นคือ การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ปัจจุบันเครื่องบินรุ่นใหม่รองรับแล้ว และสายการบินอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับใช้เชื้อเพลิงประเภทดังกล่าว คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2567 น่าจะมีการประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวออกมา และการขับเคลื่อนการบินสู่ความยั่งยืนน่าจะเป็นวาระสำคัญของปีหน้า
แนะรัฐให้อินเซนทีฟแอร์ไลน์
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการบินยอมรับ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชน เช่น การลดภาษีที่เกี่ยวข้อง ลดภาษีสายการบินที่ใช้ SAF
ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องเร่งสื่อสารกับผู้โดยสารร่วมด้วย หรืออาจต้องมีกิจกรรมเพื่อจูงใจ เช่น การมอบสิทธิพิเศษกับผู้โดยสารที่จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารบางกลุ่มยอมจ่ายแพงขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
“เชื่อว่าต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือทั้งภาครัฐ สายการบิน นักเดินทาง จากเดิมที่ต้นทุนของ SAF อาจสูง แต่เมื่อมีการใช้ที่มากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยก็อาจลดลง” นายปิ่นยศกล่าว
เสนอรัฐให้ความรู้ประชาชน
ด้าน “วรกัญญา สิริพิเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินเครื่องบินทะเล หรือ Seaplane ภายใต้ชื่อ “สยามซีเพลน” บอกว่า เครื่องบินน้ำ/เครื่องบินทะเล ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเครื่องบินขนาดใหญ่ ประกอบกับเครื่องบินสามารถบินขึ้นหรือลงจอดบนพื้นน้ำ ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องสร้างสนามบินขึ้นใหม่
โดยสยามซีเพลนได้ให้คำมั่นในการก้าวสู่การบินโดยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. การชดเชยคาร์บอน โดยสายการบินจะชดเชยการปล่อยคาร์บอนของเที่ยวบินผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น โรงแรม เป็นต้น
“ปัจจุบันเราได้เริ่มเฟส 1 ไปแล้ว โดยทำผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์เต่าและการปลูกปะการัง เกาะทะลุ ฯลฯ และเชื่อว่าเราจะสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่ปีแรก”
ระยะที่ 2 คือ ในอนาคตสายการบินจะปรับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ (SAF) ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ในระยะ 2-3 ปี และระยะที่ 3 คือ การปรับใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาของผู้ผลิต
“วรกัญญา” บอกด้วยว่า SAF ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินของไทย เพราะเป็นเรื่องของต้นทุน ยิ่งสายการบินใหญ่ยิ่งมีต้นทุนที่สูง ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การอุดหนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงต้นทุนที่สูงขึ้น
และย้ำว่า จะให้ผู้ประกอบการรับภาระคนเดียวก็คงไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องรับภาระด้วย เช่น การอุดหนุนด้านภาษี ในเวลาเดียวกันรัฐและเอกชนก็ต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้ยอมจ่ายมากขึ้น หรือสละความสะดวกสบายบางอย่างด้วย
- การบินฟื้น-น่านฟ้าไทยเดือด แอร์ไลน์ใหม่รุมชิงเค้ก 3.2 แสนล้าน
- OR ผนึกการบินไทย เดินหน้าใช้ SAF นำร่องเที่ยวบินแรก กรุงเทพฯ-ภูเก็ต
- สยามซีเพลน ชี้ดีมานด์ลักชัวรีล้น เปิดซีเพลน บินทะเลตะวันออก-อันดามัน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : แอร์ไลน์มุ่งสู่ความยั่งยืน SAF ความท้าทายใหม่ธุรกิจการบิน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net