ทั่วไป

รีสตาร์ท ‘การบินไทย’ การเมืองต้องก้าวออกมา

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 02.47 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 00.00 น.

ยังนึกภาพไม่ออกว่า “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ในรูปโฉมใหม่หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามกฎหมายล้มละลาย จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขีดแข่งขันและความสามารถในการสร้างผลกำไรจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า “การบินไทย” ยังไม่ทันบินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็มีเรื่องวุ่นๆ ให้เห็น โดยเฉพาะศึก “2 กระทรวง” ที่แย่งชิงการเป็น “ผู้นำ” ในการ “ตั้งผู้บริหารแผน” เพื่อมาฟื้นฟูการบินไทย เห็นแบบนี้แล้วต้องบอกว่าไม่สบายใจ และเริ่มไม่มั่นใจว่าการบินไทยจะบินรอดตลอดเส้นทางการฟื้นฟูหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ เพราะสถานะของการบินไทยในปัจจุบัน ไม่ต่างจาก “ซอมบี้ คอมพานี” หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่อยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมาการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง มีหนี้สินสูงเท่าฟ้า เป็นปัญหาที่สะสมอยู่ท้ายเครื่องมายาวนาน โดยแผนการฟื้นฟูการบินไทยที่ “ภาครัฐ” วางไว้ จะเดินตามโมเดลการฟื้นฟูกิจการของสายการบินดังใน “สหรัฐ” และ “ญี่ปุ่น” นั่นก็คือ “อเมริกัน แอร์ไลน์” และ “เจแปน แอร์ไลน์”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับ “อเมริกัน แอร์ไลน์” สายการบิน “เบอร์หนึ่ง” ของโลก ในอดีตก็เคยเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะขาดทุนต่อเนื่องจนบินต่อไม่ไหว โดย อเมริกัน แอร์ไลน์ เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2554 และใช้เวลาปรับปรุงตัวเองเพียงแค่ 2 ปี ก็ออกจากแผนฟื้นฟู บินต่อได้อย่างสง่างาม ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูกิจการ อเมริกัน แอร์ไลน์ ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ด้วยการโละเครื่องบินเก่า ลดจำนวนพนักงาน เลิกเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร และควบรวมกิจการกับ “ยูเอส แอร์เวย์” จนกลายเป็นสายการบินที่มีผู้ใช้บริการมากสุดในโลก และกลับมาสร้างกำไรได้อีกครั้ง

ส่วน “เจแปน แอร์ไลน์” สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สภาพไม่ต่างจากการบินไทยในเวลานี้ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากภาครัฐต่อเนื่อง สุดท้ายต้องเข้าฟื้นฟูกิจการในปี 2553 แต่ใช้เวลาแค่ปีเศษก็ออกจากแผนฟื้นฟูในแบบที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งการฟื้นฟูของ “เจแปน แอร์ไลน์” เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยหันมาใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดต้นทุน เลิกเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร แต่ที่สำคัญสุด คือ การปรับ “ทัศนคติ” ของพนักงานให้มีใจทำงานอย่างฮึกเหิม และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้ “เจแปน แอร์ไลน์” บินได้อย่างแข็งแกร่ง และมีกำไรในทุกปี

กลับมาที่ “การบินไทย” แค่เริ่มต้นก็ดูงงๆ ยังตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นคนคัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟู ล่าสุดมีข่าวว่าจะตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” ขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง พร้อมทำหน้าที่เสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยซูเปอร์บอร์ดที่ว่านี้จะมีทั้งหมด 8 คน เป็นคนของคมนาคม 4 คนและคลังอีก 4 คน เราหวังว่า “ซูเปอร์บอร์ด” จะคัดบุคคลที่เหมาะสม เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง มาทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระหว่างนี้ “การเมือง” จะก้าวออกมา เพื่อให้ “มืออาชีพ” เข้ามา “รีสตาร์ท” พาการบินไทยเหินฟ้าอย่างสง่างามอีกครั้ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 35
  • โกมล. แก้วชัย
    มันต้องไม่มีการเมืองมาเกี่ยว ปล่อยให้เอกชนเขาบริหาร จัดการเองมันถึงจะแก้ ปัญหาได้
    25 พ.ค. 2563 เวลา 05.28 น.
  • อุทิศ ตราทอง
    แต่งตั้งมาก็มาแดกอีก.ไม่จบไม่สิ้น.ปล่อยให้เอกชนมาบริหารทั้งหมดเลย
    25 พ.ค. 2563 เวลา 03.23 น.
  • อุทิศ ตราทอง
    สโลแกน.รักคุณเท่าฟ้า เปลี่ยนเป็น หนี้สูงกว่าฟ้า..ผู้บริหารรวยจนพุงจะแตก..
    25 พ.ค. 2563 เวลา 02.47 น.
  • KIT
    ยุบทิ้งไปเลย อะไรที่มี ข้าราชการ นักการเมือง ทหาร เข้ายุ้งเกียวต้องมีผลประโยชน์ทั้งนั้นครับ พวกมึง พวกกู ไม่สนความถูกต้อง ความเก่งเฉพาะด้าน สนแต่กูบอกว่าซ้ายต้องซ้าย พวกนี้เหมาะให้ใช้แรงงานเท่านั้น ไม่เหมาะใช้สมองครับ ไม่สงสาร พนง การบินด้วยพวกนี้ทำงานเพื่อเงินเดือน เขาก็ได้ส่วนที่ควรเป็นของเขามามากพอแล้ว สรุปคือห้ามเอาภาษีของกูไปให้การบินไทย ถ้าให้ ปชช. ต้องสามารถขึ้นเครื่องบินฟรี เพราะเอาภาษีไปจ่ายเป็นค่าตั๋วก่อนแล้ว
    25 พ.ค. 2563 เวลา 02.10 น.
  • 1 LEVEL 🎱 🐒
    มืออย่าบิดาข้างถนนก็แก้ไขได้... ✈🛑 เพราะ IS ผู้แทนราษฎร
    25 พ.ค. 2563 เวลา 02.04 น.
ดูทั้งหมด