เป็นเวลาต่อเนื่องปีที่ 21 ที่ ลอรีอัล กรุ๊ป ประเทศไทย ให้ความสำคัญของบทบาทนักวิจัยสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ เดินหน้าสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่อง และในเป็นปีที่ 21 ประกาศรายชื่อ 4 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2566 ซึ่งมอบทุนวิจัย 250,000 บาทพร้อมโล่เกียรติคุณ ให้แก่นักวิจัยสตรีที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างประโยชน์ต่อสังคมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยลอรีอัลยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานวิจัยและเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นพื้นที่ผลักดันงานวิจัยคุณภาพให้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในประเทศไทยและเวทีโลก
นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ลอรีอัล ในฐานะบริษัทความงามระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยวิทยาศาสตร์และศักยภาพของนักวิจัยสตรีเสมอมา เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี หลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าในเวทีโลกนักวิจัยสตรีจะมีสัดส่วนเพียง 33% และมีเพียงนักวิจัยสตรีส่วนน้อยที่ได้รับการระบุชื่อในงานวิจัย ทว่าในประเทศไทยกลับมีแนวโน้มที่ดี ดังที่เราต่างก็ได้เห็นผลงานวิจัยคุณภาพจำนวนมากซึ่งเปี่ยมล้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์และคุณูปการให้กับสังคม รวมถึงเห็นความพยายามร่วมกันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการผลักดันบทบาทของนักวิจัยสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ให้ทวีความเด่นชัดยิ่งขึ้น ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย จึงมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของก้าวอันยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงวิทยาศาสตร์เสมอมา โดยดำเนินควบคู่ไปกับประเด็นสำคัญอย่างสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เราจะยังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนบทบาทของนักวิจัยสตรีไทยในสายงานวิทยาศาสตร์ต่อไป เพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ให้กับบทบาทของสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ เป็นเสมือนเวทีให้ผลงานของนักวิจัยสตรีไทยได้เป็นที่รู้จัก และตอกย้ำว่านักวิจัยสตรีไทยมีศักยภาพและความสามารถที่โดดเด่นไม่เป็นรองใคร
สำหรับทุนวิจัยฯ 4 ทุน มอบแก่นักวิจัยสตรี 4 ท่าน จาก 4 สถาบัน ในสองสาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ปิยฉัฏร ช่วยสีนวล จากห้องปฏิบัติการอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาไฮโดรเจลสำหรับฉีดจากวัสดุคอมโพสิตอัลจิเนต อนุภาคไฮดรอกซีอะปาไทท์และเส้นใยไหมไฟโบรอิน สำหรับการใช้งานวิศวกรรมเนื้อเยื่อของฟัน”
ดร. สุญาณี ทองโชติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ “ทีเซลล์ที่มีตัวรับแอนติเจนแบบลูกผสมที่จำเพาะต่อโปรตีนโฟเลตรีเซปเตอร์อัลฟ่าและสามารถหลั่งโปรตีนที่จำเพาะสองทางรุ่นที่5.3 เพื่อเสริมประสิทธิภาพของวิถีออโตฟาจีในการกำจัดเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิ้ลเนกาทีฟแบบสามมิติออร์กานอย”
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. พรนภา เกษมศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับงานวิจัยหัวข้อ “ไฮโดรเจลออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถฉีดได้จากการปรับแต่งแป้งที่เป็นของเสียในอุตสาหกรรมสำหรับการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” และรองศาสตราจารย์ ดร. ธีรนันท์ ศิริตานนท์ จาก สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับงานวิจัยหัวข้อ “การออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงเพื่อการประยุกต์ใช้ด้านสิ่งแวดล้อม”
