ม.มหิดล ริเริ่มการวิจัย “Cultured Meat” เพาะเลี้ยงเนื้อสุกรในห้องปฏิบัติการ เตรียมจับมือภาครัฐ-เอกชน บุกตลาดอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย พัฒนากำลังคนเพื่อผลักดันไปสู่ระดับโลก
วิกฤติอาหารแพงส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโรคระบาดจากระบบปศุสัตว์ จนทำให้เกิดนวัตกรรมอาหารเพื่อการนำมาบริโภคทดแทน เนื้อเทียมหรือเนื้อที่มาจากแล็บจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ม.มหิดลเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้พัฒนานวัตกรรม “Cultured Meat” เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ผลักดัน Cultured Meat สู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารระดับโลก
นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล และ Co-Founder โครงการ SPACE-F ที่มุ่งส่งเสริมและบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยสู่อุตสาหกรรมอาหารโลก กล่าวว่า Cultured Meat เป็นหนึ่งในอาหารทางเลือกใหม่ (Novel food) ที่กำลังน่าจับตา โดยหวังให้มาทดแทนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ในระบบปศุสัตว์ ทางม.มหิดลพร้อมสนองรับนโยบาย อว. ให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดสรรทุนวิจัย และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่ผู้วิจัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการได้มีแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพ
เทวัญ จันทร์วิไลศรี อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล นักวิจัยระดับแถวหน้าของม.มหิดล ผู้ที่จะมาเปิดมิติใหม่ให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม Cultured Meat ในประเทศไทย โดยเริ่มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อสุกรในห้องปฏิบัติการ ด้วยทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยสามารถพัฒนาสารเร่ง และสารเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิต Cultured Meat ในห้องปฏิบัติการขึ้นเองเป็นครั้งแรก
"กระบวนการผลิต Cultured Meat สามารถออกแบบได้ตามต้องการของผู้บริโภค ทั้งรูป รส กลิ่น สี และสัมผัส โดยไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย และสามารถเติมคุณค่าทางอาหารได้ตามความต้องการ ซึ่งแผนการวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อสุกรในห้องปฏิบัติการคาดว่าจะเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้า หวังให้เป็นต้นแบบเพื่อนักวิจัยไทยรุ่นใหม่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดพัฒนาสู่การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการได้ต่อไป"
(ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska)
แม้ Cultured Meat จะเป็นที่รู้จักและบริโภคกันอย่างแพร่หลายในระดับโลกมาแล้วนาน แต่ในประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ธัญญนลิน วิญญูประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากต่อไปประเทศไทยจะบุกตลาดอุตสาหกรรมอาหาร Cultured Meat อย่างเต็มที่ จะต้องมีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “ระบบนิเวศวิจัย” ต้องรองรับทั้งในเรื่อง องค์ความรู้ แหล่งทุน และเทคโนโลยี
การวิจัยครั้งนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะเริ่มมีภาคเอกชนให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะทำให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารจากการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีทิศทาง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยต่อไปได้มากที่สุด
สพญ.ขวัญวลัย มากล้น อาจารย์สัตวแพทย์ประจำกลุ่มวิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ชี้ว่า สำหรับการระบาดของโรคอหิวาต์สุกรครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยถึงกับต้องประกาศงดส่งออก โรคอหิวาต์สุกรเป็นโรคระบาดในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน แต่คนจะได้รับผลกระทบโดยตรงในแง่ของ “วิกฤติอาหาร” มากกว่า เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคเนื้อสุกร
จึงมองว่า Cultured Meat จะเป็นทางเลือกใหม่ ที่นอกจากจะปลอดภัยจากโรคระบาดในสัตว์ เนื่องจากผ่านกระบวนการผลิตที่สามารถควบคุมได้แล้ว ยังปลอดภัยจากการปนเปื้อนทางอาหารอื่น ๆ เช่น สารเคมี หรือเชื้อก่อโรคต่าง ๆ อีกด้วย