ไลฟ์สไตล์

ประวัติย่นย่อของ "โลกเสมือน" ตอนที่ 1 - JPW

LINE TODAY SHOWCASE
เผยแพร่ 19 มี.ค. 2565 เวลา 13.57 น. • JPW

ประวัติย่นย่อของ “โลกเสมือน”

The Brief History of “Virtual World”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตอนที่หนึ่ง ปฐมบท

โลกสามยุค

อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า “ Human being is social animal”(มนุษย์เป็นสัตว์สังคม) มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัยในการมีชีวิตอยู่ ผู้ชายรู้จักการล่าสัตว์ และหาของป่า ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลครอบครัว หุงหาอาหาร เลี้ยงดูลูก ลักษณะของครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ยุคที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็น “ยุคเกษตรกรรม” ซึ่งต่อมามนุษย์รู้จักทำการทำเกษตร รู้จักปลูกพืชไร่ รู้จักนำสัตว์มาเลี้ยงเป็นฟาร์ม เป็นลักษณะการผลิตเพื่อบริโภค ส่วนที่เหลือก็นำมาแลกเปลี่ยนกันหรือแจกจ่าย มีการติดต่อกันในชุมชนและในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะใกล้ๆกันตามถิ่นฐาน และหลังจากนั้นมาเริ่มเข้าสู่ “ยุคของอุตสาหกรรม” ในช่วงปี ค.ศ. 1650 มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือ และเครื่องจักร โดยการเข้ามาของอิทธิพลใน ศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมอย่างกว้างขวามนุษย์สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหมือนกันจำนวนมากๆได้ และมีคุณภาพเหมือนกัน (Mass product) ซึ่งการผลิตจำนวนมากๆ นี้ส่งผลต่อการใช้พลังงานอันมากมายมหาศาล โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งการทิ้งร่องรอยไว้ของมลภาวะสะสมต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในยุคดังกล่าวส่งผลในหลายๆด้าน เช่น การเข้าทำงานในเวลาพร้อมๆ กันทั้งในโรงงาน และสำนักงาน ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในเขตเมือง ส่งผลต่อ การจราจรติดขัด ตามโครงสร้างด้านวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามระบบของยุคที่เปลี่ยนไป การเดินทางของคนงานที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ห่างไกลออกไป จากแหล่งงานก่อให้เกิดทั้งการบริโภคทรัพยากร และก่อมลภาวะสูงขึ้นตามลำดับ ในยุคนี้ทำให้ลักษณะของสังคมและครอบครัวเปลี่ยนเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งหมายถึงครอบครัวที่มีขนาดเล็กประกอบไปด้วยพ่อ แม่และลูกๆเท่านั้น การเกิดครอบครัวเดี่ยวเป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และ ลักษณะงานในยุคที่เปลี่ยนไปเนื่องการการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับระบบงานแบบอุตสาหกรรม ซึ่งต่างจากยุคก่อนหน้าที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ครอบครัวจะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ที่มีญาติอยู่ร่วมกันในถิ่นกำเนิด เพราะเป็นทั้งแหล่งงานด้วย หลังจากนั้นการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมีความเจริญขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง และในปีค.ศ. 1955 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยระบบเครือข่ายโทรคมนาคม คือการติดต่อกันทางไกลด้วยระบบคลื่น เช่น แฟกซ์, โทรศัพท์, วิทยุ, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต และอื่นๆ และ Alvin Toffler นักอนาคตศาสตร์ผู้ได้รับการยอมรับ กล่าวไว้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว โลกเรานั่นได้เคลื่อนเข้าสู่ “ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเคลื่อนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร

ยุคข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นยุคแห่ง “เศรษฐกิจข้อมูล” การติดต่อสื่อสาร (Communication) จากวิทยุ, โทรศัพท์, โทรเลข, โทรทัศน์ ในปัจจุบันนี้ใช้คำว่า เทเลคอมมิวนิเคชั่น (Telecommunication) มีลักษณะคือ การส่งผ่านข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายของ โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์, ดาวเทียม, และอินเตอร์เน็ต โดยอินเตอร์เน็ต คือ โครงข่ายที่สลับซับซ้อนเชื่อมต่อด้วยคอมพิวเตอร์ได้ทั่วโลกอินเตอร์เน็ตเริ่มต้นจากการวิจัยทางเทคโนโลยี ชื่อ “ARPANET” ของกระทรวงกลาโหมในอเมริกา และพัฒนาต่อมาจนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม ซึ่งใน ปี ค.ศ.1996 มีผู้คนเข้าเชื่อมต่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมากกว่า 40 ล้านคน ใน ปี ค.ศ.1997 จำนวนมากขึ้นเป็น 100 ล้านคน ในปีค.ศ.1998 จำนวนความหนาแน่นบนระบบอินเตอร์เน็ตเป็นสองเท่าในทุกๆ 3 เดือน

