ไลฟ์สไตล์

English(es) : ภาษาอังกฤษของอาเซียนกับการทำงานหลากวัฒนธรรมตามมาตรา 34 กฎบัตรอาเซียน - ณัฐพล จารัตน์

LINE TODAY SHOWCASE
เผยแพร่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 11.44 น. • ณัฐพล จารัตน์

ท่านประธาน : ประเทศในเอเซียนต่างมีภาษาของตนเอง ทำไมถึงไม่เลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในอาเซียนเป็นภาษากลางอาเซียนล่ะ

ผู้เขียน : เรื่องนี้ต้องอธิบายยาวเพราะเป็นมิติภาษาเชิงการเมืองครับท่านประธาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำถามจากท่านประธานให้ทำผู้เขียนต้องอธิบายยาวเป็นพิเศษ หากเป็นประโยชน์และได้จัดการความรู้เพื่อการทำงานในองค์กรของท่าน จึงขออนุญาตแบ่งปันที่ LINE TODAY SHOWCASE ในวันนี้

เป็นเวลาเกือบ 50 กว่าปี นับตั้งแต่อาเซียน (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการตามปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ภายใต้ชื่อ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ มีพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม เติบโตตามลำดับ

จนกระทั่งก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เมื่อปี 2558 ซึ่งประกอบด้วย 3 ประชาคมหลัก ได้แก่ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ซึ่งการเติบโตท่ามกลางความท้าทายของกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาเซียนย่างเดินตามคำขวัญแห่งภูมิภาค “One Vision, One Identity, One Community”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพื่อให้อาเซียนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกันแม้เวลาผ่านล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน การพัฒนาและความร่วมมือร่วมใจของชาติสมาชิก ยังดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยึดมั่นหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก (Non-Interference) และวิถีแห่งอาเซียน (ASEAN Way) บทความนี้จะไม่กล่าวถึงที่ไปที่มาของอาเซียน เพราะอาเซียนกลายเป็นเรื่องสามัญที่ประชาชนชาวอาเซียนทั้งหมดรับทราบดีอยู่แล้ว อาเซียนจึงมีอัตลักษณ์เฉพาะสมเป็น “A community of Opportunities for All” อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังมากนัก คือ เพราะเหตุใดอาเซียนจึงพร้อมใจกันใช้ภาษาอังกฤษในทุกเวที ทุกระดับการทำงานในภูมิภาค

ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะบอกทุกท่านว่า ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ในการประชุมร่วมกับชาติก่อตั้งอาเซียนทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย การประชุมตั้งแต่ครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยไม่มีประเทศใดปฏิเสธการใช้ภาษาอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีคำถามเกิดขึ้นสักครั้งเดียวเลยว่า จะใช้ภาษาอะไรในการประชุมระหว่างประเทศสมาชิก 

หากพิจารณาจากเนื้อหาของปฏิญญากรุงเทพ แม้จะไม่พบถ้อยคำใด ๆ ระบุว่าภาษาของอาเซียนคือ ภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้เป็นภาษากลางของปฏิญญา นั่นเป็นเพราะว่า นานาชาติยอมรับภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล สามารถสื่อสารกันทั่วโลกหรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นภาษากลางของโลกก็ไม่ผิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้น อาเซียนจึงตกลงใช้ภาษาอังกฤษระหว่างการประชุมทั้งหมดโดยไม่มีชาติสมาชิกใดคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ก่อตั้งต่างเป็นประเทศพันธมิตรกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะมหามิตรอย่างสหรัฐอเมริกา และเหตุผลเบื้องลึกของการก่อตั้งอาเซียนประการหนึ่ง คือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคในช่วงเวลานั้น การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ จึงกลายเป็นดุจเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์เพื่อการยอมรับวัฒนธรรมทางภาษาของชาติตะวันตก ต่อมาเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นและมีความหลายหลากทางภาษามากขึ้น

และเพื่อสร้างความชัดเจนและยกระดับความเป็นสากลแห่งภูมิภาค จึงได้บัญญัติให้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาเพื่อการทำงานของอาเซียน ดังปรากฏในมาตรา 34 แห่งกฎบัตรอาเซียน ว่า “ASEAN Charter Article 34 Working Language of ASEAN shall be English”

“ภาษาอังกฤษ” ไม่ใช่ภาษาราชการของอาเซียนดังที่หลายท่านเข้าใจ

ในช่วงแรกของการประชุมของ 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง แม้ไม่ได้บัญญัติในปฏิญญากรุงเทพให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางสำหรับการประชุมอาเซียน แต่ประเทศสมาชิกก็ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุมพบปะกันโดยไม่ต้องมีการบังคับ เป็นการรับรู้โดยอัตโนมัติ จากนั้นมาการประชุมทุกระดับของอาเซียน จึงถือว่าตกลงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักจนเกิดความเข้าใจว่าภาษาอังกฤษ คือ ภาษาราชการของอาเซียนไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ตามลำดับ ได้แก่ สมาชิกผู้ก่อตั้งลำดับที่ 1 - 5 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 สมาชิกลำดับที่ 6 บรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527

