ทั่วไป

ทำไมอาจารย์กฎหมายจึง ‘อยู่เป็น’ ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

The101.world
เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 17.14 น. • The 101 World

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

รัฐประหารและหลักวิชาทางกฎหมาย

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หากพิจารณาจากแง่มุมทางด้านนิติศาสตร์ ปฏิบัติการจากการรัฐประหารครั้งเมื่อ พ.ศ. 2557 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในเชิงภาพรวม

ไม่ว่าจะเป็นการขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารแทรกเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม การบัญญัติกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน การตีความกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร กรณีเหล่านี้นับเป็นตัวอย่างอันสำคัญที่ทำให้ระบบกฎหมายภายใต้ยุค คสช. (รวมทั้งที่สืบเนื่องต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน) ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

การกระทำในลักษณะเช่นนี้ขัดแย้งกับหลักวิชาหรือระบบความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างมาก แนวคิดทางด้านกฎหมายซึ่งเป็นที่รับรู้และถูกพร่ำสอนกันในสถาบันด้านนิติศาสตร์ได้วางหลักการเกี่ยวกับโครงสร้าง กระบวนการ และระบบความรู้ที่พยายามจำกัดอำนาจของรัฐในความสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายในยุคสมัยใหม่ที่มุ่งให้ความคุ้มครองกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจากการรัฐประหารในคราวนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม คำถามที่จะให้ความสนใจในที่นี้ก็คือว่า บรรดาผู้สอนหลักวิชากฎหมายซึ่งมีหน้าที่ถ่ายทอดหลักวิชากฎหมายอันสูงส่งที่ถูกเหยียบย่ำโดยท็อปบูท (ซึ่งควรนับว่าเป็นการเหยียดหยามกันอย่างไม่ไว้หน้า) แต่เพราะเหตุใดบรรดา 'อาจารย์กฎหมาย' ในสถาบันการศึกษานิติศาสตร์ในสังคมไทยจึงพากันเงียบงันต่อการรัฐประหารครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง

อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อาจารย์กฎหมาย 'อยู่เป็น' โดยไม่มีการแสดงออกเพื่อปกป้องหลักการทางกฎหมายที่พร่ำสอนต่อลูกศิษย์ทั้งในห้องเรียน ตำรา หรือแม้กระทั่งในวิชาชีพของตน

 

ความเงียบงันภายใต้การครอบงำ

 

การตอบคำถามนี้แบบง่ายที่สุดก็ด้วยการโยนไปที่ปัจจัยส่วนตัว โดยเฉพาะคำอธิบายว่าโดยส่วนใหญ่แล้วบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนมากมักจะสังกัดอยู่ในชนชั้นกลางจึงทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็น 'เสื้อเหลือง' หรือไม่ก็ 'เป่านกหวีด' อันแสดงให้เห็นถึงการยืนอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ให้การสนับสนุนต่อการรัฐประหาร

เป็นที่ชัดเจนว่าอาจารย์กฎหมายจำนวนไม่น้อยก็มีจุดยืนทางการเมืองไปในทิศทางดังกล่าว จึงย่อมเป็นการยากที่พวกเขาเหล่านั้นจะออกมาคัดค้านต่อการรัฐประหาร เพราะการยึดอำนาจคือทางออกแบบหนึ่งสำหรับการธำรงสังคมที่เป็นอยู่ให้ดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากแนวความคิดในเชิงส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่ายังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่มีผลอย่างสำคัญต่อการทำให้อาจารย์กฎหมายจำนวนไม่น้อยต้องสงบปากสงบคำ แม้ว่าอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร อย่างน้อยก็ในสองปัจจัยด้วยกัน

ประการแรก ระบบการจ้างงานที่สร้างความไม่มั่นคงให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัย

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบการจ้างงานในมหาวิทยาลัยในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้สถานะของอาจารย์โดยทั่วไปไม่ใช่ข้าราชการเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต แต่กลับกลายเป็น 'พนักงานมหาวิทยาลัย' ซึ่งระบบการจ้างงานจะขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดขึ้นว่าจะจ้างงานในลักษณะอย่างไร มีสัญญาในรูปแบบใด

