ทั่วไป

ทฤษฎีเกม กับ การเลือกตั้ง

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 30 พ.ค. 2566 เวลา 02.36 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2566 เวลา 02.36 น.

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

ทฤษฎีเกม กับ การเลือกตั้ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนอื่นกระผมขอแสดงความยินดีกับทุกพรรคที่ชนะใจพี่น้องประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

และขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับพรรคก้าวไกลที่แลนด์สไลด์ทั่วทุกภูมิภาค

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นชัยชนะของประชาชนผู้รักและหวงแหนประชาธิปไตยทุกท่าน ยิ่งใหญ่จนหลายๆ ท่านไม่คิดไม่ฝันว่าจะเป็นไปได้จริงๆ ต้องหยิกแก้มตนเองว่าไม่ได้ฝันไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีเกม (Game theory) ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำอธิบายครับ

เกม (Game) ในชีวิตประจำวันมีมากมายหลายประเภท แต่ในทางเศรษฐศาสตร์นิยมกล่าวกล่าวถึง 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ Strategic form game (เกมที่เล่นพร้อมกัน) กับ Extensive form game (เกมที่ผลัดกันเล่นคนละตา)

ในอดีตมีนักเศรษฐศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเกี่ยวกับทฤษฎีเกมหลายท่าน อาทิ John F. Nash, John Harsanyi, Reinhard Selten, Robert J. Aumann, Thomas C. Schelling, Lloyd S. Shapley, Paul Milgrom และ Robert B. Wilson เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดน่าจะเป็น จอห์น แนช (John F. Nash) เจ้าของทฤษฎีดุลยภาพของแนช (Nash equilibrium) ภายหลังฮอลลีวู้ดได้นำชีวประวัติมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง A beautiful Mind (ค.ศ. 2001) นำแสดงโดยรัสเซล โครว์ ท่านใดสนใจประวัติเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1994 สามารถติดตามรับชมจากภาพยนตร์ครับ

จอห์น แนช ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง Non-cooperative games ความยาว 32 หน้า ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1950 นับเป็นวิทยานิพนธ์ที่สั้นมาก แต่อัดแน่นไปด้วยสมการคณิตศาสตร์

ผู้เขียนเคยพยายามลองอ่านแล้ว อ่านไม่จบสักที

การเลือกตั้งเป็นเกมชนิดหนึ่งเหมือนกัน!

ซึ่งบางส่วนเข้ากับ Strategic form game

บางส่วนเข้ากับ Extensive form game

จึงมีเกมทั้ง 2 ชนิดปะปนรวมกัน

หากมองฝั่งพรรคที่มีนโยบายเสรีนิยม เดิมทีมีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่ครองตลาดอยู่เพียงพรรคเดียว จึงเกิดสภาพตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์

พรรคเพื่อไทยจึงได้เปรียบในการเลือกตั้งทุกครั้ง ถึงขั้นมีวลีทางการเมืองว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งก็ชนะ”

จนกระทั่งมีพรรคอนาคตใหม่เพิ่มเข้ามาในเกมการเมือง การเลือกตั้งครั้งปี 2562 ยังเป็นพรรคใหม่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผ่านการยุบพรรคมา 1 ครั้ง

แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานมากมายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน และต้องการแบ่งเก้าอี้ ส.ส.จากฟากเสรีนิยม จึงเรียกได้ว่าเป็นพรรคที่มีต้นทุนทางการเมืองต่ำกว่า

ทางเดียวที่ม้านอกสายตาอย่างพรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้งได้ ก็คือ การทำการบ้านอย่างหนัก

สรรหานโยบายที่ตรงตามความต้องการของประชาชนในช่วงนั้นๆ เช่นเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

ด้วยสถานะพรรคน้องใหม่จึงมีข้อจำกัดทางการเมืองไม่มากนัก มีความคล่องตัวสูงมาก สามารถปรับเปลี่ยนตามกระแสสังคมได้ง่าย