ดร.ปิยฉัฏร ช่วยสีนวล จากห้องปฏิบัติการอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาการสูญเสียฟันในประเทศไทยมีทั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคเหงือก ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ และผู้สูงอายุที่กระดูกเบ้าฟันเสื่อมสลายตามวัย หนึ่งในวิธีรักษาที่ได้รับความนิยมคือการฝังรากฟันเทียม โดยยึดฟันเข้ากับกระดูกขากรรไกรด้วยรากฟันเทียม แต่ปัญหาหลักที่พบส่วนใหญ่คือผู้ป่วยมีกระดูกเบ้าฟันไม่สมบูรณ์ หรือมีปริมาณกระดูกเบ้าฟันไม่เพียงพอที่จะรองรับการฝังรากฟันเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นการรักษาจึงต้องเพิ่มขั้นตอนการปลูกกระดูกเบ้าฟันด้วยวัสดุปลูกกระดูก เพื่อให้การฝังรากฟันเทียมประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้น แต่ขั้นตอนดังกล่าวต้องนำเข้าวัสดุปลูกกระดูกจากต่างประเทศและค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเข้าถึงการรักษาได้น้อยและประสบกับการสูญเสียฟันอย่างถาวร
ทีมผู้วิจัยร่วมกันพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ชนิดใหม่ เพื่อใช้เป็นวัสดุปลูกกระดูกทางด้านทันตกรรม (Dental tissue engineering) โดยทีมผู้วิจัยได้พัฒนาวัสดุปลูกกระดูกรูปแบบเจลพร้อมฉีด (injectable hydrogels) จากไฮโดรเจลอัลจิเนต-ไฮดรอกซีอะปาไทท์-เส้นใยไหมไฟโบรอิน ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพที่เหมาะสม ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และสามารถกระตุ้นการปลูกกระดูก ซึ่งวัดจากการเพิ่มจำนวนเซลล์และการสะสมแร่ธาตุของเซลล์กระดูกได้อย่างมีประสิทธิผล
วัสดุที่ได้จากงานวิจัยนี้จะช่วยร่นระยะเวลาและลดความซับซ้อนในการรักษา และที่สำคัญคือสามารถผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในประเทศและราคาไม่แพง อันได้แก่เปลือกไข่และเศษรังไหม งานวิจัยนี้จึงเป็นการ สร้างนวัตกรรมด้านวัสดุทางทันตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้ง โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อผลิตขึ้นใช้ในระดับประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการปลูกกระดูกเบ้าฟันได้มากขึ้น และได้รับการรักษาโดยการฝังรากฟันเทียมอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ดร. สุญาณี ทองโชติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมชนิด TNBC (Triple-Negative Breast Cancers) เป็นมะเร็งเต้านมที่มีความรุนแรงกว่ามะเร็งเต้านมชนิดอื่นๆ และยังรักษาได้ยาก งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้ใช้วิธีการรักษาที่เรียกว่า chimeric antigen receptor หรือ CAR T-cells ซึ่งเป็นการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งที่มีจำนวนน้อยและไม่แข็งแรง ออกมาดัดแปลง หรือกระตุ้นในห้องปฏิบัติการด้วยกระบวนการ genetic engineering ให้มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะนำเซลล์เม็ดเลือดขาวดังกล่าวที่ผ่านกระบวนการแล้วใส่กลับเข้าไปให้ผู้ป่วย โดยเซลล์ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือน “เซลล์ที่มีชีวิต” หรือ “living drug” ในการทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยทีมผู้วิจัยศึกษาการเพิ่มความสามารถในการหลั่ง antibody ต่อโปรตีน NECTIN2 ซึ่งเป็น immune checkpoint molecule ในการเพิ่มศักยภาพให้กับ CAR T-cells ที่จำเพาะต่อโปรตีน Folate receptor alpha เรียกว่า CAR T-cells รุ่นที่ 5.3 และเบื้องต้นผลออกมาเป็นที่น่าพอใจใน CAR T-cells รุ่นที่ 4
ในปัจจุบันหลักฐานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วย CAR T-cells ให้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งในอนาคตการรักษาด้วย CAR T-cells จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด TNBC ที่รักษายาก เนื่องจากเป็นการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง ทำให้วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Predictive biomarkers เพื่อพัฒนา CAR T-cells และใช้ร่วมกับยา immune checkpoint inhibitors (ICIs) รวมไปถึงฐานข้อมูลต่างๆ เช่น วิถี autophagy อันจะสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมชนิด TNBC ให้ได้ผลที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
