ทั่วไป

ฮือฮา พวงหรีดจักยาน ชี้ ดอกไม้สดถูกทิ้งสร้าง "มีเทน" ทำอุณหภูมิโลกสูงกว่า "คาร์บอนไดออกไซด์" 23 เท่า

MATICHON ONLINE
เผยแพร่ 14 ก.ค. 2560 เวลา 15.00 น.

วันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่บริเวณ ศาลา 1 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร มีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลของ นางอุดมศรี สินธุนาวา มารดาของ ผศ.จิรพล สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ศาลาที่ตั้งสวดศพดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เดินทางไปยังวัดจำนวนมาก เพราะปกติแล้วบริเวณศาลาสวดศพทั่วไปจะมีพวงหรีดดอกไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่สำหรับงานสวดศพของนางอุดมศรีนั้น เจ้าภาพได้ประกาศของดพวงหรีดดอกไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ขอให้ใช้เป็นรถจักรยานแทน ทำให้บริเวณรอบๆศาลา เต็มไปด้วยรถจักรยานยี่ห้อ และรุ่นต่างๆ ทั้งแขวน และจอดอยู่จำนวนมาก โดยจักรยานทุกคัน จะติดชื่อเจ้าของ ที่ทำมาเพื่อแสดงมุทิตาจิต และไว้อาลัยต่อการจากไปของนางอุดมศรี โดยล่าสุดนั้น มีจักรยานอยู่ในศาลาทั้งสิ้น 60 คันด้วยกัน

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผศ.จิรพล สินธุนาวา

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ผศ.จิรพล ให้สัมภาษณ์ มติชนว่า ก่อนหน้านี้ที่บิดา ของตนได้เสียชีวิตลง ได้มีการพูดคุยกันกับมารดา และพี่น้องว่า งานศพของบิดานั้น ไม่ควรจะสร้างปัญหาให้วัดโดยการสร้างขยะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากดอกไม้ และโฟม ปรากฏว่า เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องต่างให้ความร่วมมือ นำจักรยานมาร่วมแสดงมุทิตาจิตจำนวนมาก เมื่อเสร็จจากงานศพก็ได้นำจักรยานไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลใน จ.ลพบุรี

“ต่อมา คุณแม่ของผมเสียชีวิตลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 91 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมและคุณแม่ได้คุยกันมาตลอดเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องสถานการณ์โลกร้อน จึงเห็นว่า เราจะต้องสานต่อเรื่องนี้ จึงบอกกับเพื่อนฝูง ญาติๆว่า หากจะเดินทางมาร่วมงานศพ ขอเปลี่ยนจากพวงหรีด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นรถจักรยาน เพื่อว่าเมื่อเสร็จจากงานแล้ว ก็จะนำไปให้นักเรียนโรงเรียนห่างไกลยืมใช้ หากท่านใดไม่สะดวกที่จะหารถจักรยานทางเจ้าภาพก็จะจัดหามาให้ โดยพวงหรีดทั่วไปราคาอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท แต่จักรยานราคาคันละ 1,500 บาท เป็นจักยานล้ออลูมิเนียม ไม่เป็นสนิม ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นักเรียนโรงเรียนใน จ.ลพบุรี เพราะก่อนหน้านี้ไปทำงานในจังหวัดดังกล่าว พบว่า หลายๆโรงเรียน นักเรียนต้องเดินทางเท้าเปล่าจากบ้านมาเรียนไกลมาก เวลานี้ ได้รับพวงหรีดจักรยานมาแล้วกว่า 60 คันด้วยกัน”รศ.จิรพล กล่าว

