เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะผลิต Viral Clip ลดปัจจัยเสี่ยง-บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิด ว่า การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตชีวิตคนไทยก่อนวัยอันควร พบคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่กว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตเร็วขึ้น 18 ปี และมีภาวะทุพพลภาพก่อนเสียชีวิตเฉลี่ย 3 ปี จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 7.9 หมื่นราย และอายุ 20-24 ปีมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงสุด ที่น่าตกใจคืออายุเพียง 6 ปี ก็เริ่มการทดลองสูบบุหรี่แล้ว การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เด็กและเยาวชนมีภูมิรู้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. จึงร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ไทย เคเบิล บรอดแคสติ้ง (Cable Channel 37HD) และสถานีโทรทัศน์ ลิเนียร์ เคเบิลทีวี เชียงใหม่ สนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยงสู่ชุมชน มุ่งเน้นประเด็นวิกฤติปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยจัดกิจกรรมอบรมเทคนิคการผลิตสื่อ Viral Clip ให้กับเยาวชน ถือเป็นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าบุหรี่มวน เพื่อนำไปสื่อสารต่อในครอบครัว ชุมชน สังคม ให้เป็นบ้านปลอดบุหรี่-พื้นที่ปลอดบุหรี่ เพื่อขับเคลื่อนวิถีสุขภาวะในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมต่อไป
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้เลิกบุหรี่ได้ คนที่ต้องการเลิกบุหรี่จึงเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เลิกบุหรี่ได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเสพสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีความรุนแรงเทียบเท่าเฮโรอีน มีผลต่อพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของเด็กและเยาวชนจนถึงอายุ 25 ปี เด็ก เยาวชนเสพติดสารนิโคติน ตั้งแต่อายุน้อย จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นนักสูบประจำในอนาคต และอาจหันมาใช้บุหรี่มวน หรือใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนรวมกัน ที่แย่ที่สุดคือ หันไปใช้ยาเสพติดอื่นๆ ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 และห้ามขายหรือบริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558 ดังนั้น การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านับเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเฝ้าระวังและดูแลให้คำแนะนำลูกหลานถึงพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เพราะผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้คล้ายกับอุปกรณ์การเรียนจนแยกออกได้ยากมาก
ผศ.ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นการผลิตสื่อ Viral Clip ที่พวกเขาสนใจ โดย สสส. และเครือข่ายได้สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการลดปัจจัยเสี่ยง เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าภัยร้ายใกล้ตัวเด็กเยาวชน ทำให้เกิดผลงานสื่อที่สามารถให้เขานำไปแชร์ บอกต่อกับเพื่อนๆ และครอบครัว ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ ชุมชน สังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
นางรชยา ลังกาทรง ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ลิเนียร์ เคเบิลทีวี เชียงใหม่ และอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ลิเนียร์ เคเบิลทีวี เป็นหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ที่ร่วมลงนามความร่วมมือ กับ สสส. เพื่อขับเคลื่อนงานสื่อสารสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยงสู่ชุมชน เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารในบริบทของท้องถิ่นที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่การมีพฤติกรรมสุขภาวะที่ดีในการลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการสื่อสารรณรงค์ประเด็นต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงสนใจในประเด็นพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้นตอการนำไปสู่สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมุ่งหวังให้การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาเยาวชนนักสื่อสารฯ ในครั้งนี้ เป็นการบ่มเพาะสร้างนักสื่อสารสุขภาวะฯ ให้กับชุมชน โดยผลงานสื่อสารที่เกิดขึ้น จะถูกนำมาขยายผลเผยแพร่ทางลิเนียร์ เคเบิลทีวี และเครือข่ายเคเบิลทั่วประเทศผ่านสถานีโทรทัศน์ Cable Channel 37HD