การเมือง

ปิยบุตร แจงยิบ นิติสงคราม 'ศัตรู' ต่อต้านประชาธิปไตย พร้อมแนะทางออก

MATICHON ONLINE
อัพเดต 24 ก.ย 2566 เวลา 08.53 น. • เผยแพร่ 24 ก.ย 2566 เวลา 08.32 น.

ปิยบุตร แจงยิบ นิติสงคราม ‘ศัตรู’ ต่อต้านประชาธิปไตย พร้อมแนะทางออก

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ปาฐกถาหัวข้อ ‘นิติสงครามกับทิศทางประชาธิปไตย’ จัดโดยสโมสรนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย (1) ปฏิบัติการนิติสงครามที่นำมาใช้จัดการนักการเมือง (2) ปฏิบัติการนิติสงครามที่นำมาใช้ปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐ และ (3) เราจะหยุดปฏิบัติการนิติสงครามอย่างไร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จุดเริ่มต้นนิติสงคราม เกี่ยวข้องอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม

‘นิติสงคราม’ เป็นบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่ผมคิดขึ้น เพื่อใช้แทน Lawfare ในภาษาอังกฤษ โดย Lawfare ล้อมาจาก Warfare หรือปฏิบัติการทางสงคราม หมายถึง หากต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการรบ ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ใช้กำลังทางทหารเข้าไปปราบปรามกำจัดศัตรู

แต่สำหรับ Lawfare ไม่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เปลี่ยนมาใช้กฎหมายในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามแทน ใช้กระบวนการยุติธรรม ใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา รวมไปถึงองค์กรอิสระหรือศาลพิเศษต่างๆ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำถามคือ ทำไมแนวโน้มของโลกในระยะหลัง จึงพูดถึงนิติสงครามมากขึ้น?

สาเหตุเพราะตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีชุดความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองชุดใหม่ชุดหนึ่งที่เติบโตขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาหลังปี 1989 ซึ่งคือปีที่มีการทลายกำแพงเบอร์ลิน พูดง่ายๆ คือ วิธีการ-ความคิด-อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันคนหนึ่งถึงกับประกาศอย่างอหังการ์ว่า นี่คือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ นับแต่นี้จะเหลืออุดมการณ์หลักเพียงอุดมการณ์เดียว คืออุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม

เห็นได้ว่า ประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ขยับมาอยู่กับประเทศยุโรปตะวันตก แต่ละประเทศที่เคยอยู่หลัง ‘ม่านเหล็ก’ ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง ให้มีรัฐธรรมนูญ ศาล องค์กรอิสระ ระบบการตรวจสอบ การเลือกตั้งตามเสียงข้างมาก เกิดขึ้นตามลำดับ เพื่อบอกว่าตัวเองมีประชาธิปไตย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เราเริ่มรู้จักมักคุ้นกับคำติดหู เช่น Rule of law หลักนิติธรรม. Good governance ธรรมาภิบาลการบริหารจัดการที่ดี, Transparency and Accountability ความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ใครยกร่างรัฐธรรมนูญ ขาดคำพวกนี้ไม่ได้ ต้องใส่เข้าไปเยอะๆ กลายเป็นเหมือน buzzword ที่พูดไปเรื่อย เพราะพูดอีกก็ถูกอีก

[ ปฏิบัติการนิติสงคราม ที่นำมาใช้จัดการนักการเมือง ]

เมื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม วิธีคิดหลักนิติธรรม เบ่งบานไปทั่วโลก ผลที่ตามมาคือต้องมีการออกแบบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกตรวจสอบ ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อถ่วงดุลกัน ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วกลายเป็นเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และต้องหาองค์กรมาตรวจสอบ เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้าน ต่อให้ตรวจสอบมากแค่ไหน ก็ยกมือแพ้ในสภาฯ

ดังนั้น ต้องหาองค์กรอิสระที่หลุดไปจากพวกนักการเมืองมาทำหน้าที่ สร้างศาลประเภทใหม่ๆ ขึ้นมา เราจึงเริ่มรู้จักศาลรัฐธรรมนูญตอนรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการหยิบยืมจากประเทศเยอรมนี เพื่อบอกว่าหากเสียงข้างมากออกกฏหมายแล้วขัดรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อยก็ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้

แต่พอขยายอำนาจออกไปมากขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มมายุ่งกับเรื่องประเภท ‘ใครล้มล้างการปกครอง ยุบพรรคการเมือง นักการเมืองขาดคุณสมบัติ’ เท่ากับเป็นการเอาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรวจสอบควบคุมบรรดานักการเมืองต่างๆ

แนวโน้มของโลก เกี่ยวกับปฏิบัติการนิติสงครามเพื่อจัดการนักการเมือง จึงไม่ได้อยู่ดีๆ ลอยมาจากฟ้า แต่มาพร้อมชุดความคิดหลักนิติรัฐนิติธรรม เสรีประชาธิปไตย การเมืองใสสะอาดตรวจสอบได้ไร้คอร์รัปชัน ทำให้ต้องตั้งองค์กรตรวจสอบขึ้นมาทำหน้าที่ และต้องมีมาตรการยาแรงคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ผู้ร่างอ้างว่าเป็นฉบับ ‘ปราบโกง’ แต่ความเป็นจริงไม่เห็นปราบโกงได้ เอามาปราบฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า

[ นิติสงครามทะยาน เพราะแปลงปัญหาการเมืองเป็นคดีความ ให้ศาลชี้ขาด ]

นิติสงคราม ทะยานขึ้นมาได้ ต้องใช้ 2 องค์ประกอบ

(1) Judicialization of Politics คือการนำบรรดาประเด็นปัญหาทางการเมือง แปลงให้เป็นคดีความ แล้วเอาไปอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลตัดสิน กลายเป็นว่าเรื่องการเมือง ที่แต่ไหนแต่ไรไม่ควรอยู่ในมือศาล หากเกิดข้อถกเถียงทางการเมือง ก็สู้กันในระบอบประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ตรวจสอบกันไปกันมาจนวันหนึ่งหาข้อยุติได้ แต่ระยะหลังกลายเป็นว่าแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีคนอื่นมาตรวจสอบ ก็คือศาล

ตัวอย่างเช่นนโยบายรัฐบาล รัฐบาลหนึ่งจะตัดสินใจทำอะไร เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าหาเสียงมาแล้ว เสียงข้างมากเลือกแล้ว รัฐบาลต้องทำนโยบายที่หาเสียงไว้ได้สิ หากคิดจะไม่ไว้วางใจ เสียงข้างน้อยก็ตรวจสอบกัน แต่หลังๆ กลับมีการบอกว่า ‘ไอ้นโยบายแบบนี้ขัดยุทธศาสตร์ชาติ ขัดแผนปฏิรูปประเทศหรือเปล่า เป็นนโยบายที่ทำให้เสถียรภาพทางการเงินการคลังเสียหายหรือไม่

ทั้งที่เรื่องนโยบาย เป็นเรื่องทางการเมือง เช่น บางพรรคเชื่อว่าต้องเอาเงินไปแจกประชาชนให้เยอะก่อน แล้วประชาชนจะจับจ่ายใช้สอย เงินจะหมุน ส่วนอีกพรรคบอกว่าต้องสร้างสวัสดิการสังคมให้คนอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า ไม่ใช่เอาเงินไปแจก ในเมื่อแต่ละพรรคมีวิธีคิดทางเศรษฐกิจ-สังคมไม่เหมือนกัน รักใครชอบใครก็เลือกพรรคนั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่ กลายเป็นว่าต้องขอตรวจสอบนโยบายหน่อยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เอาเงินมาจากไหน

ผลพวงที่ตามมาคือ บรรดาองค์กรตุลาการ เข้ามาในแดนการเมือง

เมื่อก่อนหาก ส.ส. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็ตรวจสอบกันเอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ให้เหตุผลว่าไม่เป็นกลาง ต้องให้ศาลมาตรวจสอบ เช่น เรื่องจริยธรรม เป็นเรื่องที่คนในองค์กรควรตรวจสอบกันเอง ยกตัวอย่างสื่อมวลชนที่มีมาตรฐานจริยธรรมสื่อ มีสมาคมดูแลจัดการกันเอง แต่กลับมีวิธีคิดว่านักการเมืองดูแลกันเองไม่ได้ เพราะชั่วเหมือนกัน ให้ศาลดูให้ดีกว่า แนวโน้มแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ

