แนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนนหลวง 108 ในพื้นที่เชียงใหม่-จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ผู้เชี่ยวชาญของแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร จังหวัด เชียงใหม่ (สอจร.เชียงใหม่) กล่าวว่า เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้สัญจรเพื่อเดินทางไปยังดอยอินทนนท์ และ จ.แม่ฮ่องสอน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เมื่อปี 2560 เส้นทางสายนี้ระยะทาง 31 กม. มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 13 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น ที่ถูกรถจากต่างถิ่นชนจนเสียชีวิต
จากนั้น จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาสถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ และดำเนินการหากล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ เพื่อให้ถนนสายนี้มีความปลอดภัย โดยการสนับสนุนของ Safer Road Foundation ( SRF ) ของประเทศอังกฤษ เปิดศูนย์ปฏิบัติการ ควบคุมตรวจจับความเร็วตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรับกล้องตรวจจับความเร็ว จำนวน 5 ตัวแบบครบวงจร มูลค่า 13 ล้านบาท ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการจับปรับผู้ขับรถเร็วเกินกว่า 80 กม.ต่อ ชม. เป็นเงิน 1,000 บาท ซึ่งได้ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วมาแล้ว 1 เดือน พร้อมเตรียมส่งมอบให้เทศบาลในวันนี้เพื่อดำเนินการดูแลต่อไป โดย สภ.จอมทอง จะเป็นผู้รับผิดชอบ จับปรับผู้ฝ่าฝืน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้แก้ไขการลดอุบัติเหตุโดยใช้ขาตั้งตรวจจับความเร็ว แต่ไม่ได้ผล และติดขัดปัญหาบางประการ เช่น ไม่สามารถใช้งานได้ในเวลากลางคืน หรือกรณีฝนตก จึงนำกล้องตรวจจับความเร็วมาใช้ เนื่องจากการติดตั้งกล้องนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วทางหลวงสาย118 ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่ จากแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 รายต่อปี จนในปี 2561 หลังติดตั้งกล้องแล้ว มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย ขณะที่การทำงานของกล้องตรวจจับความเร็วนี้ ในจุดแรกจะติดป้ายเตือนให้ลดความเร็ว หลังจากนั้นจะผ่านป้ายเตือนวัดความเร็ว ซึ่งจะมีตัวเลขกำกับและเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นตัวเลขสีแดงหากรถใช้ความเร็วเกิน 80 กม.ต่อ ชม. และในอีก 500 เมตร จะถึงจุดตรวจจับความเร็ว หลังจากนี้ตั้งเป้าว่าผู้ใช้ถนนบริเวณทางหลวง 108 จะลดความเร็วให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และมีผู้เสียชีวิตน้อยลงจากเดิมร้อยละ 90
ด้าน รศ.ลำดวน ศรีศักดา ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจร อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ถนนสาย 108 เป็นถนนสายยาว เดิมมี 2 ช่องจราจร ผู้ขับขี่จึงใช้ความเร็วไม่มาก จนได้ปรับปรุงสภาพถนน เป็น 4 ช่องจราจร และมีผิวทางเรียบ ทำให้รถยนต์ที่สัญจรไปมาใช้ความเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีรถบรรทุกขนถ่ายสินค้าสัญจรเป็นประจำ จึงเชื่อว่า ความเร็วเป็นจุดตั้งต้นของการเกิดอุบัติเหตุ และความรุนแรง นอกจากผู้ใช้รถใช้ถนนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ความเร็วแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังอย่างเดียวเพื่อแก้ปัญหาก็ทำไม่ได้ จึงได้นำกล้องตรวจจับความเร็วมาช่วยกำลังคนที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชม. โดยจะมีส่วนทำให้ความเร็วที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุลดลง
เกตุกนก ครองคุ้ม รายงานจากจ.เชียงใหม่