สมาชิกลำดับที่ 7 เวียดนาม เข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 สมาชิกลำดับที่ 8 และ 9 ได้แก่ ลาว และเมียนมาร์ เข้าร่วมพร้อมกันเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และสมาชิกลำดับที่ 10 กัมพูชา เข้าร่วมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542

เมื่อสมาชิกหลากหลายมากขึ้น จึงมีสมาชิก ขอหารือเพื่อกำหนดให้มีภาษาราชการของอาเซียนที่มิใช่ภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว สมาชิกต่างต้องการให้ภาษาราชการของตนหรือภาษาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญกว่าชาติสมาชิกอื่นใช้เป็นภาษาราชการอาเซียนหรือใช้ภาษาสากลอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งสมาชิกแต่ละประเทศต่างมีเหตุผลเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ รวมถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางภาษาของตนเอง

ทุกท่านทราบเป็นอย่างดีกว่า 10 ประเทศอาเซียนตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันก็จริง แต่หลายประเทศยังคงยึดติดและเกิดการแบ่งกลุ่มย่อยกันเอง เพื่อสร้างกลุ่มอำนาจต่อรอง เพื่อให้ภาษาของตนหรือใช้ความมีส่วนร่วมเดียวกันของประเทศตนเองได้ใช้ภาษาเดียวกัน

เช่น มาเลเซียเสนอให้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการของอาเซียน เนื่องจากภาษามาเลย์มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดอาเซียน แต่อินโดนีเซียคัดค้าน เพราะอินโดนีเซียพอ้างว่าภาษาอินโดนีเซีย ไม่เหมือนภาษามาเลย์แบบมาเลเซีย จนเกิดเป็นข้อพูดคุยหารือในช่วงหนึ่ง

ส่วนเวียดนาม กัมพูชา และเวียดนาม เสนอให้ใช้ภาษาฝรั่งเศส เพราะด้วยทั้ง 3 ประเทศเคยเป็นกลุ่มประเทศอินโดจีนภายใต้ฝรั่งเศส ส่วนสิงคโปร์เสนอให้ใช้ภาษาจีน เพราะหลายประเทศในอาเซียนมีคนเชื้อสายจีน ส่วนกลุ่มสมาชิกที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนก็เห็นควรว่าต้องใช้ภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวเป็นภาษาราชการของอาเซียน

เมื่อเกิดประเด็นเกี่ยวกับภาษาราชการของอาเซียนขึ้น กลุ่มประเทศที่พูดภาษามาเลย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม รวมถึงบางส่วนของฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ จึงตกลงร่วมกันว่าจะใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และส่งเสริมสันติวัฒนธรรมฝแห่งภูมิภาค ส่วนสมาชิกประเทศอื่น ๆ ที่เสนอให้ใช้ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน หรือแม้แต่ประเทศไทยก็เคยเสนอให้ภาษาไทย ต้องล้มเลิกไปเพราะสมาชิกเห็นว่า การพูดภาษาต่างประเทศอื่นที่ไม่คุ้นเคยตั้งแต่วัยเรียนจะทำให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าไม่ทันโลก

เช่น หากเลือกภาษาจีน บางประเทศที่คุ้นเคยกับภาษาจีนก็จะได้เปรียบกว่าประเทศอื่น เพื่อลดช่องว่างทั้งหมด ในท้ายที่สุดจึงลงความเห็นเลือกภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ กระนั้นก็ยังมีข้อหารือเพิ่มเติมขึ้นอีก คือ ภาษาอังกฤษไม่ควรกำหนดให้เป็นภาษาราชการของอาเซียน

ด้วยเหตุผลว่า ระดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของสมาชิกแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน เช่น สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม และฟิลิปปินส์ สามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาอังกฤษเทียบเท่าภาษาแม่ ซึ่งเป็นทักษะภาษาอังกฤษที่สูงกว่าการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ในขณะที่อีกหลายประเทศ ภาษาอังกฤษเพิ่งเริ่มต้นเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ ความรู้ทางภาษาอังกฤษจึงจำกัดเฉพาะด้าน 

ยกตัวอย่าง วิศวกรเข้าใจเฉพาะศัพท์ที่เกี่ยวข้องด้านวิศวกรรม นักบัญชีทราบเฉพาะศัพท์บัญชี เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถเทียบกับความเข้าใจของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ประกอบกับอาเซียนมีแนวคิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในหลายสาขาอาชีพ ซึ่งความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ต้องการอยู่ในระดับเพื่อการทำงานเฉพาะด้านเท่านั้น 