แทนที่จะโฟกัสไปที่ใครทำอะไรตามนโยบายหาเสียง ใครมีนโยบายอะไรมาแข่งกัน กลับต้องมาดูว่าใครร้องเรียนเก่งกว่ากัน ร้องแล้วสุดท้ายทำให้หลุดออกจากตำแหน่งหรือไม่

ก่อนหน้านี้การเมืองไทยไม่มีบรรยากาศแบบนี้ เรื่องเช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 และเกิดความคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ นักการเมืองใช้วิธีต่อสู้ด้วยการแย่งกันร้องไปที่ศาล แล้วศาลก็ตัดสินคดีความ

[ ผุดบรรดานักร้อง ]

ผลพวงต่อมา คือทำให้เกิดบรรดานักร้องเรียน เพราะศาลเป็นองค์กรเชิงตั้งรับ ไม่สามารถริเริ่มคดีเองได้ ต้องมีคนมาฟ้องชงเรื่องให้ ดังนั้น Judicialization of Politics จึงขาดนักร้องไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอฝั่งหนึ่งร้อง อีกฝั่งก็หานักร้องด้วย ร้องกันไปกันมา นักการเมืองเหมือนไก่ที่อยู่ในเข่งแล้วตีกันเอง ยื่นดาบที่จะประหารพวกตัวเองให้กับศาล แทนที่จะมาคิดอ่านกันว่าปล่อยเป็นแบบนี้ไม่ได้ ให้องค์กรตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ชี้เป็นชี้ตายพวกเราได้อย่างไร แต่ที่ไหนได้ กลับแย่งกันร้อง สุดท้ายบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ จะบอกว่า ‘โทษฉันไม่ได้ ฉันนั่งเฉยๆ พวกเธอร้องกันมาเอง’

[ นิติสงครามทะยาน เพราะสื่อขยี้ ]

นิติสงครามทะยานขึ้นมาได้ องค์ประกอบที่ 2 คือต้องมีสื่อช่วยขยี้ ชี้นำให้ประชาชนเชื่อล่วงหน้าว่าคนที่โดนร้องเรียน มันต้องผิดแน่ๆ เช่น ชี้นำผ่านพาดหัวให้หวือหวาเพื่อยอดไลค์ แต่จะมีคนมากแค่ไหนกันที่กดเข้าไปอ่านเนื้อหา จะมีสักกี่คนที่รู้กระบวนการ รู้ประเด็นที่มีการต่อสู้

คนทั่วไปมักดูต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง – ท้ายเรื่องก็จะตั้งคำถามว่า ‘โง่เอง รู้เรื่องกฏหมายหรือเปล่า โดนตลอดเลยพรรคนี้ ตกลงทำงานเป็นไหม รู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นสายล่อฟ้า แต่ไม่ระมัดระวัง’

ในท้ายที่สุด เชื่อหรือไม่ว่ากระบวนการเหล่านี้จะจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้ คนสนใจเรื่องคอร์รัปชัน หรือจริงๆ แล้วสนใจแค่นักการเมืองคนนี้โดนสอย โดนตัดสิทธิ โดนยุบพรรค เปลี่ยนรัฐบาล เกิดงูเห่า

นั่นเพราะเป้าประสงค์ที่แท้จริงที่แฝงอยู่ ไม่ได้ต้องการจัดการเรื่องคอร์รัปชันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการเด็ดหัวนักการเมือง

ปฎิบัติการทางสงคราม ต้องมีแม่ทัพกุนซือเสนาธิการวางแผนการรบ และมีกำลังทางทหาร มีอาวุธเป็นเครื่องมือ สำหรับปฏิบัติการนิติสงคราม ก็ต้องมีการออกแบบระบบ มีชุดความคิดอุดมการณ์สนับสนุน ว่าเสรีประชาธิปไตยต้องตรวจสอบถ่วงดุล โปร่งใส ต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อมีนักร้องสุดท้ายก็เด็ดหัวนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้

[ นิติสงคราม เกิดขึ้นทั่วโลก ]