จึงเกิดปรากฏการณ์ “กระแสสังคมขับเคลื่อนพรรค และพรรคขับเคลื่อนกระแสสังคม” หวังคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หากมองเรื่องการเลือกตั้งเป็นรูปแบบของทฤษฎีเกม ภายใต้สมมุติฐานว่า หากพรรคเพื่อไทยมีทางเลือก 2 ทาง ระหว่าง ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลัก (ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคถนัด) พรรคน่าจะได้จำนวน ส.ส.ในสภาประมาณ 180-200 คน

แต่หากผลักดันนโยบายสังคมและการเมืองเป็นหลัก อาจสุ่มเสี่ยงโดนยุบพรรคเหมือนในอดีตที่ผ่านมา หรือนโยบายไม่โดดเด่นพอ จะเหลือ ส.ส.ประมาณ 130-150 คน

ในขณะที่พรรคก้าวไกล หากเลือกผลักดันนโยบายเศรษฐกิจนำนโยบายสังคมและการเมือง อาจสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ น่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 70-90 คน

แต่หากเลือกผลักดันนโยบายสังคมและการเมือง อาจได้ ส.ส.ประมาณ 120-140 คน

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าต่างฝ่ายต่างทราบข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างดี (Symmetric Information) แต่ละพรรคจึงเลือกแนวทางที่ตนเองได้รับอรรถประโยชน์ (Utility) สูงสุด ซึ่งในเกมการเลือกตั้งก็คือ จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

ส่วนในมุมของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนต้องการเลือกให้พรรคที่มีนโยบายที่ตนเองต้องการชนะการเลือกตั้ง มิฉะนั้นนโยบายเหล่านั้นก็เป็นหมันไม่ถูกหยิบยกมาปฏิบัติ

เกมการเมืองของประชาชนจึงหันมาเลือกพรรคที่คาดว่าจะได้เข้าร่วมรัฐบาลมากกว่าพรรคที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล จึงเกิดการแข่งขันกันอย่างหนักตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

สุดท้ายเมื่อประชาชนชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าต้องการนโยบายสังคมและการเมือง มากกว่านโยบายเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกลจึงชนะ หักผลโพลทุกสำนัก

เกมการแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ได้ชี้ขาดจากนโยบายเศรษฐกิจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ชี้ขาดจากนโยบายสังคมและการเมือง นับเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย

พอจบการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเกมอีกแบบหนึ่ง

ซึ่งหากมองในระยะสั้น ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มีทางเลือก 2 ทาง คือ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หรือ ไม่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

หากวิเคราะห์ตามสมการคณิตศาสตร์แล้ว เหมือนว่าหากร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แต่หากไม่ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจเสียคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ซึ่งเหตุการณ์นี้คล้ายกับ “เกมทวิบทของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma)” ซึ่งเป็นเกมมีนักโทษ 2 คน หากเลือกรับสารภาพจะได้รับการลดโทษ หากเลือกไม่รับสารภาพจะไม่ได้รับการลดโทษ และหากคนใดคนหนึ่งรับสารภาพขณะที่อีกคนหนึ่งไม่รับสารภาพจะได้รับโทษหนัก

จึงเป็นเกมที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าจะยอมเสียหายน้อยหรือเสียหายมาก

ซึ่งในเกมนี้พบว่า การสารภาพทั้งคู่จะเกิดจุดดุลยภาพ Nash strategy equilibrium แต่กลับไม่ได้ให้อรรถประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย

จุดดุลยภาพนี้จึงคงอยู่ได้ไม่นาน คงต้องดูกันยาวๆ ว่า 4 ปีหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

สุดท้ายแล้วคำถามที่ประชาชนต้องฉุกคิดอีกครั้ง “อะไรคืออรรถประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภา” ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้

และต้องไม่ลืมว่า

“แพ้เป็นพระ ชนะเป็นรัฐบาล แพ้นานๆ เป็นฝ่ายค้านตลอดไป”

ดูข่าวต้นฉบับ