ทั่วไป

GLASS ONION : 'ผู้ทำลาย'

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 10 ก.พ. 2566 เวลา 15.15 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. 2566 เวลา 15.15 น.

ยุคสมัยของเราได้เห็น “การแตกสลายครั้งใหญ่” ของระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ยึดสังคมเอาไว้ด้วยกันมาช้านาน

ไม่รู้จะใช้คำภาษาไทยอะไรดีจึงจะโดนใจ สำหรับคำว่า Disruption ซึ่งเป็นการอธิบายวิถีและแนวโน้มของโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลอันทรงอิทธิพลมหาศาลต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

…แตกแยก แตกหัก แตกร้าว แตกฉีก แตกฉาน แตกตัว หรือแตกสลาย…

ถ้าจะอธิบายตามขนบ “ตรีมูรติ” ของฮินดู สมัยปัจจุบันของเราก็ถึงยุคของพระศิวะผู้ทำลาย หลังจากมีพระพรหมผู้สร้างและพระวิษณุผู้ธำรงรักษามาแล้ว

ส่วนวิถีพุทธบอกว่า สิ่งใดมีเกิด ก็ย่อมมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Glass Onion พูดถึงกลุ่มตัวละครชนชั้นหัวกะทิในสังคมที่เรียกขานตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “ผู้ทำลาย” (Disruptors)

จะเป็นผู้ทำลายอย่างไร ก็ไม่ได้แจกแจงชัดเจน เพียงแต่ว่าแต่ละคนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไมล์ส บรอน (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) เป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการเทคโนโลยี ประมาณเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ผู้ล่วงลับ และมีการค้นคว้าทดลองพลังงานไฮโดรเจน ที่จะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ

เบอร์ดี้ เจย์ (เคต ฮัดสัน) เป็นดารานักแสดงที่ผันตัวเองไปทำกิจการเสื้อผ้า ซึ่งมีกำลังผลิตอยู่ในประเทศโลกที่สาม

แคลร์ (แคธริน ฮาห์น) เป็นผู้ว่าการรัฐ ซึ่งกำลังเข้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

ดุ๊ก โคดี้ (เดฟ บอทิสตา) เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียล

ฯลฯ ฯลฯ

อยู่มาวันดีคืนดี…หรือวันร้ายคืนร้ายก็ไม่รู้…มิตรสหายในกลุ่มผู้ทำลายที่ปังอยู่ในสังคมนี้ ก็ได้รับกล่องปริศนากล่องเบ้อเริ่มคนละกล่อง ซึ่งรวมหัวกันคิดการเฉลยปริศนาเพื่อเปิดกล่องที่มีกลไกซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้จนได้

เจอบัตรเชิญไปร่วมไข “ปริศนาฆาตกรรม” ครั้งสำคัญบนเกาะส่วนตัวของมหาเศรษฐีไมล์ส บรอน ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้ชายฝั่งประเทศกรีซ

ทุกคนต้องไปขึ้นเรือยอตช์ส่วนตัวที่ไมล์สส่งมารับ รวมทั้งยอดนักสืบเบนัวต์ บลังก์ (แดเนียล เครก) ผู้ที่ก่อนหน้านี้กำลังเบื่อสุดทนกับการไม่มีคดีฆาตกรรมอำพรางที่ท้าทายให้เขาต้องไขปริศนา

ท่ามกลางการทักทายฉันมิตรในวงสังคมชั้นสูงที่อดจะเขม่นและโอ้อวดกันไม่ได้ สาวสวยนางหนึ่งก็สะอิ้งกายเข้ามา-แอนดี้ แบรนด์ (จาแนลล์ โมนาเอ) ส่งผลให้แทบทุกคนหันไปมองตะลึงตะไล อย่างไม่คาดคิดว่าบุคคลคนนี้จะได้รับเชิญและตัดสินใจมาร่วมงานด้วย

เมื่อเรือแล่นเข้าไปใกล้เกาะ มหาเศรษฐีเจ้าของเกาะก็พยายามสร้างภาพแห่งความประทับใจต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือและรูปปั้นเจ้าสมุทรใสแจ๋วเหมือนน้ำแข็งสลัก โผล่ขึ้นจากใต้น้ำเพื่อต้อนรับขึ้นจากเรือ

แถมบนหาดหน้าคฤหาสน์อลังการ ยังมีไมล์สนั่งเล่นกีตาร์เพลง Blackbird ซึ่งบอกว่าเป็นกีตาร์ตัวที่พอล แม็กคาร์ตนีย์ ใช้แต่งเพลงนี้อยู่ซะด้วย

อ้อ ไหนๆ ก็พูดถึงวง เดอะ บีตเทิลส์ แล้ว ก็บอกซะเลยว่า ชื่อหนัง Glass Onion ได้มาจากเพลงของวงยอดฮิตยุคซิกซ์ตี้ส์-เซเวนตี้ส์ ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มชื่อ White Album