ในอดีตก่อนมีคำเรียกนิติสงคราม เวลา ‘รัฐซ้อนรัฐ’ อยากจัดการใคร ก็อาจใช้วิธีอุ้มฆ่า รัฐประหาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำ เพียงหาเรื่องส่งไปที่ศาล ให้ศาลจัดการตัดสินคดี

ความรุนแรงจึงแปรสภาพ กลายเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปตามกฏหมาย’ ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อ้างว่าถ้าไม่เคารพศาล ไม่เคารพกฎหมาย โลกนี้จะอยู่กันอย่างไร นี่คือวิธีการที่แนบเนียน มีอารยะ สอดคล้องกับอุดมการณ์ของยุคสมัยคือเสรีประชาธิปไตย

ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศทั่วโลกก็มีแนวโน้มเช่นนี้ โดยเฉพาะประเทศลาตินอเมริกา เมื่อไรก็ตามที่ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายขึ้นมาครองอำนาจ หากเป็นเมื่อก่อน จะมีทหารออกมายึดอำนาจ แต่ระยะหลัง ใช้วิธีสอยออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์ ประธานาธิบดีหลายคนเจอแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น Luiz Inácio Lula da Silva ของบราซิล Cristina Fernández de Kirchner ของอาร์เจนตินา Rafael Correa Delgado ของเอกวาดอร์ หรือประเทศเพื่อนบ้างของไทยอย่างกัมพูชา พรรคการเมืองที่ถูกยุบและแกนนำต้องระเหเร่ร่อน คือพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลปัจจุบัน

[ ปฏิบัติการนิติสงคราม ที่กระทำต่อประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐ ]

เวลาพี่น้องประชาชนไม่พอใจรัฐบาล เราก็ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกความไม่เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์ ชุมนุมเรียกร้อง นี่คืออาวุธที่ประชาชนมีอยู่ตามระบอบประชาธิปไตย

ในอดีต หากรัฐบาลจะจัดการประชาชนกลุ่มนี้ ก็อาจใช้วิธีอุ้มหาย ซ้อมทรมาน วิสามัญฆาตกรรม แต่ศตวรรษนี้ พ.ศ.นี้ วิธีดังกล่าวไม่เป็นอารยะ หนำซ้ำยังผลักดันให้คนต่อต้านมากขึ้น จึงต้องคิดกลเม็ดเด็ดพรายอันใหม่ เปลี่ยนจากการใช้อาวุธ มาเป็นใช้กฎหมายแทน เปลี่ยนจากกระบวนการนอกกฎหมาย มาใช้กระบวนการยุติธรรม มีตำรวจไปจับ ตั้งข้อหา สืบสวนสอบสวน ส่งอัยการ ส่งไปศาล ศาลตัดสินเอาเข้าคุก แล้วก็ใช้วิธี ‘จับๆ ปล่อยๆ’

สังเกตจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เทคนิคที่เขาใช้คือเมื่อมี ‘ธง’ มาแล้วว่าห้ามการชุมนุมเกิดขึ้นเด็ดขาด ก็ต้องเริ่มต้นจากการเข้าไปจับ นำตัวออกจากพื้นที่ แล้วตั้งข้อหาแบบกวาดกองไว้เยอะๆ เปิดกฎหมายสักฉบับมันต้องเจอสักข้อหา เช่น กรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ ในการชุมนุมวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เจอ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ขยับขึ้นมาหน่อยก็เป็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สถานการณ์ฉุกเฉิน ไล่ไปเรื่อยๆ

เมื่อตั้งข้อหาเยอะ ก็ต้องมีข้อหาพิเศษที่โทษสูงๆ เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เพื่อจะประกันตัวไม่ได้เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น หรือมาตรา 112 เป็นอาวุธลับพิเศษ สักพักพอมีแรงต่อต้านจากประชาชนก็ปล่อย แต่พอการชุมนุมจะกลับมาก็จับใหม่ หรือบางสถานการณ์ก็ใช้ไม้แข็ง สลายการชุมนุม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือประชาชนไม่ไปชุมนุม กลัวโดนลูกหลง โดนแก๊สน้ำตา