ในระบบ Telecommunication อินเตอร์เน็ตถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ เป็นเครือข่ายอิเล็กทรอนิคส์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือได้ว่าเป็นแกนหลักในการเข้าถึง “โลกเสมือน” การเชื่อมต่อมากกว่า 100 ล้านคน และมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ถือได้ว่านี้เป็นยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดความสัมพันธ์ระหว่าง Telecommunication ต่อเมือง, สังคม, วัฒนธรรม, วิถีชีวิต เช่น ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันข้ามประเทศข้ามทวีปได้ โดยที่ไม่ต้องพบกันตัวต่อตัวแต่ สามารถได้ยินเสียง เห็นหน้าตาลักษณะท่าทางต่างๆได้ โดยสื่อสารผ่านระบบโทรคมนาคมแบบอิเล็คทรอนิคส์ได้เช่นกัน ผู้คนสามารถทำงานที่บ้านได้ ด้วยระบบวิทยาการสมัยใหม่ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในปี 1995 Handy และ Mokhtarian ผู้ทำงานด้านผังเมืองและวิศวกรรมสิ่งแแวดล้อม ได้เสนอบทความวิชาการว่า การทำงานที่บ้านนั้นช่วยลดจำนวนลูกจ้างในสำนักงาน และพื้นที่ของสำนักงานลง และช่วยลดปัญหาความคับคั่งของการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ การใช้พลังงาน อีกทั้งยังลดอุบัติเหตุได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดการกระจายตัวของที่อยู่อาศัย ลดความหนาแน่นแออัดภายในเมือง สถานที่ทำงานกระจายไปอยู่ตามชานเมือง ผู้คนย้ายสถานที่ทำงานและการอยู่อาศัยออกจากใจกลางเมือง ยุคข้อมูลข่าวสารจะเคลื่อนที่โยกย้าย และเป็นอิสระจากข้อจำกัดของภูมิศาสตร์มากขึ้น การใช้ชีวิตในยุคข้อมูลข่าวสาร จะเกิดการพึ่งพาผู้อื่นน้อยลง แต่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยอาศัยอง์ความรู้และข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“โลกเสมือน” จังหวะ พื้นที่ และ เวลา ที่เปลี่ยนไป

การอยู่ร่วมกับ “จังหวะ” (Synchronization) ในประวัติศาสตร์มนุษย์มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคที่เราเริ่มเรียกว่า “ยุคเกษตรกรรม” เช่น จังหวะการเต้นระบำประจำเผ่า ช่วยให้เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในการล่าสัตว์ หรือ ชาวประมงหาจังหวะร้องเพลงที่เข้ากับช่วงการยกแหขึ้นจากทะเล หรือการเข้าใจถึงจังหวะของช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ซึ่งจังหวะเหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปพร้อมเพรียงกันตามธรรมชาติ กับเวลาและสถานที่ และ ในยุคเกษตรกรรม มีการแบ่งจังหวะ เวลา และพื้นที่ในสเกล ที่หลวมๆ ไม่ได้ละเอียดมากนัก เช่น เวลา 1 ก้านธูป รวมไปถึงการให้หน่วยวัดเกี่ยวกับพื้นที่อย่างคร่าวๆ เช่น 1 คืบ หรือ 1 ศอก หรือการนับตามจำนวนก้าวเดิน อันเนื่องจากพื้นที่ในยุคนั้นยังมีมาก และความหนาแน่นของประชากรยังไม่สูง อีกทั้งมูลค่าพื้นที่ก็ปรากฏจริงตามการใช้ประโยชน์ที่มันควรจะเป็น ไม่ได้มีการปั่นราคา หรือเก็งกำไร ซึ่งเหล่านี้แตกต่างจากยุคอุตสาหกรรม

