วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 สสส. ผนึก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายจังหวัดชลบุรี สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่เป็นศูนย์
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารอมตะเซอร์วิสเซ็นเตอร์นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) สมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร
จัดกิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมร่วมใจ สรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่เป็นศูนย์” โดยภายในงานประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ “บุหรี่…ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” และการเสวนา “สานพลังสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่ในอมตะซิตี้เป็นศูนย์”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ต่อความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอด (ควัน) บุหรี่ในสถานที่ทำงาน และแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอด (ควัน) บุหรี่ตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว
นายธาดา สุนทรพันธุ์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานในพิธีเปิดงานฯ กล่าวว่า การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว การขับเคลื่อนให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมปลอด (ควัน) บุหรี่ ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยาก
และการจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ จะได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสิ่งแวดล้อมดี…ควันบุหรี่เป็นศูนย์ และได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของสถานประกอบการที่มีการทำงานด้านนี้ไปแล้ว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังชาวอมตะซิตี้ ให้มาดูแลพื้นที่ในหน่วยงานตนเอง จัดเขตปลอดบุหรี่ และเขตสูบบุหรี่ตามแนวทางที่ได้เรียนรู้จากการเสวนา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในช่วงปาถกฐาพิเศษผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพว่า ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้ชูประเด็น “ยาสูบ…ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” นั่นหมายถึงว่า บุหรี่นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้วยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ 17.4% มีประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ รวมทั้งนักสูบหน้าใหม่ที่ตกเป็นเหยื่อของการตลาดจากบริษัทผลิตบุหรี่ที่ได้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนหลากหลายช่องทาง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันหยุดยั้งภัยคุกคามนี้
นางอชรายุ แสงวิโรจน์กุล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัททสึจิยา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็น 1 ใน 11 สถานประกอบการต้นแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน ที่เคยได้รับการประเมินจากโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับ การดำเนินงานของบริษัทฯมีสิ่งสำคัญคือผู้บริหารของบริษัทมีนโยบาย
และสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน ทางทีมงานได้มีการทำงานด้านนี้โดยบูรณาการกับประเด็นยาเสพติดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ได้ร่วมงานกับโครงการฯ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มาจากหัวหน้าแผนกหลายแผนกมาวางแผนร่วมกัน ได้มีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ และจัดเขตสูบบุหรี่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนั้นยังมีการค้นหาผู้ติดบุหรี่ ช่วยในการบำบัดและติดตามผล โดยมีโรงพยาบาลพานทอง ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเลิกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีพนักงานสามารถเลิกบุหรี่ได้จำนวน 5 ราย จากผู้เข้าร่วมโครงการลดละเลิก รวมทั้งสิ้น 35 ราย
นายอัครเรศร์ ชูช่วย นายกสมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนในอมตะซิตี้ บริษัทจะเน้นที่ความยั่งยืน จึงมีคำถามว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้การทำโครงการลักษณะแบบนี้มีความยั่งยืน การขับเคลื่อนให้สถานประกอบการส่วนใหญ่มาสนใจงานด้านนี้
ซึ่งขณะนี้อาจจะยังวิ่งสวนทางกันระหว่างผู้สร้างเครื่องมือกับผู้ใช้เครื่องมือ จึงขอแนะนำว่า เราอาจจะต้องหา Pain Point ซึ่งส่วนตัวมองว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ต้องการทำตามกฎหมาย ดังนั้นหากได้มีการรับทราบเกี่ยวกับแนวทางการทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะการมี Best Practices ให้เห็น และมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสถานประกอบการ
นางสาววิชชุดา สีมาขจร ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จัดเป็นนิคมฯ ที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนตัวสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมฯ มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การนิคมฯ สำหรับการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ทางสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมฯ ยินดีที่จะสนับสนุน เป็นสะพานเชื่อมกับสถานประกอบการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านนี้
โดยเห็นว่าการรณรงค์พื้นที่ปลอดควันบุหรี่จะช่วยให้พนักงานได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพ ตลอดจนช่วยให้สถานประกอบการลดความเสี่ยงด้านอัคคีภัย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ ขณะนี้ พบว่า มีสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 27 แห่ง และได้รับการประเมินเป็นสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบแล้ว 11 แห่ง
ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ และอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราต้องทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลายฝ่าย ตั้งแต่ในระดับสถานประกอบการที่ต้องดำเนินงานร่วมกันทั้งในส่วนของผู้บริหาร คณะทำงาน และพนักงาน
ในขณะที่ระดับของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บ.อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) สมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร และหน่วยงานทั้งทางด้านส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิการแรงงานในจังหวัดชลบุรี จึงจะสามารถขับเคลื่อนให้ อมตะซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมปลอดควันบุหรี่ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนา ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. มอบชุดเครื่องมือในการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ให้แก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และบ.อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)
พร้อมทั้งได้กล่าวถึงบทบาทของ สสส. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ เพื่อความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เป็นประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญ
จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และขอขอบคุณมา ณ ที่นี้