ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สภากทม.เคาะตั้งคณะกรรมการ จ่ายหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 1.4 หมื่นล้าน

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 11 ก.ย เวลา 20.13 น. • เผยแพร่ 12 ก.ย เวลา 03.03 น.

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 14,549 ล้านบาท ก่อนรับหลักการต่อไป

ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 24 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาหลักการของร่างข้อบัญญัติดังกล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายใน 180 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมแล้ว

ตามหลักการได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เป็นจำนวนไม่เกิน 14,549,503,800 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยสี่สิบเก้าล้านห้าแสนสามพันแปดร้อยบาทถ้วน) เป็นรายจ่ายพิเศษจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร จึงขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะเดียวกันกทม.มีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทหมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับ

ข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานคร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า "ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .."

ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษ จำนวน 14,549,503,800 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้ งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการจราจรและขนส่ง งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐานผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 14,549,503,800 บาท

ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ รวม 14,549,503,800 บาท

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า หากเราไม่สามารถพิจารณาเงินก้อนนี้ได้ภายใน 30 กันยายนนี้ ซึ่งอยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้ข้ามไปสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ย

"ดังนั้นจึงต้องพยายามขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครสำหรับเงินก้อนนี้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ได้ ส่วนเรื่องการจ่ายชำระหนี้จะเป็นขั้นตอนต่อไป" นายจักกพันธุ์ กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • หนึ่ง Nimt
    อ้าวนึกว่าจ่ายไปแล้ว
    12 ก.ย เวลา 03.23 น.
ดูทั้งหมด