ไลฟ์สไตล์

ความจริงคืออะไร - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY
เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ที่ผมเริ่มสัมภาษณ์คนมาลงเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ จำนวนในปัจจุบันคือกว่าหกร้อยโพสต์ ถ้าคิดเป็นจำนวนคนก็น้อยกว่าเล็กน้อย เพราะบางครั้งหนึ่งคนมีหลายโพสต์ ในฐานะคนทำงานสัมภาษณ์หลากกลุ่มหลายประเด็น คำถามที่ตัวเองเจออยู่บ่อยๆ คือ

 เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาพูดความจริง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 ทุกครั้งที่เจอคำถาม ผมอ้ำอึ้ง ช่วงแรกคำตอบแตกต่างตามคนถาม ถ้าใครดูอยากรู้จริงจัง ผมเลือกที่จะแจกแจงในเรื่องที่พอประเมินได้ เช่น การถามเรื่องเดิมสองสามครั้งในหนึ่งการสัมภาษณ์ หรือบางคำตอบสามารถตรวจทานได้จากข่าวสาร ซึ่งหากไม่ตรงกัน ก็เป็นไปได้ทั้งโกหกหรือพูดผิด แต่ถ้าใครถามแล้วดูไม่ได้สนใจมาก ผมมักยิ้มแทนคำตอบ

 เวลาผ่านไปสักระยะ ผมเลือกที่จะตอบว่า “ไม่รู้ว่ะ” ไม่ได้ยียวนกวนประสาท แต่ผมไม่รู้จริงๆ

 บางส่วนของบทนำจากหนังสือ ‘เสียงแห่งทศวรรษ’ (รวมบทสัมภาษณ์คัดสรรในรอบสิบปี ตีพิมพ์ครั้งแรกมีนาคม 2551) โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักสัมภาษณ์ที่ถือเป็น ‘ครู’ ของใครหลายคน เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 ในอาชีพการงานคนทำสัมภาษณ์ มีคนเคยถามผมว่าจะรู้ได้ยังไงว่าผู้ให้สัมภาษณ์พูดความจริง

 แทนคำตอบ ส่วนใหญ่ผมหัวเราะ

 เพราะรู้ว่าเขาถามเล่นๆ ไม่หวังคำตอบจริงจัง หรือไม่ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะฟัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 ให้ตอบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับผม นี่เป็นปริศนาธรรมระดับชาติ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 หากควรทำเป็นวิทยานิพนธ์ หรือรายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กระนั้นเลย

 รถสีขาว แต่แปะสติ๊กเกอร์ไว้ว่า ‘รถคันนี้สีน้ำเงิน’ เราจะแปรความหมายอย่างไร

 ความจริงของเขาคืออะไร

 ความจริงของคุณคืออะไร

 แค่นี้เราก็อาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญผ่าตัด ตีความ อธิบาย หาความหมายร่วมกันให้ได้ก่อน เพื่อจะตอบคำถามได้ตรงประเด็น

 ระหว่างนี้ ผมขออนุญาตตอบอย่างจริงใจไปก่อน---หากว่าคุณขี้เกียจรอขั้นตอนขึ้นโรงขึ้นศาลซึ่งท่านก็วุ่นวายหลายเรื่อง วุ่นวายและมีคนพยายามจะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

 ย้อนไปสู่คำถาม---จะรู้ได้ยังไงว่าผู้ให้สัมภาษณ์พูดความจริง

 ผมจะไปรู้ได้ยังไงล่ะครับ โธ่..

.

 เท่าที่พูดคุยกันได้ ผมอยากอธิบายเรื่อง ‘ความจริง’ แบบนี้ 

 เรื่องแรก - บทสัมภาษณ์ใน ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ เป็นเรื่องเล่าว่าด้วยประสบการณ์ชีวิต ลงลึกที่ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบความจริง เพราะหากเริ่มต้นด้วยท่าทีเช่นนั้น ใครเล่าจะอยากเปิดใจสนทนา  

 เรื่องที่สอง- เขาหรือเธอไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ เลยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อจับผิด หรือต่อให้คุยกับรัฐมนตรี ข้าราชการประจำกระทรวง หรือนักการเมืองท้องถิ่น ผมก็ไม่ได้คุยเรื่องงบประมาณประจำปี นอกจากบทบาทใหญ่โตแล้ว เขายังเป็นพ่อแม่ เป็นสามีภรรยา เป็นลูกหลาน หรือเป็นคนธรรมดาด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมสนใจมากกว่า 