รองศาสตราจารย์ ดร. พรนภา เกษมศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า ไฮโดรเจลเป็นวัสดุปิดแผลที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่น คือมีความเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อ การเก็บรักษาความชุ่มชื้น อ่อนโยน และมีความแข็งแรงทางกลและทางกายภาพที่เพียงพอ แต่ไฮโดรเจลก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับการใช้งานในรูปแบบการฉีด ปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนาไฮโดรเจลที่สามารถฉีดได้เพื่อใช้เป็นสารนำส่งและปลดปล่อยยาในอวัยวะเป้าหมาย รวมถึงสามารถใช้แทนกระบวนการบางส่วนในการรักษาโดยการผ่าตัด
การเตรียมไฮโดรเจลที่ฉีดได้ร่วมกับวัสดุนาโนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับไฮโดรเจล ทีมผู้วิจัยพบว่าแป้งของเสีย (Cassava starch waste: CSW) เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่น่าสนใจ สำหรับนำมาต่อยอดในการเตรียมวัสดุทางการแพทย์ โดยได้มุ่งเน้นการศึกษาและการสังเคราะห์ไฮโดรเจลที่สามารถฉีดได้จากการดัดแปร CSW ให้เป็นสารเชื่อมขวางแป้งไดอัลดีไฮด์ (DAS) เพื่อใช้งานร่วมกับเจลาติน โดย CSW เป็นของเสียในอุตสาหกรรมการเกษตรที่นำไปจำหน่ายในราคาถูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ดังนั้นในงานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ประเภทไฮโดรเจลที่สามารถฉีดได้และสร้างแนวทางเพิ่มมูลค่าให้กับ CSW ที่เป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้ได้ไฮโดรเจลที่ได้มีราคาต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ธีรนันท์ ศิริตานนท์ จาก สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ประชากรจำนวนมากอาศัยและประกอบอาชีพที่อาศัยแหล่งน้ำ ในขณะที่การบำบัดน้ำบางครั้งต้องใช้พลังงานและอุปกรณ์ซับซ้อน ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ได้หลายชนิดพร้อมกันโดยอาศัยเพียงแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยายังจำกัดทำให้ยังไม่ถูกใช้งานในเชิงพานิชย์มากนัก ผู้วิจัยจึงมุ่งพัฒนาและปรับปรุงวัสดุสำหรับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยได้พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงในหลายระบบซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในหลายปฏิกิริยา อาทิ พัฒนา Bi2WO6 โดยการเจือให้มีประสิทธิภาพการย่อยสลายสีย้อมโรดามีน บี และออกซิไดซ์เบนซิลลามีนได้มากขึ้นหลายเท่าตัว พัฒนาการเตรียมฟิล์มบางของ BiOCl ซึ่งสามารถลดแก๊สพิษ NOx ในอากาศได้ และยังพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา Bi2O2CO3 โดยการเจือและคอมโพสิตให้สามารถลดสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในน้ำได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในอนาคตตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ได้จำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าแมลง และสีย้อม ตลอดจนใช้แยกน้ำให้เป็นเชื้อเพลิงแก๊สไฮโดรเจนได้ในอนาคต อันจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มหาศาลต่อสังคม ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ให้คนและธรรมชาติอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วมากกว่า 100 ท่าน ซึ่งมีถึง 7 ท่าน ที่ก้าวสู่ความสำเร็จได้รับรางวัลโนเบล สำหรับในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 21 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 84 ท่าน จาก 20 สถาบัน