ชาวเน็ตด่ายับ ชาวเน็ตรุมจวก ชาวเน็ตแห่แชร์ฯลฯ สารพัดการกระทำที่ชาวเน็ตทำ แล้วชาวเน็ตคือใครกันแน่? ตอบเลยว่าชาวเน็ตอาจเป็นคุณนั่นแหละค่ะ
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตบนสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, LINE, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ หรือพื้นที่ออนไลน์อื่น ๆ คุณก็เป็นชาวเน็ตไปครึ่งหนึ่งแล้วนะ ยิ่งสมัยนี้พอโซเชียลมีเดียบูมขึ้นเรื่อย ๆ ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ทุกคนเล่นเป็นกันหมด โซเชียลเลยกลายเป็นโลกเสมือนขึ้นมาอีกใบ ที่ส่งเสริมให้ชาวเน็ตมีอิทธิพลมากเข้าไปอีก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสร้างตัวตนออนไลน์ขึ้นมาทำให้เรากลายเป็นอีกร่างหนึ่งได้โดยไม่รู้ตัว ดังที่เห็นกันตามข่าวดัง ๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ไหนจะเรื่องเด็กติดเกมส์คลั่ง หนุ่มแว่นหัวร้อน รวมถึงคลิปต่าง ๆ ตามไทม์ไลน์ที่เต็มไปด้วยคอมเมนต์หยาบคาย คุณรู้หรือไม่ว่าการกระทำเหล่านี้มีความสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายนะคะ มันก็เหมือนในสังคมจริงนั่นแหละค่ะ ในเมื่อมีคนดีก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่ด้วยเป็นธรรมดา ส่วนบรรดาชาวเน็ตที่ไม่น่ารักมีแบบไหนบ้าง ห้องแนะแนว รวบรวมมาไว้แล้ว!
ล่าแม่มด
ชาวเน็ตตัวดีชอบตามไล่ลาหา ‘ผู้ต้องสงสัย’ ในประเด็นต่าง ๆ มารับผิดชอบเรื่องราว แต่กลายเป็นว่าชาวเน็ตเหล่านี้ไปลากใครก็ไม่รู้มาเกี่ยวข้องแบบงง ๆ คนนั้นก็เลยกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เรื่องนี้เกิดจากชาวเน็ตที่ขาดสติ คิดว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาตัดสินอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเอง แต่นั่นกลายเป็นละเมิดความเป็นส่วนตัวคนอื่นไปซะอย่างนั้น แบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายนะคะ
ลามปาม
เมื่อการล่าแม่มดคนเดียวมันไม่เพียงพอ ชาวเน็ตก็จะเริ่มไปสู่โซเชียลมีเดียของญาติโกโหติกาของคนนั้นอีกด้วย ไม่ว่าจะแชร์ ไปคอมเมนต์เสีย ๆ หาย ๆ เซฟภาพมาโพสต์ มาส่งต่อ เพราะคิดว่าการกระทำเหล่านี้จะถูกต้อง โดยที่ไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้น่ะ ผิดมหันต์!
นักขุด
เห็นกันบ่อย ๆ ตามโพสต์ในเฟซบุ๊ก เวลามีใครสักคนทำอะไรไม่ดี แล้วชาวเน็ตไม่พอใจเอามาก ๆ คนเหล่านั้นจะโดนขุด ขุด และขุด! คุ้ยประวัติไปยันวันที่เปิดเฟซบุ๊กเลยทีเดียว สารพัดรูป สารพันสเตตัสจะถูกนำมาเปิดวาร์ปในโลกออนไลน์ ประจาน ส่งต่อออกไปจนคนนั้นแทบใช้ชีวิตในสังคมต่อไม่ได้เลย บางทีชาวเน็ตอาจจะลืมไปว่าคนเราก็มีอดีตกันทั้งนั้น และไม่ควรตัดสินใครจากสิ่งแบบนี้ซะทีเดียว
โยงการเมืองได้ทุกเรื่อง
รู้กันแล้วว่าการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้ง การเมืองคือเรื่องของทุกคน แต่คุณคะ ไม่ใช่ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ที่จะสามารถโยงการเมืองได้เสมอไปเนอะ บางทีอ่านข่าวบันเทิงอย่างลูกดาราน่ารัก คนดังทำความดี ก็ไม่วายจะเจอคอมเมนต์ประเภท สลิ่ม! เสื้อแดง! เผาบ้านเผาเมือง! พักก่อนค่ะ ตั้งสตินะชาวเน็ต ย้ำอีกรอบว่า ไม่ใช่ทุกเรื่องจะต้องเป็นการเมืองเสมอไป
ด่าเอาสะใจ