สมาชิกส่วนใหญ่จึงตกลงกันว่า ให้เปลี่ยนจากคำว่าภาษาราชการของอาเซียน (ASEAN Official Language) ให้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานของอาเซียน (Working Language of ASEAN) เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศในอาเซียนจึงได้บัญญัติความสำคัญของภาษาอังกฤษในฐานะภาษาเพื่อการทำงานของชาวอาเซียนไว้ใน มาตรา 34 แห่งกฎบัตรอาเซียน พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มาตรานี้เป็นกติกาการทำงานร่วมกันของประเทศอาเซียน ใครจะไม่ทำตามก็ไม่ว่ากัน แต่จะคุยกับใครรู้เรื่องใหมก็ว่ากันไป

ในเจตนารมณ์ตามมาตรา 34 แห่งกฎบัตรอาเซียน นอกจากจะหาข้อยุติและสร้างสมานฉันท์ด้านนโยบายภาษาได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ความสันติและลดความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรมทางภาษา หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ยิ่งจะทำให้อาเซียนขาดสันติและเอกภาพ เพียงแค่ต้องการให้ภาษาตนเองเป็นภาษาราชการสำคัญกว่าของภาษาสมาชิกอื่น มาตรา 34 นี้จะเป็นเสมือนข้อบัญญัติเพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียม และลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมได้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ภาษาอังกฤษของอาเซียนเพื่อการทำงาน คือ “Englishes”

เมื่อภาษาอังกฤษถูกกำหนดให้เป็นภาษาเพื่อการทำงานของอาเซียน ด้วยบริบทของประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่าง จึงเกิดการผสมผสานระหว่างการใช้ภาษาแม่ของตนเองกับภาษาอังกฤษ อิทธิพลของภาษาแม่จึงปนเปในการใช้ภาษาอังกฤษระหว่างอาเซียนด้วยกันเกิดสไตล์ภาษาอังกฤษเฉพาะตน เช่น ภาษาอังกฤษแบบไทย ถูกเรียกว่า Thailish ภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ ถูกเรียกว่า Singlish หรือภาษาอังกฤษแบบมาเลเซีย ถูกเรียกว่า Manglish เป็นต้น 

การผสมผสานของภาษาอังกฤษที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภาษาแม่จึงถูกเรียกว่า ASEAN Englishes หรือบางท่านเรียกว่า ASEANlish จนกล่าวกันว่าภาษาอังกฤษตามมาตรา 34 แห่งกฎบัตรอาเซียน มีความน่าจะเป็น Englishes อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษแบบ Englishes ของอาเซียนเป็นการใช้ภาษาในระดับการสื่อสารเพื่อการทำงานเท่านั้น แต่ในภาษาเขียนยังต้องเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐานสากล

การใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาเพื่อการทำงานของอาเซียน ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีสมาชิกประเทศใดกล่าวติติงการใช้คำ (Word Usage) สำเนียง (Accent) หรือแม้แต่ข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ (Grammar Error) ว่าใครใช้ถูกใช้ผิดในระหว่างการประชุม สมาชิกทุกประเทศให้เกียรติและเชื่อมั่นในระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้แทนการประชุม หากการประชุมหารือหรือต้องบรรลุข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางทางกฎหมาย ผู้แทนจะใช้ล่ามแปลภาษาตามหลักการระหว่างประเทศอาเซียนใช้ประโยชน์จากมาตรา 34 พัฒนาและสร้างนโยบายการเรียนรู้ภาษาอังกฤษกับประชาชนของตน แต่อาเซียนยังขาดการสร้างหลักสูตรหรือเนื้อหาภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจบริบทของประเทศสมาชิกอาเซียน 

การใช้แบบเรียนภาษาอังกฤษก็ยังใช้แตกต่างกันจึงยังขาดจุดร่วมเดียวกัน จึงได้มีการเสนอให้มีเนื้อหาภาษาอังกฤษแบบอาเซียนร่วมกัน อาเซียนจึงต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และจะเกิดผลประโยชน์ต่อภาพรวมของอาเซียนซึ่งยังต้องรอคอยว่าจะสามารถขึ้นจริงได้หรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้

เรียบเรียงเพิ่มเติม อ้างถึงข้อมูลและภาพจาก

* ณัฐพล จารัตน์. “#นักภาษาศาสตร์ : “ภาษาอังกฤษ” ในบริบทอาเซียนตามมาตรา 34 แห่งกฎบัตรอาเซียน”, เข้าถึงจาก https://tanprathannreview.blogspot.com/2021/08/34.html?m=1

* VoiceTV. "งานวิจัยจุฬาฯ ชี้ ภาษาไทยจะเป็นภาษากลางประชาคมอาเซียน", เข้าถึงจาก https://www.voicetv.co.th/read/28141

* VoiceTV. "ดัน 'มาเลย์' เป็นภาษาราชการของอาเซียน", เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/510832