ไลฟ์สไตล์

“จักรวรรดิสหรัฐอเมริกา” ผงาดในศึกชิง "คิวบา" จากสเปน สงครามที่พลิกโฉมสหรัฐฯ สู่มหาอำนาจ

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 06 พ.ย. เวลา 03.40 น. • เผยแพร่ 23 พ.ย. 2565 เวลา 11.02 น.
ภาพการรบระหว่างสหรัฐอเมริกากับสเปนบริเวณ Santiago de Cuba ภาพจาก Wikimedia

การก้าวเข้าสู่มหาอำนาจของจักรวรรดิสหรัฐอเมริกาและการเสื่อมถอยการเป็นมหาอำนาจของสเปน

จักรวรรดินิยมหมายถึงการยึดครองอาณานิคม หรือการขยายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งเข้าครอบงำอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจักรวรรดินิยมขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากการเติบโตด้านอุตสาหกรรมที่ต้องการตลาดสินค้าและแหล่งวัตถุดิบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในหมู่มหาอำนาจยุโรปรวมทั้งสเปนกำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น ส่วนสหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายขยายดินแดน (Manifest Destiny) โดยมีจุดหมายที่จะขยายดินแดนจากชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปจรดชายฝั่งแปซิฟิก

ความขัดแย้งในการแย่งชิงผลประโยชน์ของชาติยุโรปไม่ได้เป็นอุปสรรคมากนักต่อสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบโดดเดี่ยว (Isolationism) รวมทั้งวาทะมอนโร (Monroe Doctrine) ที่เตือนไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเข้ามาแผ่อำนาจจักรวรรดินิยมในทวีปอเมริกา

หลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1865) เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ขณะที่สเปนยังคงมีภาพลักษณ์การเป็นมหาอำนาจอันสืบเนื่องมาจากการค้นพบดินแดนต่าง ๆ แต่เศรษฐกิจภายในประเทศกลับถดถอย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 มหาอำนาจเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1898 ในการแย่งชิงคิวบา สงครามครั้งนี้ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายมาเป็น “จักรวรรดิสหรัฐอเมริกา”

การปฏิวัติคิวบา ค.ศ. 1895

จากบทความ การปฏิวัติคิวบาและสงครามสเปน-อเมริกา ของมัทนา เกษกมล ได้อธิบายว่า คิวบามีความพยายามปฏิวัติประกาศเอกราชจากการปกครองของสเปนถึง 9 ครั้ง กล่าวคือ สเปนได้ยึดคิวบาเป็นอาณานิคมโดยปกครองในลักษณะกดขี่ ขูดรีดทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และจำกัดสิทธิทางการเมือง อาทิ เอกสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล เป็นต้น ฉะนั้นโครงสร้างที่ไม่มีความเป็นธรรมจึงส่งผลให้ชาวคิวบาพยายามก่อการปฏิวัติอยู่เสมอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในสายตาของชาวอเมริกัน คิวบาก็นับว่าเป็นดินแดนสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ เพราะเป็นจุดที่เส้นทางการค้าทางทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโกมาบรรจบกัน รวมทั้งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเป็นพืชทางเศรษฐกิจของคิวบา จึงทำให้คิวบาเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา “อย่างไม่เป็นทางการ”

สาเหตุของสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับสเปนใน ค.ศ. 1898 คือ วิกฤติการณ์ในเกาะคิวบา ซึ่งเป็นอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของสเปนในทะเลแคริบเบียน โดยชาวคิวบาได้ก่อการกบฏขึ้นใน ค.ศ. 1895 เพื่อที่จะประกาศเอกราชจากสเปน แต่ได้ถูกสเปนปราบปรามอย่างทารุณอันทำให้สหรัฐอเมริกาเห็นโอกาสที่เหมาะสมในการเข้าแทรกแซงวิกฤติการณ์นี้

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 เรือรบเมนของสหรัฐอเมริกาได้ถูกระเบิดจมลงในอ่าวที่เมืองฮาวานาของคิวบา การระเบิดในครั้งนี้ได้ทำให้ชาวสหรัฐอเมริกาเสียชีวิต 266 คน โดยสาเหตุการระเบิดในครั้งนี้ทำให้สเปนถูกมองว่าเป็นผู้กระทำ

การระเบิดเรือเมนของสหรัฐอเมริกาผนวกกับรายงานเรื่องความพยายามการปฏิรูปคิวบาของสเปนดูเหมือนจะไม่ประสบผลสำเร็จ และดูเหมือนว่ารัฐบาลของสเปนจะพ่ายแพ้ต่อกลุ่มกบฏในคิวบา ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจช่วยชาวคิวบารบกับสเปนในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1898

สงครามสเปน-สหรัฐอเมริกา จบลงด้วยชัยชนะอย่างรวดเร็วของสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่สหรัฐอเมริกามิได้เตรียมพร้อมกับสงครามครั้งนี้เลย อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากความอ่อนแอของสเปน ทั้งในเรื่องกองเรือรบของสเปนด้อยประสิทธิภาพ กองกำลังที่แท้จริงอยู่ห่างไกลนับพัน ๆ ไมล์ ฉะนั้นสงครามครั้งนี้จึงเป็นการรบของสองประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และกำลังทหารอย่างเทียบกันไม่ติด

สหรัฐอเมริกาได้ก้าวเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจด้วยการทำสงครามกับสเปนพร้อมทั้งได้รับชัยชนะอย่างงดงามและได้เข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ในทะเลแปซิฟิกและแคริบเบียน ได้แก่ ฮาวาย หมู่เกาะเวกและเกาะกวม เปอร์โตริโก และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์

ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ขุดครองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเป็นผู้คุ้มครองดินแดนในแถบทะเลแคริบเบียนตลอดจนได้ทำการติดต่อทางการทูตและการค้าขายกับจีนและญี่ปุ่น

สหรัฐอเมริกาได้เข้าสถาปนาอำนาจในดินแดนเหล่านี้ด้วยเหตุผลว่าเพื่อยุทธศาสตร์ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ฉะนั้นสงครามในการช่วยคิวบาปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของสเปน จึงกลายเป็นวิถีทางเพื่อสถาปนาอำนาจของสหรัฐอเมริกาในต่างแดน และเปลี่ยนโฉมหน้าของสหรัฐอเมริกาให้กลายเป็นมหาอำนาจอาณานิคม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2524). สหรัฐอเมริกา : ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพ : บรรณกิจ

มัทนา เกษกมล. (2554). การปฏิวัติคิวบาและสงครามสเปน-อเมริกา. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, ปีที่ 19 ฉบับที่ 31.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 26 เมษายน 2565

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “จักรวรรดิสหรัฐอเมริกา” ผงาดในศึกชิง “คิวบา” จากสเปน สงครามที่พลิกโฉมสหรัฐฯ สู่มหาอำนาจ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