ชาวเน็ตบางส่วน (หรือนักเลงคีย์บอร์ดที่เรียกกัน) มักไม่มีความรับผิดชอบในคำพูด ชอบแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เอะอะขอคอมเมนต์หยาบคายไว้ก่อน ประหนึ่งว่าเป็นคู่กรณีเสียเอง บ่อยครั้งที่เห็นคำด่าทอ hate speech ที่พ่นออกมาเป็นตัวอักษร รุนแรงซะจนแทบเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยิ่งสมัยนี้ประเด็นการบูลลี่ยิ่งมาแรง ไม่เว้นทั้งคนดัง คนธรรมดา เพียงเพราะต้องการด่าเพื่อความสะใจ เหล่านี้เองที่ทำให้สังคมออนไลน์ยิ่งแย่ลงทุกวัน
สายดูด
ชาวเน็ตสายดูด ชอบจุ๊บข้อมูล ชอบดาวน์โหลดภาพ คลิปจากโซเชียลมีเดียโดยไม่ใส่เครดิต ไม่ให้คุณค่าต่อต้นฉบับ โดยเฉพาะสมัยนี้เจอบ่อยมาก ๆ เพราะไม่เคารพในสิขสิทธิ์ของเจ้าของโพสต์ ทั้ง ๆ ที่การกดแชร์มันทำง่ายกว่าการโหลดการดูดคลิปตั้งเยอะนะคะ ใครที่ชอบทำแบบนี้ หยุดดีกว่าค่ะ
ชอบของเก๊
กลุ่มนี้เป็นคนชอบของ ‘ปลอม’ ของ ‘เท็จ’ ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอม ข้อมูลปลอม รับข้อมูลมาแล้วก้มหน้าก้มตาส่งต่อ หลับหูหลับตาแชร์ออกไปโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าจริงหรือไม่ บางครั้งมันอาจส่งผลเสียเป็นวงกว้าง เพียงแค่ข่าวลือที่เราแชร์กันออกไปโดยไม่ยั้งคิด อาจจะสร้างความตื่นตระหนก หรือส่งผลร้ายต่อใครหลาย ๆ คนได้มากอย่างที่คาดไม่ถึง
แอบถ่าย
เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง โพสต์แบบนี้เรามักจะเห็นตามเพจ ตามทวิตเตอร์ ในทำนอง คนหล่อบอกต่อด้วย สาวสวยช่วยกดไลก์ อะไรประมาณนี้ ก็คือไปแอบถ่ายหน้าถ่ายตาชาวบ้านเขามาโพสต์ลงโลกออนไลน์ โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม ไม่รับรู้ เห็นอีกทีก็กลายเป็นคนดังในโลกโซเชียลแบบข้ามคืน แบบนี้ผิดกฎหมายชัด ๆ เลย แก้ตัวไม่ได้แล้ว
อินเกิน
เรื่องบางเรื่อง แม้จะเกิดขึ้นกับคนอื่น แต่มักจะมีชาวเน็ตที่รู้สึกอินจัด เสมือนเรื่องนั้นเกิดขึ้นกับตัวเองเข้าไปร่วมในกระแสนั้นด้วย อย่างข่าวหนุ่มแว่นหัวร้อนเมื่อวันก่อน ที่คนจำนวนมหาศาลไปดักรอเจอผู้กระทำผิดที่หน้าโรงพัก เพียงเพราะรู้สึกอินเกินไป แบบนี้ไม่ดีนะคะ แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะไม่ถูกต้อง ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่าลืมว่าชาวเน็ตไม่ใช่ผู้พิพากษาค่ะ
ฝากร้านหน่อยจ้า
ฮอตมาก ฮิตมาแต่ไหนแต่ไหน ฝากร้านหน่อยค่ะ ใครจะคอมเมนต์อะไร ใครจะลงรูปสวยแค่ไหน ไม่สนใจ ฉันจะทำมาหากิน! แรก ๆ ก็โพสต์กันโต้ง ๆ นั่นแหละ แต่ชาวเน็ตแม่ค้าระยะหลังมีอัปสกิล เริ่มจะคอมเมนต์ร่วมด้วยกับประเด็นนั้น ๆ ก่อนแล้วค่อยฝากร้านเนียน ๆ ทีหลัง บางทีหาคอมเมนต์เลิศ ๆ ไม่เจอเลย เจอแต่ขายของ เห็นแล้วเพลียใจ
แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการกระทำของชาวเน็ตแบบนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย เผลอ ๆ จะโดนฟ้องแบบไม่รู้ตัว งั้นเรามาดูข้อกฎหมายกันบ้างว่าการกระทำแบบไหนเข้าข่ายจะโดนฟ้องได้
กฎหมายหลัก ๆ ที่ครอบคลุมการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ก็ต้องเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 โดยเฉพาะ
มาตรา 14 ที่ควรระวัง ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ความผิด ได้แก่
- โพสต์ข้อมูลเท็จ ข้อมูลปลอม หลอกลวง ข่าวปลอม
- โพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
- โพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการก่อการร้าย
- โพสต์ข้อมูลลามก อนาจาร ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
