ไอที ธุรกิจ

นาโนเทค เปิดตัว ‘NanoQ’ 3 กลุ่มใหม่ รองรับผลิตภัณฑ์ปั้นสู่ตลาดอุตฯ

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 03 ธ.ค. 2565 เวลา 08.06 น. • เผยแพร่ 03 ธ.ค. 2565 เวลา 07.56 น.

สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยมอบประกาศนียบัตร NanoQ แก่ 6 ผู้ประกอบการไทย พร้อมเปิดตัว NanoQ เพิ่มอีก 3 กลุ่ม สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ด้านสมาคมฯ ชี้ ไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่มีการรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากนาโน

สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มอบประกาศนียบัตร NanoQ ประจำปี 2565 ให้กับ 6 บริษัทที่ผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ที่มีนาโนเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบ และเปิดตัว NanoQ เพิ่มอีก 3 กลุ่ม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate nanoproduct), กลุ่มอนุภาคนาโนกักเก็บ (Nanoencapsulation) และกลุ่มวัตถุดิบ (Raw materials) หวังช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการได้รับฉลากนาโนทั้งหมด 6 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4 บริษัท โดยตั้งเป้าว่าในปีต่อ ๆ ไปจะสามารถมีผู้รับฉลากนาโนถึง 10 บริษัท ด้านสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยชี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่มีการรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากนาโน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นาโนคิวกับความต้องการของตลาด

วรรณี ฉินศิริกุล นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยีถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลกในอนาคต และเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการส่งเสริม การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development Goals (SDGs)) ของสหประชาชาติ

พันธกิจของสมาคมฯ คือ การรับรองฉลากนาโนที่รู้จักกันในนามนาโนคิว (NanoQ) ซึ่งเป็นฉลากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยี, วัสดุนาโน หรือวัสดุโครงสร้างนาโนในกระบวนการผลิต โดยวัสดุนาโนที่ผสมอยู่ภายในผลิตภัณฑ์ จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีคุณสมบัติเฉพาะหรือพัฒนาขึ้นไปจากคุณสมบัติเดิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้เครื่องหมายฉลากนาโน (NanoQ) จะสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุนาโนหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์นาโนซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้มีการหารือกับองค์กรอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ ทั้งเอเชีย และอาเซียน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย อิหร่าน ผ่านโครงการ Asia Nano Forum (ANF) เพื่อพูดคุยเรื่องนาโนคิว หลายประเทศวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับไทย และอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อยกระดับฉลากนาโนให้เป็นที่ยอมรับและใช้กันหลากหลายมากขึ้น” นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าว

คุณสมบัติที่สำคัญของนาโนคิว

ธนากร โอสถจันทร์ ประธานคณะกรรมการโครงการฉลากนาโน กล่าวว่า ฉลากเดิม สมาคมฯ ได้ให้การรับรอง “กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโน” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยวัสดุนาโนหรือมีการใช้นาโนเทคโนโลยีที่ต้องมีสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งคือ สมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial) หรือสมบัติการสะท้อนน้ำ (Water Repellant)

โดยผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในลักษณะที่ลูกค้าพร้อมใช้ เช่น ถังเก็บน้ำ ผนังภายในรถพยาบาลยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย สียับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น แต่ด้วยปัจจุบัน มีการประยุกต์ใช้งานนาโนเทคโนโลยีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ในปัจจุบันจึงเปิดให้การรับรองเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate nanoproduct) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุนาโนหรือมีการใช้นาโนเทคโนโลยี และต้องมีผลการทดสอบสมบัติตามที่ระบุไว้

โดยผลิตภัณฑ์ยังไม่อยู่ในลักษณะที่พร้อมใช้ ผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มเติม เช่น ต้องมีการเติม สี กลิ่น หรือเพิ่มส่วนผสมอื่นในผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ อนุภาคนาโนกักเก็บสารไล่ยุง

2.กลุ่มอนุภาคนาโนกักเก็บ (Nanoencapsulation) เป็นอนุภาคโครงสร้างนาโนกักเก็บสารสำคัญ ซึ่งจะทำให้สารสำคัญมีความเสถียรภาพยาวนานขึ้น หรือเป็นการปรับปรุงสมบัติอื่นที่ไม่พึ่งประสงค์ของสารสำคัญ

ส่วนใหญ่แล้ว อนุภาคนี้จะใช้เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยเฉพาะที่หรือช่วงเวลาที่ตามต้องการได้ ตามมาตราฐานกระทรวงอุตสาหกรรมอนุภาค “โครงสร้างนาโน” นี้อาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง 300-500 นาโนเมตร ดังตัวอย่างที่เห็นได้จาก มาตราฐานอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดขมิ้นชัน

3.กลุ่มวัตถุดิบ (Raw materials) เป็นวัสดุที่เข้าข่ายวัสดุนาโน วัสดุโครงสร้างนาโน หรือวัสดุที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต โดยเป็นวัตถุดิบที่จะใช้ในกระบวนการผลิตให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้ในการประยุกต์ที่หลากหลาย เช่น อนุภาคทองนาโน ท่อนาโนคาร์บอน

“สำหรับการให้บริการนาโนคิว มีระยะเวลาการแบ่งลายเส้นไว้ 2 ประเภท ได้แก่ 3 ปี และ 5 ปี ซึ่งผู้ประกอบเลือกใช้งานได้ หากฉลากหมดอายุ ก็สามารถมาขอต่ออายุฉลากนาโนคิวได้ดังเดิม” ธนากร กล่าว

นาโนคิวถึงมือผู้ประกอบการ

ชวิดา จิรรัตน์เดชา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัทโว อินโนเวชั่น จำกัด เอกชนเจ้าของผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงสูตรนาโนซึ่งเป็นรายแรกที่ได้รับฉลากนาโนกลุ่มใหม่อย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate Nanoproduct) กล่าวว่า

ปัจจุบัน การทำให้องค์กรเติบโตและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ต้องมีกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ สร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ และดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล

ทางบริษัทได้เล็งเห็นว่า ฉลากนาโนหรือ NanoQ ของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนั้น จะช่วยในการสร้างมั่นใจในคุณภาพของสินค้า เป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ

รวมทั้งเรานำมาตรฐานที่ได้รับการรับรองสื่อสารให้ผู้ใช้งานได้เข้าใจว่าNanoQ เป็นมาตรฐานที่บริษัทฯ สามารถนำไปใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า ในคุณภาพและมาตรฐานในการผลิตสินค้าสู่มือผู้บริโภคอย่างแท้จริง

นอกเหนือจากการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากบริษัทฯ โดยที่เราสามารถนำไปสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์จากการได้สินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่จะตื่นตัวในการพยายามคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมาตรฐานเข้าสู่ตลาดต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานฯ ยังมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับ 6 บริษัทที่ได้รับฉลากนาโนจากสมาคมฯ ได้แก่ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด, บริษัท เคนเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด และบริษัท โว อินโนเวชั่น จำกัด

“เราเชื่อว่า ฉลากนาโน จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อภาคประชาสังคม และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีสมบัติพิเศษ และใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิตจริง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเพื่อขอการรับรองผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ประเภทได้ที่สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยย้ำ

ดูข่าวต้นฉบับ