รศ.จิรพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพ ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ได้เล่าเจตนาดังกล่าวนี้ให้พระอาจารย์ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ฟัง พระอาจารย์เห็นด้วย และสนับสนุน พร้อมกับบอกว่า ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ นั้นก็พยายามที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากพวงหรีดทั้งดอกไม้แห้งและดอกไม้สดเช่นกัน โดยทางวัดฯบอกกับญาตโยมทุกคนว่า หากงานศพใดไม่มีพวงหรีดดอกไม้ หรือโฟม วัดจะให้ใช้ศาลาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
“เรื่องนี้ผมเองในฐานะผู้ที่พยายามบอกกับสังคม รวมไปถึงการปฏิบัติตัวมาตลอดเรื่องการลดปริมาณขยะเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตัวอินทรีย์สาร ซึ่งเป็นพวก ดอกไม้สด เศษอาหาร ที่อยู่ภายใต้การกดทับ ซึ่งก็คือ ดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวแล้ว หรือเศษอาหารที่ถูกทิ้งอยู่ในถุงดำนั้นเป็นบ่อกำเนิดของก๊าซมีเทน เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์นั้นมีความรุนแรงที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ด้วยกัน”ผศ.จิรพล กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไม ถึงไม่รับพวงหรีดที่เป็นต้นไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ผศ.จิรพล กล่าวว่า ต้นไม้นั้นดีมากหากมีการปลูกกันเยอะๆจะเป็นตัวช่วยซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี แต่จากการที่เคยเห็นมานั้นพบว่า ต้นไม้ที่อยู่ตามงานศพต่างๆส่วนมาก เมื่องานเสร็จไป ก็จะถูกวางกองเอาไว้มุมใด มุมหนึ่งของวัด ไม่ได้มีการเอาลงดิน ซึ่งหากมีการละเลยปล่อยให้เหี่ยวเฉา ไม่รดน้ำ ต้นไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดก๊าซมีเทนอีกเช่นกัน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นก็อาจจะมีประโยชน์สำหรับคนที่ยังไม่มีของสิ่งนั้น แต่พวงหรีดเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพัดลม ซึ่งหลายๆบ้านน่าจะมีใช้อยู่แล้ว เห็นว่าจักรยานเหมาะสมที่สุด

“ที่ผมทำเช่นนี้ เพื่อต้องการให้สังคมเห็นว่า การลดปริมาณขยะแบบนี้ เราทำได้จริงๆไม่ใช่สักแต่พูดลอยๆ อยากให้หน่วยงานราชการลองเอาแนวคิดแบบนี้ไปใช้ว่า ไปร่วมงานที่ไหน แทนที่จะเอาดอกไม้สดไปแสดงความยินดี หรือแสดงมุทิตาจิตใดๆก็น่าจะเปลี่ยนเป็นรถจักรยาน เพราะเวลานี้ยังมีเด็กๆในชนบทที่เดินทางจากบ้านเพื่อมาเรียนหนังสือ โดยการเดินเท้าไกลๆนั้นมีจำนวนมาก ได้ประโยชน์ ได้ช่วยดูแลเด็กๆในชนบท และได้เป็นส่วนหนึ่งวของการลดปัญหาโลกร้อนด้วย”รศ.จิรพล กล่าว

ผศ.จิรพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในประเทศจะต้องช่วยกัน ซึ่งการที่แต่ละคนช่วยกันลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์นั้นเป็นส่วนสำคัญมาก

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 81
  • Aof PKK
    คิดแล้วทำเป็นตัวอย่างด้วย ขอชื่นชมครับ
    14 ก.ค. 2560 เวลา 18.44 น.
  • 🍁BALL ボール🍁
    ขออนุโมธนาบุญในครั้งนี้ด้วย สาธุ
    14 ก.ค. 2560 เวลา 18.45 น.
  • HS5MT®
    ดีมากครับ
    14 ก.ค. 2560 เวลา 18.32 น.
  • muai earn
    ชอบไอเดียนี้ค่ะ
    14 ก.ค. 2560 เวลา 19.52 น.
  • TONG^^
    แหล่มเลย
    14 ก.ค. 2560 เวลา 18.12 น.
ดูทั้งหมด