ไอที ธุรกิจ

กศน.ตำบลทับมา จ.ระยอง ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยมภาคตะวันออก

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 30 ธ.ค. 2564 เวลา 03.57 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2564 เวลา 21.00 น.

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ขับเคลื่อนนโยบาย กศน. ตำบลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม พลัส เพื่อขับเคลื่อน กศน.สู่ “กศน.WOW” สนองนโยบายของ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เสมา 3) ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำนักงาน กศน.ได้จัดให้มีการประกวดแข่งขัน “กศน. ตำบลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม” ในระดับจังหวัด ระดับกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัด และระดับภาค ตามลำดับ สำหรับภาคตะวันออก มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับ นางสาวสุพิชฌาย์ บำรุงสุนทร ครู กศน.ตำบลทับมา สังกัด กศน.อำเภอเมืองระยอง สำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลชนะเลิศในการคัดเลือกครั้งนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เนื่องจาก ครูสุพิชฌาย์ บำรุงสุนทร กศน.ตำบลทับมา ตั้งใจทำงานตอบโจทย์นโยบาย การขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. wow ของ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ Good Teacher (ครูดี) Good Place Best-Check in (สถานที่ สภาพแวดล้อมดี) Good Activities (กระบวนการเรียนรู้ดี) Good Partnership (ภาคีเครือข่ายดี) และ Good Innovation (นวัตกรรมดี)

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นจัดการศึกษาและพัฒนา กศน.ตำบลของครูสุพิชฌาย์ แล้วยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมในทุกๆ กิจกรรม จากบุคลากรของ กศน.อำเภอเมืองระยอง สำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง รวมทั้งการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายอันเข้มแข็ง ส่งผลให้ กศน.ตำบลทับมา ได้รับรางวัลชนะเลิศ กศน.ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม ประจำปี 2564 และเป็นแรงผลักดันให้ครู กศน.ตำบลทับมา เร่งพัฒนางานการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

ครูสุพิชฌาย์ บำรุงสุนทร นับเป็นต้นแบบในการพัฒนาการศึกษา กศน.ตำบลอย่างมีคุณภาพ ใน 5 ด้าน คือ ครูดี สถานที่ดี กิจกรรมดี เครือข่ายดี และนวัตกรรมดี โดยนำรูปแบบการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน ทำให้ประชาชนในตำบลทับมาเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำงานตอบโจทย์ชุมชน

การจัดตั้ง กศน.ตำบลทับมา มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมสำหรับผู้สนใจและประชาชนในชุมชน บริเวณอาคารสำนักงาน กศน.ตำบลทับมา ได้จัดมุมสงบสำหรับอ่านหนังสือเพื่อให้นักอ่านได้ผ่อนคลาย แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นมุมเทคโนโลยี ให้บริการคอมพิวเตอร์เพื่อค้นคว้าข้อมูล มุมหนังสือเรียน เพื่อบริการนักศึกษาคนเก่ง และมุมหรรษา ทีวีพาเพลิน

ปัจจุบัน กศน.ตำบลทับมา ตั้งอยู่ ณ อาคารอเนกประสงค์ วัดเขาโบสถ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยได้รับความอนุเคราะห์อาคารเรียนหลังใหม่ จาก ท่านพระครูปลัดอภิชัย อภิชโย เจ้าอาวาสวัดเขาโบสถ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กศน.ตำบลทับมา มีบทบาทหน้าที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 จัดการเรียนการสอนผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อให้อ่านออกเขียนได้ การศึกษาในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาเพื่อการมีงานทำ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยจัดให้มีบ้านหนังสือชุมชนตำบลทับมา

 บทบาทหน้าที่ภารกิจ กศน.ตำบล

  • 1. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ กศน.ตำบลทับมา เป็นศูนย์กลางการส่งเสริมจัดกระบวนการเรียนรู้และหน่วยประสานงานแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
  • ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขโดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)
  • ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน.และชุมชน เพื่อให้มีความรู้และรับรู้เท่าทัน ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล
  • ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน โดย กศน.ตำบลมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก

ที่ผ่านมา กศน.ตำบลทับมา มีผลงานดีเด่นและได้รับรางวัลเกียรติบัตรมากมาย เช่น รางวัลบ้านหนังสือชุมชนดีเด่นระดับอำเภอ ประจำปี 2561 รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดชุดรีไซเคิล ประจำปี 2563 รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ประจำปี 2563

สินค้าเด่น “ลอดช่องสิงคโปร์”