ดังนั้น ปฏิบัติการนิติสงครามเพื่อจัดการการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลมีเครื่องไม้เครื่องมือเล่นได้หลายหน้า จากเมื่อก่อนเป็นวิธีการแบบดิบๆ เดี๋ยวนี้ใช้กฎหมายใช้กระบวนการยุติธรรม สามารถยืดหยุ่นได้ตามจังหวะ แนบเนียนกว่าเดิม อารยะกว่าเดิม ใช้ยาแรงให้ประชาชนกลัวไม่กล้ามาชุมนุม

ผลที่ตามมาคือการชุมนุมจะค่อยๆ ลดน้อยถอยกำลังลง เพราะโดนจับจนเหนื่อย ภาระทางคดีเพียบ แทนที่แกนนำจะได้ออกแบบการชุมนม กลับต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาคดีตัวเอง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็แทบมีทนายความไม่พอ

เมื่อมีคดีความเต็มตัว ก็ไม่มีสมาธิขับเน้นประเด็นใหญ่ที่ต้องการจริงๆ กลายเป็นต้องพูดเรื่องตำรวจรังแกประชาชน กระบวนการยุติธรรมไม่ถูกต้อง ปล่อยเพื่อนเรา ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องใหญ่ๆ หายไปหมด

[ หยุดปฏิบัติการนิติสงครามอย่างไร? ]

ยอมรับว่าการจัดการนิติสงครามในยุคสมัยใหม่ เป็นเรื่องยากมาก เหตุผลคือนิติสงครามมาพร้อมกับชุดความคิดว่าเป็น ‘การปฎิบัติการตามกฏหมาย’ กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคารพ นอกจากนี้ ยังมีความแนบเนียนสอดคล้องกับระบบการปกครอง สอดคล้องกับอุดมการณ์สมัยใหม่ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล มีโอกาสนำบรรดากลไกรัฐเหล่านี้ไปใช้ทั้งหมด

มีวิธีการหยุดปฏิบัติการนิติสงคราม แต่เป็นระยะยาวพอสมควร

(1) ใช้กลไกในสถาบันทางการเมือง ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายเรื่อง เช่น จำกัด-ตีกรอบ-ลดทอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่ให้ครอบจักรวาลแบบนี้ เหลือเพียงตรวจสอบว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลไขว้กัน นอกจากนี้ต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล เพราะทุกวันนี้ศาลตัดสินอะไร ไม่ค่อยมีใครกล้าวิจารณ์ เพราะไม่รู้จะโดนคดีหรือเปล่า หากสามารถลดเรื่องนี้ลงมาได้ จะเกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกันผ่านการวิพากษ์วิจารณ์

(2) ฟ้องกลับ ถ้าประชาชนโดนนิติสงครามย่ำยีบีฑา ถึงจุดหนึ่งอาจต้องใช้ ‘เกลือจิ้มเกลือ’ คือการฟ้องกลับเช็กบิลเจ้าหน้าที่ทุกระดับหรือแม้กระทั่งศาล ในต่างประเทศเริ่มแล้วโดยความช่วยเหลือขององค์กรภาคเอกชน

(3) สร้างคนที่มี ‘จิตสำนึกแบบใหม่’ ส่งเข้าไปในระบบ เช่น ใครจะเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา ยึดมั่นในอุดมคติความคิด ว่าถ้าวันหนึ่งเห็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำไม่ถูกต้อง ตัวเองต้องไม่เป็นแบบนั้น กล้าหาญที่จะใช้คุณธรรมจริยธรรมจิตสำนึกของตนเอง ในการตัดสินคดีแม้อาจขัดใจนาย หรือกระทบการเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากปัจจุบัน เราได้เห็นแล้วว่ามีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยกล้ายกฟ้องคดี 112 แม้จะเป็นแค่ศาลชั้นต้น แต่ถ้าคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในระบบเยอะๆ จับกลุ่มก้อนคุยกันว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง นี่คือวิธีการที่เป็นระยะยาวที่สุด

[ บทสรุป: นิติสงคราม กลายเป็นศัตรูต่อต้านประชาธิปไตย ]

ประชาธิปไตยนั้น หลักพื้นฐานที่เราพูดกัน คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การแสดงออกต่างๆ ในทางการเมือง ต้องเชื่อมโยงไปที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด การปฎิบัติการของบรรดาองค์กรทางการเมือง ต้องมีฐานความชอบธรรมและรับผิดชอบต่อประชาชน รวมถึงมีเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด

แต่ทำไปทำมา นิติสงครามต่อต้านคุณค่าประชาธิปไตยแบบนี้หมดเลย ประชาธิปไตยทางตรงที่ทำให้คนออกมามีส่วนร่วม ถูกขโมยแย่งชิงไปโดย ‘ประชาธิปไตยแบบผู้แทน’

เช่น เลือกตั้งจบแล้ว ประชาชนเลือกพรรคนี้มาเป็นอันดับหนึ่งก็จริง แต่มันตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ช่วยไม่ได้ กลับไปทำมาหากิน ค่อยเลือกใหม่อีก 4 ปีข้างหน้า ส่วนผู้แทนฯ ให้คำสัญญาอะไรไว้ ถึงเวลาไม่ต้องทำก็ได้ ไว้เลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนลงโทษก็แล้วกัน

หรือการที่ระบบรัฐสภาอาจเปิดทางผ่านการเลือกตั้ง ทำให้มีตัวจี๊ดตัวป่วนหลุดเข้าไปในระบบบ้าง แต่สุดท้ายก็ถูกทำให้ง่อยเปลี้ยเสียขา แทนที่ สส. จะมีความคิดความฝันทะเยอทะยาน แต่ถึงเวลาพอเป็น สส. อันนั้นก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็ทำไม่ได้ จะโดนยุบพรรค จะโดนตัดสิทธิ์ ก็อยู่มันไปอย่างนี้แหละ อดทนไว้เดี๋ยวปีสุดท้ายค่อยพูด แต่พอถึงปีสุดท้ายก็ไม่พูด กลัวกระทบการเลือกตั้งอีก

หากเป็นแบบนี้ จากวันแรกเป็นผู้แทนคนกล้า สุดท้ายผ่านไป 10 กว่าปีไม่ได้ทำอะไรเลย นี่คือการออกแบบรัฐธรรมนูญที่บั่นทอนบอนไซนักการเมือง ใช้ปฏิบัติการนิติสงครามปิดล้อมไว้ ด้วยการยอมให้เข้ามาได้ แต่จะทำอะไรไม่ได้เลย

นานวันเข้าคำว่า ‘ผู้แทน’ มันกินคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาธิปไตยที่ยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นคุณค่าสูงสุด กลับถูกลิดรอนไปผ่านระบบผู้แทน-ระบบรัฐสภา

นิติสงครามจึงกลายเป็นเรื่องยอกย้อนในตัวมันเอง นิติสงครามเริ่มต้นจากคุณค่าประชาธิปไตย แต่ไป ๆ มา ๆ กลับต่อต้านประชาธิปไตยในตัวมันเอง

[ กฎหมาย-การเมือง เหรียญเดียวกันคนละด้าน ]

บทสรุปเส้นทางของเราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อุดมการณ์หรืออุดมคติที่ทั่วโลกฝันใฝ่ในชื่อ ‘นิติรัฐนิติธรรม ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม’ สุดท้ายได้ปล่อย monster หรือสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งออกมา ถูกใช้เป็นเครื่องมือปฎิบัติการในทางกฎหมาย

ผมอาจไม่สามารถชี้ทางสว่างให้ทุกคนเห็นได้ ว่าจะจัดการนิติสงครามอย่างไร แต่ท้ายที่สุดภารกิจทางปัญญา อาจไม่ใช่แค่การเสนอทางออก แต่คือการกระตุ้นวิธีคิดให้เราเห็นว่าฉากหน้าที่สวยหรูทั้งหลาย ที่เราเห็นในตำราเรียน จริงๆ แล้วมีกระบวนการชุดความคิดต่างๆ กำกับอยู่

ทำให้เราไปสู่จินตนาการใหม่ มองศาล มองกระบวนการยุติธรรมแบบใหม่ มองว่าในท้ายที่สุดกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถปฏิเสธหลีกหนี ห่างจากความสัมพันธ์จากกระบวนการทางการเมืองได้

กฎหมายและการเมือง คือเหรียญเดียวกันแต่คนละด้าน กฎหมายคือการเมือง (Law is politics.) นิติสงครามคือเครื่องมือทางการเมือง (The Political Instrument.)

ดูข่าวต้นฉบับ