ใน “ยุคอุตสาหกรรม” การรับรู้ถึง “จังหวะ” (Synchronization), “เวลา”(Time) และ “พื้นที่”(Place) เปลี่ยนไปอย่างมากจากยุคเกษตรกรรม ในเรื่องของจังหวะนั้นจะเห็นถึงความชัดเจนมากขึ้น สม่ำเสมอ แต่ถี่ขึ้น เริ่มจากการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มดำเนินงาน เครื่องจักรเริ่มติดเครื่อง มาพร้อมกับการประสานกันของการทำงานในระบบสายพาน เป็นระบบที่ทุกฝ่ายต้องพึ่งพากัน ถ้ามีการมาทำงานสายจะทำให้จังหวะของระบบผิดเพี้ยน ต้องหยุดชะงักและเกิดความเสียหาย คนในยุคอุตสาหกรรมนี้จึงติดอยู่ในห่วงกังวลของเวลา การเข้า-ออก งานที่มีเวลาแน่นอน ทำให้เป็นปัจจัยต่อความละเอียด และ เที่ยงตรงของหน่วยเวลาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย มีการกำหนดมาตรฐานที่เป็นสากล ออกเป็นช่วงและแบ่งเป็นชั่วโมง นาที วินาที (ยิ่ง-ปัจจุบันมีการแบ่งที่ละเอียดกว่านี้มาก) สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดทัศนะการมองเวลาเป็นเส้นตรง มองไปข้างหน้า และมองย้อนกลับไปข้างหลัง เกิดเป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในทัศนะเส้นตรงแนวราบ แต่เมื่อลองมองย้อนกลับไปในยุคก่อนอุตสาหกรรม มนุษย์เราหลายกลุ่มมีทัศนะต่อเวลาในเชิงวงกลม ไม่ใช่เส้นตรง เช่น ในศาสนาฮินดูมีความเชื่อเรื่องความวิบัติจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 พันล้านปี หรือลัทธิเต๋าก็ยังเห็นเวลาเป็นเรื่องของการหมุนเวียน หรือแม้แต่พุทธศาสนาที่ว่าถึง ระบบจักรา(วงล้อ) และการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น ในยุคอุตสาหกรรมที่ แม้แต่ในเชิงพื้นที่นั้น ก็มีการสร้างระบบของหน่วยวัดที่มีความละเอียดมากขึ้น มีการแบ่งเขตพื้นที่อย่างชัดเจนเกิดเส้นแบ่ง เช่นแผนที่โลก ในยุคก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้นการจะสร้างถนนเป็นเส้นตรง และเหลี่ยมมุมนั้นเป็นเรื่องผิดปกติมาก ทางสัญจรโดยทั่วไปจะมีลักษณะคดเคี้ยวไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ที่พึ่งพาสัตว์เป็นแรงงานอยู่มาก แต่สิ่งที่น่าจะนำมาร่วมพิจารณาถึงคือการมองในเรื่องทัศนะของ จังหวะ เวลา และพื้นที่ ในยุคนั้นๆด้วย เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่มองเวลาเป็นเส้นตรงแนวราบ ส่งผลต่อการมองพื้นที่จึงเกิดการตัดถนนหรือ ทางเป็นเส้นตรง มีการวางผังเมืองในระบบตาราง และการใช้เรขาคณิตเป็นโครงเส้นหลัก ซึ่งตอบสนองถึงการเจริญขึ้นของเทคโนโลยีและ ยานยนต์อย่างเฟื่องฟูด้วย อย่างที่ เลอคอร์บูซิเอ สถาปนิกชื่อก้องโลกในยุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่(Modernists) กล่าวไว้ว่า เมืองที่มีทางคดเคี้ยวเป็นการออกแบบเมืองสำหรับลามากกว่าคน เพราะลาที่บรรทุกของหนักชอบเดินโค้งไปโค้งมา ต่างกับคนซึ่งเดินเป็นเส้นตรงอย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยเร็ว

ในยุคของข้อมูลข่าวสาร ทั่วโลกต่างมี จังหวะ ความเร็ว และความเร่งของเวลาที่ต่างกัน บางพื้นที่มีการเหลื่อมกัน ของจังหวะ และเวลา ของยุคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และยุคข้อมูลข่าวสารพร้อมๆกันอยู่ จึงมักเกิดการเข้าจังหวะที่ผิดพลาด (de-synchronization) กันอยู่บ่อยครั้ง และเกิดเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ในยุคของข้อมูลข่าวสารในระบบที่มีความเร็วสูงสุด จะอยู่ภาคของเอกชน และบริษัท ความเร็ว และเร่งสูงกว่าในส่วนขององค์กรภาครัฐ, ระบบการศึกษา, กฎหมาย เหล่านี้มีความเร็วอยู่ในระดับท้ายๆ หรือแม้แต่ผู้มีบทบาทในด้านการพัฒนาเมืองเอง ก็ยังช้าจนมักจะเข้าจังหวะผิดพลาดอยู่เสมอ ความไม่คล้องจองกันในจังหวะ เวลา และพื้นที่ เหล่านี้ก่อให้เกิดความผิดพลาด และไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การไม่สามารถหาแนวทาง แก้ไข หรือป้องกันปัญหา ที่ตรงเหตุได้ เมื่อยุคข้อมูลข่าวสาร มีทัศนะต่อเวลาไม่ได้เป็นเส้นตรงในแนวราบอีกต่อไป แต่แผ่กว้างไปอย่างไร้ขอบ เกิดความสัมพันธ์และซับซ้อนกว่าเดิม อดีต ปัจจุบัน อนาคต กำลังถูกตีความในทัศนะแบบใหม่ในยุคนี้ หรือการเข้าจังหวะที่เปลี่ยนไป แม้แต่ทัศนะของพื้นที่ ก็เปลี่ยนไป ทัศนะเวลาแบบ Relativity หรือทฤษฎีสัมพันธภาพของ ไอน์สไตน์ตามแนวทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เข้ามาท้าทายระบบความเชื่อและทัศนะแบบเดิมในด้านความสัมพันธ์ของ ระบบเข้าจังหวะ เวลา และพื้นที่ โดย คนจะมีพื้นที่เท่าไหร่ก็ได้ในโลกเสมือนที่เชื่อมจากระบบ Telecommunication แห่งยุคของข้อมูลข่าวสาร คนต้องการจะอยู่จุดไหนก็ได้ในช่วงของเวลา หรือจะเลือกเข้าจังหวะกับใคร หรือสิ่งใดก็ได้ โดยได้ทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมีมาในยุคก่อนๆ เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ๆ ระบบสังคมแบบใหม่ๆ และทัศนคติแบบใหม่ที่หลากหลายต่อการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง