ทั่วไป

'เฉลิมชัย' เตรียมตัวหลังความตาย กำชับเงินหมุนเวียนในวัดร่องขุ่นห้ามเกิน 200 ล้าน ช่วยโรงพยาบาล-โรงเรียนเพิ่ม

MATICHON ONLINE
อัพเดต 27 พ.ค. 2561 เวลา 04.24 น. • เผยแพร่ 27 พ.ค. 2561 เวลา 03.04 น.

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เปิดเผยว่าตนได้ทุ่มเทชีวิตในการสร้างสรรค์ศิลปะที่วัดร่องขุ่นให้เป็นสมบัติของชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันได้รับการจัดอันดับจากนานาชาติให้เป็นวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนในช่วงฤดูฝนหรือโลว์ซีซั่นมากถึงกว่า 2,200-2,600 คนต่อวัน และหากเป็นฤดูหนาวหรือไฮซีซั่นจะสูงถึงกว่า 3,000-4,500 คนต่อวันขึ้นไป ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวที่ไปเยือนวัดร่องขุ่นต่อปีสูงขึ้นอย่างมหาศาล

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าและเคเบิ้ลบริเวณถนนหน้าวัดร่องขุ่นให้ลงสู่ใต้ดินหมด ทำให้วัดมีทัศนียภาพที่งดงามยิ่งขึ้นจึงทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มีรสนิยมด้านความงดงามเดินทางไปเยือนมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นตนจึงได้วางแผนเพื่อรองรับอนาคตเพื่อให้วัดร่องขุ่นเป็นวัดของประเทศชาติอย่างแท้จริงต่อไป โดยการจัดระบบการบริหารภายในต่อพนักงานภายในวัดที่มีอยู่ประมาณ 150 คนให้มีระบบลงตัว สามารถบริหารจัดการกันเองได้เมื่อตนเสียชีวิตไปแล้ว การบัญชีเรื่องเงินที่เข้าบัญชีของวัดทั้ง 3 บัญชีและเงินที่ออกจากบัญชีตลอดระยะเวลาประมาณ 30 ปีได้รับการบันทึกและจัดส่งสำนักพระพุทธศาสนาแล้วอย่างละเอียด แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สถานที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติได้ในภายภาคหน้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ในอนาคตวัดจะสามารถอยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการกองทุนของวัดเอง โดยกำหนดให้มีเงินกองทุนภายในวัดได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยส่วนนี้จะนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการภายใน ซ่อมแซมและทำนุบำรุงวัดโดยไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไปอีก หากว่าตนได้จากไปแล้วซึ่งได้คำนวณแล้วว่าจำนวนเพียงแค่นี้เพียงพอ ส่วนรายได้ที่เข้าสู่บัญชีวัดที่เกินไปกว่านี้จะนำไปบริจาคทางสาธารณะโดยมุ่งไปที่ด้านสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลเชียงรายประจำจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการบริจาคนำร่องไปก่อนหน้านี้แล้วเพียงแต่สังคมอาจจะยังไม่รับทราบมากนัก นอกจากนี้ ยังมีแผนให้บริจาคไปยังสถานที่เพื่อการกุศลอื่นๆ เช่น โรงเรียน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม วัดยังคงการบริหารเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามเหมือนเดิม โดยภายในวัดจะไม่อนุญาตให้มีการนำสิ่งของไปค้าขายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการนำสายไฟฟ้าลงดินหมดแล้วก็ยิ่งสวยงาม ส่วนบริเวณด้านหน้าวัดที่เป็นศูนย์อาหารและร้านค้าต่างๆ นั้นแท้ที่จริงแล้วอยู่ในเขตนอกพื้นที่วัด แต่ตนได้เข้าไปช่วยจัดประชุมหารือและแนะนำให้มีการก่อสร้างและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมลงตัวกับสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดร่องขุ่นซึ่งบรรดาร้านค้าอาคารต่างๆ ต่างเห็นความสำคัญและร่วมมือกันเป็นอย่างดี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 85
  • Nengzapy456
    เชื่อว่าอะไรที่อาจารย์คิดอะไรที่อาจารย์ทำจะส่งผลดีกับพวกเราคนเหนือไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ส่วนคอมเม้นที่ไม่ดีก็ถือซะว่ามันเป็นพวกที่ยกมือสองข้างทางที่เราจะเดินขึ้นไปบนวิมานขาวที่ท่านอาจารย์ปั้นไง ใครเคยไปจะรู้ที่ยกไม้ยกมือนั่นคืออะไร
    27 พ.ค. 2561 เวลา 21.59 น.
  • ¥>Aramsmith<¥
    อาจารย์แม่ง พูดจา โผงผาง ตรงไปตรงมา จริงใจดีครับ
    27 พ.ค. 2561 เวลา 21.13 น.
  • ฐิติมา (กุ๊ก)
    ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ คิดดี ทำดีตลอด
    27 พ.ค. 2561 เวลา 14.54 น.
  • pornthip
    โมทนาสาธุบุญค่ะ หลักคิดดี ทำดีเป็นตัวอย่างที่ดีมากค่ะ
    27 พ.ค. 2561 เวลา 14.46 น.
  • K.THANAPRON
    บุญต่อบุญ สาธุ สาธุ
    27 พ.ค. 2561 เวลา 14.25 น.
ดูทั้งหมด