ทั่วไป

ตรวจเข้มPM2.5 เวิร์กฟรอมโฮม ขึ้นกับหน่วยงาน

ไทยโพสต์
อัพเดต 14 ธ.ค. 2566 เวลา 20.42 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2566 เวลา 17.01 น.

นายกฯ ระบุยังไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่งเวิร์กฟรอมโฮมหนีพีเอ็ม 2.5 กทม.ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงาน ด้านรัฐบาลเดินหน้า ไม่เผาทุ่งนา เปลี่ยนฟางข้าวเป็นทอง สู่เมืองปทุมธานีไร้ควัน

ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ฝากดูถึงวิธีการ และมีมาตรการในการวัดและตรวจเข้มในการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งก็ต้องเต็มที่ ส่วนข้อเสนอของผู้ว่าฯ กทม.ให้มีการเวิร์กฟรอมโฮมในพื้นที่ กทม. เรื่องของฝุ่นมันก็ขึ้นๆ ลงๆ การเวิร์กฟรอมโฮมผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้เสนอเป็นแนวทางหนึ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเราก็เคยทำมาก่อน แต่ช่วงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันในการแก้ปัญหา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อถามย้ำว่า ยังไม่ถึงขั้นจะต้องมีคำสั่งให้เวิร์กฟรอมโฮมใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงไม่มีคำสั่งออกไป ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือหน่วยงานนั้นๆ

วันเดียวกัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อเป็นหลักฐานการแสดงเจตนาจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลายลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่จะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ที่แปลงนาสาธิต หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี ภายในงานได้สาธิตการใช้นวัตกรรมย่อยสลายตอซังข้าวด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เปลี่ยนฟางให้เป็นปุ๋ย-อินทรียวัตถุให้กับดิน

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รัฐบาลได้รับความร่วมมืออย่างมากจากหลายหน่วยงาน และได้มีใช้ในแปลงทดลอง-แปลงขยายผล หลายครั้ง ในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นับเป็นวันเริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ จากเผาเกือบทุกแปลง กำลังไปสู่ไม่มีการเผาสักแปลง จะเป็นการคืนปุ๋ยและอินทรียวัตถุให้กับดิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตให้พื้นที่ปลูกข้าว 230,000 ไร่ของจังหวัดปทุมธานีเอง และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเนื่องใน "วันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ปี 2566" พร้อมชวนคนไทยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยแนวคิด "เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก ลดโลกเดือด" โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติด้านสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2-4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า โลกใบเดียวของเราส่งสัญญาณแล้วว่า ปี 2566 กำลังจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันลงมือทำ เพื่อให้ลูกหลานของเรามีโลกใบนี้ที่อาศัยอยู่ได้ต่อไป วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ด้วยแนวคิด "เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก ลดโลกเดือด"

ที่รัฐสภา น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ต่อนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยนายร่มธรรมกล่าวว่า มลพิษทางอากาศถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและโลก เนื่องจากในหลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูง ทำให้มีคนไทยเสียชีวิตหลาย 10,000 คนต่อปีเพราะมลพิษทางอากาศ องค์การอนามัยโลก ก็ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000,000 คนต่อปี ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีการแถลงนโยบายว่าจะแก้ไขปัญหานี้ และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งปัญหายังสะสมและเพิ่มขึ้นทวีคูณ ขอให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และตนจะนำกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาต่อไป

“ขอให้รัฐบาลเร่งจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที และขอให้ประชาชนร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องไปถึงรัฐบาล เพื่อทวงคืนอากาศสะอาดหายใจ และสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน” นายร่มธรรมกล่าว.

ดูข่าวต้นฉบับ