ทั่วไป

"ชัยเกษม" งัดคำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้ชัด "ประยุทธ์" เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 15 ก.ค. 2562 เวลา 08.34 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 08.34 น.

วันที่ 15 กรกฎาคม 2562นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เนื่องในโอกาสที่ คสช.จะสิ้นสภาพลงในเย็นวันนี้และวันพรุ่งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ผู้นำก่อการรัฐประหารโค่นรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จะนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าพิธีถวายสัตย์ก่อนรับตำแหน่งบริหารประเทศต่อ ท่ามกลางข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าด้วยความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พรรคพลังประชารัฐยังคงเดินหน้าเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อว่า

ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้ครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พลเอกประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็น Candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่ง ในระหว่างนั้นท่านได้สวมหมวกไว้สองใบ ใบหนึ่งคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีส่วนอีกใบหนึ่งคือตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

หมวกใบแรกไม่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ย่อมได้รับการยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(12) แต่หมวกใบที่สองในตำแหน่งหัวหน้า คสช. นั้น

ผมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักกฏหมายในเรื่องนี้ได้ความว่า แนวคำพิพากษาฎีกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและคาดว่าจะยังคงเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลในโอกาสต่อไปข้างหน้า ได้วางหลักไว้ว่า “ผู้ทำการรัฐประหารสำเร็จย่อมถือเป็นผู้ ได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจในการสั่งการทุกประการ” คือเป็นตำแหน่งพิเศษจึงอยู่เหนือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เหตุที่มีการตัดสินในลักษณะนี้คงมีเหตุผลว่าการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อทำโดยผู้ที่มีอำนาจสั่งการกองกำลังและมีอาวุธพร้อมย่อมไม่มีผู้ใดจะต่อสู้กับอำนาจดังกล่าวได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ย่อมสิ้นไปเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้มีรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับชั่วคราวหรือฉบับถาวรประกาศใช้ ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. เมื่อมิได้มีอำนาจรัฐาธิปัตย์แล้ว จะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

ในประเด็นนี้ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/ 2543 ตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฏหมาย
  2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
  3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
  4. มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฏหมาย

จะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นในการออกคำสั่งต่างๆมากมายอาทิคำสั่งโยกย้ายข้าราชการ คำสั่งเรียกให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มารายงานตัวดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวถึงข้างต้น อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่งหัวหน้าคสช. ก็ได้รับเงินจากการดำรงตำแหน่งจากรัฐจำนวน 75,590 บาทต่อเดือนและเงินเพิ่มจำนวน 50,000 บาทต่อเดือน (รวมเป็นจำนวนเดือนละ 125,590 บาทต่อเดือน)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้นเมื่อดูจากการตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของศาลฎีกาฯ ผมจึงเห็นว่าการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. ของพลเอกประยุทธ์ จะแปลความเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งมีผลทำให้พลเอกประยุทธ์ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ตามมาตรา 160 (6)ประกอบกับมาตรา 98( 15)

ความคิดเห็นของผมซึ่งอ้างอิงจากแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฎีกาและข้อกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว สอดคล้องกับความกังวลของนักกฏหมายหลายท่านที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันกับผม จึงได้มีการดำเนินการยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าผลจะออกมาเป็น อย่างไรย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆทางการเมืองและไม่ใช่การเมือง เป็นต้นว่าผลต่อความรับผิดในค่าเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้านในกรณีปิดเหมืองทองอัคราตามประกาศคำสั่งคสช. ที่พลเอกประยุทธ์ได้สั่งให้มีการระงับการสำรวจและการประกอบกิจการทำเมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนไทยทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวท่านเองอาจจะต้องรับผิดค่าเสียหายเป็นส่วนตัว

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตามกฏหมายยังไม่สามารถหาความชัดเจนในการตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ ก็มีแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้ในการตีความกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างอิงความหมายของถ้อยคำที่เป็นประเด็นในคดีและตีความโดยอ้างอิงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและตัดสินคดีไปตามความหมายในพจนานุกรมดังกล่าว ซึ่งสำหรับในเรื่องนี้หากได้มีการอ้างอิงถึงพจนานุกรมจริง ตามแนวบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยปฏิบัติผมเชื่อว่าผลของคดีจะต้องออกมาในลักษณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพลเอกประยุทธ์มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างแน่นอน

ท่านที่อ่านความเห็นของผมในเรื่องนี้แล้วสามารถกลับไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานในคำว่า “เจ้าหน้าที่”คำหนึ่ง และในคำว่า “รัฐ” อีกคำหนึ่ง ท่านก็จะได้คำตอบไม่แตกต่างจากความเห็นของผมข้างต้น ทั้งจากตัวกฎหมายเองหรือจากพจนานุกรมว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างแน่นอนครับ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 18
  • ใครๆก็คิดได้แต่เจ้าตัวและขบวนการอื่นๆไม่ยอมรับ. ทำไงได้ทำอะไรได้
    15 ก.ค. 2562 เวลา 09.00 น.
  • คำสั่งปิดเหมือง คือคำสั่งตรงจาก ลุงตู่ คำสั่งปิดเหมือง หาใช่คำสั่งของ ปชช ปชช คือ ปชช! แต่ ลุงตู่ คือหัวหน้า คสช และเป็นผู้ออกคำสั่งและลงนามในการออกคำสั่ง! ในเมื่อ คุณกินเงินเดือนของรัฐบาล กินเบี้ยหวัดและเอาภาษีของ ปชช เป็นเงินเดือน คุณคือเจ้าหน้าที่ของรัฐแน่นอน,,, ปชช กับคำพูด คือคำเดียวกัน กินคือกิน ส่วนนักกฏหมายใช้คำแต่ละคำมาตีความหมาย ปชช ไม่สนใจ แต่เมื่อคำสั่งปิดเหมืองมาจาก ลุงตู่ คนรับผิดชอบ คือลุงตู่ หาใช่ ปชช ต้องรับผิดชอบร่วม ปชช อยู่เฉยๆ แต่ต้องรับผิดชอบต่อการสั่งให้ปิดเหมือง บ้าครับ.
    15 ก.ค. 2562 เวลา 10.28 น.
  • ANG DD 072
    ปืนอยู่เหนือกฏหมาย ทำอะไรได้ในการความ
    15 ก.ค. 2562 เวลา 09.53 น.
  • วราวุธ
    เจ้าหน้าที่เหนือมวลมหาประชาชน
    15 ก.ค. 2562 เวลา 09.03 น.
  • ดวงจันทร์
    ทำไงได้ก็มันใหญ่คับฟ้าอยู่ทุกวันนี้ใครจะทำอะไมันได้ไอ้เวรจะไร
    15 ก.ค. 2562 เวลา 09.01 น.
ดูทั้งหมด