ในหลายแห่ง การจะได้รับสัญญาจ้างงานแบบถาวรจนกระทั่งอายุ 60 ปี ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อผ่านการคัดเลือกหรือเมื่อผ่านการทดลองงานในห้วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากจะต้องผ่านสัญญาจ้างแบบ 1 ปี แล้วค่อยๆ ขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นเป็นจำนวนสามครั้งหรือสี่ครั้งกว่าที่บุคคลนั้นจะได้สัญญาแบบถาวร อันหมายถึงบุคคลต้องอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบมีระยะเวลาจำกัดยาวถึง 10 ปี และนอกจากการใช้เงื่อนเรื่องระยะเวลามาเป็นข้อกำหนดแล้วยังบวกด้วยเงื่อนไขของตำแหน่งทางวิชาการว่าต้องไม่ต่ำกว่าระดับรองศาสตราจารย์เข้ามาเป็นประกอบเพิ่มในบางแห่ง

ภายใต้เงื่อนไขการจ้างงานในลักษณะดังกล่าว หากอาจารย์คนใดคนหนึ่งถูกมองว่าประพฤติตน 'ไม่เรียบร้อย' หรือ 'กระด้างกระเดื่อง' ไม่ว่าจะต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ใหญ่กว่าผู้บังคับบัญชาก็อาจเผชิญกับปัญหาได้ไม่ยาก โดยที่เป็นสัญญาการจ้างแบบมีระยะเวลาจำกัด บรรดาผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่จะไม่ได้เลิกจ้างในทันทีหากเห็นว่าอาจารย์ดังกล่าวมีความประพฤติเข้าข่ายดังที่กล่าวมา แต่จะใช้วิธีการไม่ต่อสัญญาเมื่อครบระยะเวลาการจ้างงาน

การไม่ต่อสัญญาเป็นการกระทำที่ฝ่ายนายจ้างมีความได้เปรียบในแง่มุมทางกฎหมายมากกว่าการเลิกจ้างในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับใช้อยู่ โอกาสที่อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยจะประสบชัยชนะในการต่อสู้คดีเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงตกอยู่ในสถานะของการจ้างงานแบบไม่มั่นคง

แม้อาจมีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับหลายเหตุการณ์ซึ่งอาจรวมถึงการรัฐประหาร แต่เนื่องจากต้นทุนของการแสดงความเห็นหรือการคัดค้านอาจส่งผลต่อเจ้าตัวอย่างมาก จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะ 'อยู่เป็น' มากกว่า

ประการที่สอง สภาวะของระบบการศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาเปิดสอนด้านนิติศาสตร์เพิ่มมากขึ้นทั้งสถาบันเอกชนและมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้ต้องพึ่งพาอาศัย 'อาจารย์พิเศษ' จำนวนมาก บรรดาอาจารย์พิเศษเหล่านี้ก็ล้วนมาจากสถาบันการศึกษากฎหมายที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือไม่ก็สังกัดอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทางด้านกฎหมาย เช่น ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ อัยการ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้มีผลอย่างสำคัญสำหรับอาจารย์กฎหมายในสถาบันที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีทั่วไปว่านักกฎหมายชั้นนำในหน่วยงานด้านกฎหมายของสังคมไทยทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา มีแนวโน้มที่จะเป็น 'เนติบริกร' ในการรับใช้ต่อคณะรัฐประหาร ซึ่งแสดงออกให้เห็นทั้งในด้านของการวินิจฉัยรับรองความชอบธรรมของอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร การเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จัดตั้งและสนับสนุนโดยรัฐประหาร

คงเป็นไปได้ยากที่คณบดีจะทำจดหมายเชิญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นอาจารย์พิเศษ แล้วคณบดีหรืออาจารย์ในสถาบันนั้นๆ จะมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเร่าร้อน

