สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นร้านยาของคณะเภสัชศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย เตรียมขยายผลเปิดให้บริการ "ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง" ครอบคลุมการรับยาตามสิทธิเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 กลุ่มอาการ คาดว่าจะเปิดให้บริการดูแลประชาชนสิทธิบัตรได้ภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ผศ.เภสัชกรศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน นอกจากการเป็น "ที่พึ่งของประชาชน" แล้ว ปัจจุบันยังเป็นร้านยาคุณภาพที่เน้นบทบาทเชิงรุก โดยจัดให้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังเพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.เภสัชกรหญิงมนทยา สุนันทิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม และผู้อำนวยการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน กล่าวถึงบทบาทของ "ร้านยาเภสัชมหิดล" ที่มีต่อชุมชนในปัจจุบันมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในเชิง "เภสัชสังคม" ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ป่วยโดยตรง เพื่อทราบถึงสาเหตุของการเลือกหยุดกินยาบางตัวของผู้ป่วย เพราะรู้สึกวิตกกังวลในผลกระทบของยา ซึ่งเป็นสาเหตุของการรักษาที่ไม่ได้ผลเต็มที่จากการไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากการลงพื้นที่ในชุมชนแล้ว ยังจัดทำ "สมุดสุขภาพ" เพื่อติดตามการรับประทานยา และการดูแลสุขภาวะของบุคลากรภายในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) เพื่อให้บุคลากรในคณะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน จะขยายผลเปิดให้บริการ "ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง" ให้สามารถรับยาตามสิทธิเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะขัด ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนังผื่นคัน บาดแผล ความผิดปกติที่ตา และหู
ดร.เภสัชกรหญิงมนทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรค ได้รับยาที่เหมาะสมและปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยาในชุมชน ซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการดูแลประชาชนสิทธิบัตรได้ภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า