- ส่งต่อ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทั้งข้อ 1-4
หากการกระทำนี้ส่งผลให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับความเสียหาย ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากส่งผลให้ประชาชนส่วนรวมได้รับความเสียหาย โทษก็จะสูงขึ้น เป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 15
ให้ความร่วมมือ รู้เห็นเป็นใจต่อผู้กระทำผิด (คอมเมนต์ที่ผิดกฎหมายตามเพจเฟซบุ๊กต่าง ๆ) หากลบออกก็จะพ้นความผิด แต่หากไม่ลบออกแล้วเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา จะต้องรับโทษเช่นเดียวกับคนโพสต์เลยทีเดียว
หมิ่นประมาท
เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยผู้กระทำความผิดได้โพสต์ใส่ความบุคคลที่สาม ทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีอีกแบบคือ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คือโพสต์ด้วยเอกสาร ภาพ หรือตัวอักษร ให้กระจายไปยังผู้รับรู้จำนวนมากขึ้น โทษจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
ฝากร้าน
แม่ค้าพ่อค้ามารวมตรงนี้! รู้ไหมว่าฝากร้านตามโซเชียลมีเดียผู้อื่นมันผิดกฎหมายนะจ๊ะ โดยผิดพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 11 คือพฤติกรรมของการส่งข้อความซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของโพสต์ ถือเป็นสแปม (ข้อความก่อกวน) มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
กฎหมายลิขสิทธิ์
แอบดาวน์โหลดภาพ คลิปวิดีโอ หรือก๊อปปี้ข้อความจากคนอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต แถมไม่ให้เครดิตต้นทาง มีความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ มีโทษปรับตั้งแต่ 2 หมื่น - 2 แสนบาท และหากละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า หรือนำไปใช้เชิงพาณิชย์ จะมีโทษสูงขึ้น คือจำคุก 6 เดือน - 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน - 8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
น่ากลัวใช่ไหมล่ะคะ แม้ว่าสังคมออนไลน์จะเอื้อให้ชาวเน็ตแบบเราเป็นคนนิรนามได้กว่าโลกความจริง แต่นั่นไม่ใช่ข้อยกเว้นให้ชาวเน็ตทำอะไรตามใจได้เสมอไป เพราะฉะนั้นหากรักจะเป็นชาวเน็ต ก็ต้องเป็นชาวเน็ตที่ดีด้วย โดยพกอาวุธไม่ลับ 2 ข้อนี้ก่อนจะคอมเมนต์ แชร์ หรือส่งต่อข้อมูลใด ๆ คือ 1.สติ และ 2.ความรับผิดชอบ คิดก่อนโพสต์ทุกครั้งจะช่วยให้สังคมออนไลน์ดีขึ้นเป็นกองเลยล่ะค่ะ
.
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://ictlawcenter.etda.or.th/files/law/file/80/59100b296f08176ad3bd2c1615489253.pdf
★~𝙍𝙪𝙣𝙣~★ ที่ด่าๆกันอ่ะ.. ใน Line Today เจอโคตรเยอะ โดยเฉพาะข่าวการเมือง
25 ต.ค. 2562 เวลา 01.51 น.
benevolence ถ้าเป็นเช่นนี้ สังคมก็คงจะช่วยเหลือกันไม่ได้ เมื่อมีใครต้องการความช่วยเหลือ และคนชั่วก็คงลอยนวลอย่างง่ายดาย กฎหมายคิดขึ้นมาเพื่อใครครับ? เพื่อประชาชนตาดำๆ หรือคนชั่วเลวๆ?
25 ต.ค. 2562 เวลา 00.19 น.
Gaï 9899🥂✨ ชีวิตยุคก่อน ดิจิตอล ...ทำไมอยู่กันมาได้ ไม่วุ่นวายเท่ายุคนี้
....คิดดู!!
25 ต.ค. 2562 เวลา 02.28 น.
S.Sawadwor กระทรวงไอซีทีคงต้องมีบุคลากรสัก50ล้านคนอ่ะถึงจะสอดส่องได้ครบ
24 ต.ค. 2562 เวลา 23.59 น.
James Jitt แล้วมันจับคนทำผิดจริงๆได้เท่าไหร่เทียบกับจำนวนคนทำผิดครับ เห็นเต็มโซเชียลไปหมเ
25 ต.ค. 2562 เวลา 02.28 น.
ดูทั้งหมด