หรือการเชิญอาจารย์อาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นเนติบริกรให้กับคณะรัฐประหารไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันหรือบรรยายพิเศษ อาจารย์คนใดในสถาบันเหล่านั้นจะกล้าตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง พร้อมกันไปกับการทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษก็อาจมีการดึงเอาบุคลากรในสถาบันการศึกษาแห่งนั้นเข้าไปเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ช่วย ฯลฯ ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร กรณีเช่นนี้จึงเป็นการสร้างเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการของคณะรัฐประหารให้เข้ามาครอบงำจิตวิญญาณของสถาบันการศึกษากฎหมายในหลายแห่ง เมื่อได้รับผลประโยชน์จากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรัฐประหารก็ยิ่งทำให้หลักวิชามีความหมายที่เบาบางลง

เครือข่ายในลักษณะนี้เป็นการสร้างสภาวะ 'การศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม' ให้ควบคู่ไปกับความเฟื่องฟูของการศึกษากฎหมายในสังคมไทย

 

ออกไปจากสภาวะอยู่เป็นเชิงโครงสร้าง

 

บทความชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดอาจารย์กฎหมายจำนวนหนึ่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันด้านกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นใหม่) จึงต้องเลือกหนทางการมีชีวิตแบบ 'อยู่เป็น' ทั้งที่การรัฐประหารได้กระทบต่อระบบความรู้และหลักวิชาที่ตนเองพร่ำสอนแก่ลูกศิษย์

แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยส่วนตัวอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปก็คือ ปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้งในส่วนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าความเงียบงันหรือการยอมจำนนต่ออำนาจรัฐประหารของอาจารย์กฎหมาย (และอาจรวมไปถึงนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อย) มีปัจจัยหลากหลายประการมากกว่าเพียงความชอบหรือความเกลียดชังส่วนตัวเท่านั้น

หากต้องการเห็นการเคลื่อนไหวทางความคิดที่เสรีก็มีความจำเป็นที่จะต้องมองเห็นการครอบงำของปัจจัยโครงสร้างเหนือตัวปัจเจกบุคคลไปด้วยพร้อมกัน การสร้างระบบการจ้างงานที่มีความมั่นคงรวมถึงความพยายามสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของสถาบันการศึกษากฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ล้วนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก

ต่อให้มีสถาบันการศึกษากฎหมายเกิดขึ้นอีกเป็นร้อยแห่งพันแห่งในสังคมไทย แต่ตราบเท่าที่ยังไม่อาจสลัดหลุดจากระบบการศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม ก็ยากที่จะหวังว่าเสียงจากหลักวิชาการทางกฎหมายจะก้องกังวานในสังคมแห่งนี้

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • €¥£
    เพราะประโยชน์ในวงกว้างมันมากกว่า นักกฎหมายย่อมรู้ว่า นักการเมืองชั่ว หน้าด้าน พลิก และแถ เก่งยิ่งกว่าปรสิต กฎหมายเก่า เอาไม่อยู่ ดูง่ายๆ นักการเมืองแถ ว่าทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม จริงๆก็คือการทำผิดกฎหมาย อาศัยช่องว่างซิกแซ็กและหาช่องทางแถ สุดท้ายก็โทษกฎ ว่าละเมิดนั่นนี่ กฎผิด แต่ตัวไม่ผิด ประดุจดังเล่นกีฬา แต่ตุกติก โดนจับฟาล์ว ใบแดงออก ก็โทษว่ากติกามันห่วย ทั้งๆที่รู้และรับกติกานั้นแต่แรก กติกาจะห่วยเมื่อตนผิดเท่านั้น ถ้าไม่มีกฏระเบียบที่เข้มงวด คงไม่มีอะไรป้องกันปรสิตการเมืองเหล่านี้ได้
    12 พ.ย. 2562 เวลา 23.02 น.
  • ง่ายๆ ไม่ต้องวิเคราะห์ห่าเหวอะไรหรอก! เพราะ..เงิน และตำแหน่งทางการเมือง จบข่าว!
    12 พ.ย. 2562 เวลา 18.12 น.
  • TiTle_Arch
    ถูกเลีมาแนว อนุรักษ์นิยม. ติดต่อมาจากพ่อแม่ และการดำเนินชีวิตในครอบครัว ถูกปรูพื้นฐาน ในครอบครัว ถ้าเปลี่ยน ระบบภายในครอบครัว ทุกอย่าง ก็จะค่อยๆดีขึ้น
    12 พ.ย. 2562 เวลา 23.11 น.
ดูทั้งหมด