 เรื่องที่สาม- ก่อนจะถามว่าอะไรจริง-อะไรไม่จริง ต้องย้อนไปที่ระหว่างบรรทัดของคำถามด้วยว่า ความจริงคืออะไร  

 ถ้าพ่อคนหนึ่งบอกว่ารักลูกมาก เลยตั้งใจทำงานหาเงินเพื่อหยิบยื่นความสุขสบายให้ ทั้งข้าวของเครื่องใช้มากมาย อีกทั้งเงินทองไม่เคยขาดมือ วันหยุดก็หาเวลาไปเที่ยวด้วยกัน เพียงแค่ระหว่างวันต้องเจรจาธุรกิจอยู่ตลอด ถ้าเขามีลูกหลายคน บางคนเข้าใจเงื่อนไขและพอใจกับสิ่งที่ได้รับ แต่บางคนบอกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก!

 เช่นนั้นแล้ว เราควรเชื่อความจริงจากใคร

 ถ้าไม่นับความจริงแบบตรงไปตรงมาว่า นี่โต๊ะ นั่นช้าง โน่นทะเล – ความหมายของ ‘ความจริง’ ที่ว่าด้วยประสบการณ์ชีวิตนั้น ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเกี่ยวข้องกับมุมมองของแต่ละคนด้วย สิ่งที่เรามองตัวเอง กับสิ่งที่คนอื่นมองเข้ามา ไม่มีทางที่จะตรงกันทุกรายละเอียด 

 เรื่องสุดท้าย- คนเพิ่งเจอกันไม่กี่นาที ผมไม่รู้หรอกว่า ‘ความจริงคืออะไร’ เมื่อไม่รู้ ผมเลยไม่ค่อยสนใจ แต่ละคำถามเลยไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการสำรวจเบื้องหลังความคิดและการกระทำเหล่านั้น 

 เพราะอะไรถึงทำแบบนั้น

 หลังจากทำแล้วเกิดความรู้สึกยังไง

 มองย้อนกลับไปเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น

 ฯลฯ

 พอใช้คำถามเหล่านั้นบ่อยๆ ถามด้วยความสงสัย ถามแบบไม่จับผิด ถามโดยไม่อวดฉลาดว่ารู้ทัน หลายครั้งเลยที่คำตอบคือบทเรียนชั้นดี

 วิธีเยียวยาบาดแผลจากความผิดพลาด

 เรื่องราวระหว่างทางของความพยายามในชีวิต

 มุมมองในการก้าวข้าวเพื่อเปลี่ยนจากเศร้าเป็นสุข

 ฯลฯ

 ตลอดการทำงาน ผมเองค่อยๆ เติบโตผ่านเรื่องเล่าของพวกเขา และเชื่อว่าคนอ่านคงได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

 ณ ปัจจุบัน หากใครถามว่า “เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาพูดความจริง” 

 ผมคงตอบว่า “ไม่รู้ว่ะ แต่ผมไปคุยมาจริงๆ” 

 ทันทีที่กดโพสต์ลงเพจ ผมหมดหน้าที่แล้ว ใครอ่านแล้วได้อะไร ใครอ่านแล้วไม่ได้อะไร หรือใครอ่านแล้วอยากตรวจสอบความจริง สิทธิ์นั้นเป็นของทุกคน 

.

.

ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน

ความเห็น 12
  • คนเราในยุคสมัยนี้น้อยนักที่จะทำให้รู้ถึงในความเป็นจริง.
    19 พ.ย. 2562 เวลา 03.30 น.
  • Tui of Earth
    ถ้าจะถามว่าคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องจริงหรือโกหก มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาพูดเรื่องอะไร ?
    19 พ.ย. 2562 เวลา 05.11 น.
  • aiwaiw5543Ptt.เซกาBK
    ยิ่งอ่านยิ่งไม่เข้าใจ
    19 พ.ย. 2562 เวลา 09.00 น.
  • Pichai
    คนเราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ. เข่นพ่อแม่เด็กที่ก่อคดี ก็จะยืนยันว่าลูกผม(ฉัน) เป็นเด็กดี ไม่เคยเกเร. เลี้ยงมาอย่างดี. ยุงยังไม่ตบเลย. เพราะความจริงบรรทัดแรก. Everybody is somebody's fool. ทุกๆคนเป็นคนโง่ของบางคนหรือบางสิ่ง (เชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ)
    19 พ.ย. 2562 เวลา 07.32 น.
  • เป็นถึงหมอ โง่เทรดดิ้ง
    19 พ.ย. 2562 เวลา 04.44 น.
ดูทั้งหมด