ไมล์สโอ้อวดความเป็นมหาเศรษฐีโกฏิล้านของเขาเสียให้สะใจ ด้วยการพาเพื่อนๆ เข้าไปชมห้องนั่งเล่นอันเป็น “พิพิธภัณฑ์” สมบัติล้ำค่าของเขา โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ภาพ “โมนาลิซา” ตัวจริงของจริงที่ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และออกแบบกลไกปกป้องโจรกรรมและวินาศกรรมเอาไว้อย่างซับซ้อน

ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ “กฎของเมอร์ฟี” (Murphy’s Law) บอกไว้ว่า “อะไรที่อาจผิดพลาดได้นั้นจะต้องผิดพลาดให้เห็น”

ดังนั้น โมนาลิซา “ตัวจริงเสียงจริง” (ที่ว่าเสียงจริงนั่นมาจากเพลงของแนต คิง โคล เลย) จึงเป็นไปตามกฎนี้และกลายเป็นประเด็นใหญ่ของความหายนะในตอนจบ

หนังฆาตกรรมอำพรางลึกลับซับซ้อนชวนพิศวงและชวนเวียนหัวเรื่องนี้ค่อยๆ เผยเรื่องออกมาทีละเปลาะๆ และเป็นธรรมดาของเรื่องสืบสวนประเภทนี้ สิ่งที่เห็นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่

ปฏิกิริยาของผู้เขียนตอนดูหนแรกนั้น ออกจะต่อต้านและไม่ชอบใจกับฉากตอนใกล้จบอันดูเหมือนจะสร้างความสะใจโก๋ให้แก่แทบทุกฝ่าย…เป็นความสะใจจากการได้ทำลายล้างในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน…ทำลายข้าวของเพื่อท้าทายอำนาจที่สูงสุดเอื้อมและเป็นอำนาจซึ่งดูเหมือนจะเชิดหน้าลอยนวลอยู่ได้โดยไม่ยำเกรงสิ่งใด แถมยังได้รับการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่จากผู้คนที่เขาสามารถเอื้อผลประโยชน์ให้ได้

รู้สึกเหมือนกับว่าการกระทำเยี่ยงนี้เป็นการส่งเสริมสัญชาตญาณแห่งการทำลายอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการกระทำนั้นจะส่งแรงกระตุ้นให้คนอื่นทำตามเพื่อความสะใจและปลดปล่อยตนเองเหมือนกัน

แต่ครั้นย้อนกลับมานึกดูอีกที “การทำลาย” นี้คงเป็น “สาร” โดยเฉพาะของหนังเรื่องนี้ ซึ่งว่าด้วยการทำลายและผู้ทำลายโดยตรง ถึงที่สุดแล้ว ผู้ทำลายก็โดนพรรคพวกผู้ทำลายด้วยกันเอง ทำลายล้างให้ย่อยยับลงจนได้นั่นแหละ

หนังเพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม แม้จะยังไม่ทราบผล แต่ผู้เขียนเชื่อว่า คนในวงการภาพยนตร์จะนึกสนุกไปกับ “มุข” ต่างๆ ที่บทภาพยนตร์สอดแทรกสอดใส่เข้ามา เป็นมุขของคนวงใน ซึ่งเก็บเล็กผสมน้อยมาจากเรื่องโน้นเรื่องนี้ของคนดังในวงการ

อาทิ หนึ่งในของตกแต่งชิ้นงามคือ “เปียโนแก้ว” ซึ่งมีคนอุทานว่า “นั่นเปียโนของลิเบอราชีเลยนะ”

หรือภาพเคลื่อนไหวของเซเรนา วิลเลียมส์ บนผนังที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนอกภาพโดยเสนอจะสอนเทนนิสให้

เครื่องดื่มกัมปูชาผสมแอลกอฮอล์ ซึ่งนักแสดงคนดัง จาเร็ด เลโต สนับสนุน

ซอสพริกของเจเรมี เรนเนอร์ ซึ่งเบนัวต์ บลังก์ ใช้หยอดใส่ตาเพื่อขับน้ำตาเหมือนตัวเจเรมีเอง เป็นต้น

แล้วยังมีองค์ประกอบของภาพและเรื่องราวที่เก็บเล็กผสมน้อยประมวลเข้ามาเป็นมุขขำขันให้แก่คนช่างสังเกตอีกเต็มไปหมด

ไม่เว้นแม้แต่ฉากสั้นๆ เพียงแว่บเดียว ที่ฮิว แกรนต์ เปิดประตูรับคนมาเยือน ในฐานะเพื่อนร่วมแฟลตกับยอดนักสืบที่กำลังเบื่อแสนเบื่อจนหมกตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำเป็นวันๆ

สงสัยว่าหนังคงอุบเอาไว้ขยายความต่อในภาคสามที่น่าจะตามมาอีกละมัง… •

GLASS ONION

กำกับการแสดง

Rion Johnson

นำแสดง

Daniel Craig

Edward Norton

Kate Hudson

Janelle Monae

Dave Bautista

Kathryn Hahn

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์

youtube
ดูข่าวต้นฉบับ