ด้านจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างยั่งยืน กศน.ตำบลทับมา ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คหกรรม และอาชีพเฉพาะทาง หรือการบริการ รวมถึงอาชีพช่างพื้นฐานที่สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน ความต้องการและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โดยจัดให้มี 1 อาชีพเด่น รวมทั้งให้การกำกับติดตามและรายงานผลการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

กศน.ตำบลทับมา ยกย่อง นางสัมฤทธิ์ วิเชียรรัตน์ เป็น 1 ในครูภูมิปัญญาด้านขนมหวาน คือ ลอดช่องสิงคโปร์อบแห้ง ตราไผ่สายรุ้ง ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของตำบลทับมา เป็นอาชีพที่สะท้อนการสืบสานวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีขั้นตอนกับความผูกพันธ์ของชุมชนท้องถิ่น เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาไผ่ ภายใต้การนำของ นางสัมฤทธิ์ โดยสำนักงานเกษตรตำบลทับมา ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ลอดช่องสิงคโปร์อบแห้ง สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับขั้นตอนการผลิตลอดช่องสิงคโปร์อบแห้ง เริ่มจากเตรียมแป้งมันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม และแป้งเท้ายายม่อม 100 กรัม นำมาผสมกันในกะละมัง ใส่น้ำสีต่างๆ ที่ต้มเตรียมไว้ในตอนแรก เทลงไปในแป้งมัน ค่อยๆ เทลงไป ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ นวดให้แป้งเข้ากัน เทน้ำลงไป อย่าเทลงทีเดียว เพราะการนวดแป้งมันแต่ละครั้งจะใช้น้ำไม่เท่ากัน นวดไปเรื่อยๆ จนกว่าแป้งและน้ำเข้ากัน

แบ่งแป้งเป็นก้อนๆ ขนาดเท่ากับกำปั้นมือ ใช้ไม้คลึงแป้งให้เป็นแผ่นๆ จากนั้นนำแป้งที่คลึงแล้วเข้าเครื่องรีดแป้ง รีดให้เป็นแผ่นๆ ขนาดไม่บาง ไม่หนา ควรรีดหลายๆ รอบ วางแผ่นแเป้งที่รีดแล้วไปผึ่งในที่ร่ม เพื่อให้แป้งแห้งพอหมาดๆ ประมาณ 45-60 นาที เมื่อแป้งแห้งได้ที่แล้ว ค่อยๆ นำเแป้งเข้าเครื่องรีดทีละแผ่นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนำแผ่นแป้งเข้าเครื่องตัด นำแป้งที่ตัดเส้นแล้วไปตากแดดจัดๆ 2 แดด เพื่อให้เส้นแห้งก่อนจึงนำบรรจุในถุงพลาสติก ซีลถุงอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันลมเข้าก่อนนำออกจำหน่าย

เมื่อต้องการนำลอดช่องสิงคโปร์อบแห้งไปบริโภค ขั้นตอนแรก ต้องเอาเส้นขนมแช่น้ำประมาน 15-20 นาที ก่อนจึงนำเส้นมาพัก ตั้งน้ำให้เดือด นำเส้นลงไปต้ม ระหว่างที่ต้มต้องคนด้วย เพื่อไม่ให้เส้นขนมติดหม้อ ประมาน 5 นาที เส้นขนมจะเริ่มลอยตัวขึ้น ชิมได้เลยว่า ต้องการเส้นนิ่มขนาดไหน เมื่อเส้นนิ่มได้ที่แล้วให้นำเส้นขนมมาล้างในน้ำสะอาดจนเส้นใสสะอาด จากนั้นนำเส้นลอดช่องสิงคโปร์ไปใส่น้ำเชื่อมและน้ำกะทิ สามารถนำไปขายหรือรับประทานได้เลย

จุดเด่นที่ลอดช่องสิงคโปร์อบแห้ง ตราไผ่สายรุ้ง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วประเทศ เพราะเส้นต้มง่ายไม่ยุ่งยาก เส้นเหนียวนุ่ม ยังมีสีสันสดใสน่ารับประทานอีกด้วย การผลิตเส้นลอดช่องสิงคโปร์ ตราไผ่สายรุ้ง แต่ละสี ใช้สีจากธรรมชาติเป็นสมุนไพรในชุมชน เช่น สีเขียว มาจากใบเตย สีเหลือง มาจากเก๊กฮวย (ลูกพุด) สีแดง มาจากลูกคำเงาะ ส่วนสีม่วง มาจากดอกอัญชัน สินค้าของกลุ่มได้รับการรับรองจาก อย. ว่า ปลอดภัยและมีประโยชน์

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Zafare
    GOOD GOOD
    19 ธ.ค. 2564 เวลา 01.03 น.
ดูทั้งหมด