ไลฟ์สไตล์

ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน

BLT BANGKOK
อัพเดต 24 ก.ค. 2562 เวลา 05.00 น. • เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 05.00 น.

ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน  

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กทม. ลุยตรวจสอบสวนสนุก 48 แห่ง 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

 

พบ 8 แห่งไม่ผ่านเกณฑ์สุขอนามัย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนการตรวจประเมินสุขลักษณะของสถานที่ตั้ง ลักษณะอาคาร การสุขาภิบาล ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและการป้องกันเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีกิจการสวนสนุกที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 40 แห่ง คิดเป็น 83.33% ส่วนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานมี 8 แห่ง คิดเป็น 16.67% และใน 48 แห่งแบ่งเป็นสวนสนุกที่อยู่ภายในอาคารห้างสรรพสินค้า 43 แห่ง อยู่ภายนอก 5 แห่ง 

 

ดึงภาคีเครือข่ายร่วมกำหนดกรอบ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักอนามัย โดยสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักนายกรัฐมนตรี, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพของกิจการสวนสนุก พร้อมทั้งให้ร่วมกันพัฒนาแนวทาง หลักเกณฑ์ คู่มือการตรวจประเมินด้านสุขลักษณะความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกิจการสวนสนุก เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้บริการเครื่องเล่นในสวนสนุก 

 

ยึด 5 มิติเป็นเกณฑ์ให้คะแนน 

โดย กทม. มีเกณฑ์การตรวจสวนสนุก ใน 5 มิติ คือ ต้องมีคู่มือการติดตั้ง และขออนุญาตถูกต้อง, ต้องมีคู่มือการใช้งานเครื่องเล่น พร้อมติดป้ายคำเตือน และกำหนดอายุผู้เล่นให้เห็นชัดเจน, ต้องมีคู่มือการดูแลบำรุงรักษา และตรวจสอบตามเวลาที่กำหนด คือ 3-6 เดือน และ 1-5 ปี, ต้องมีคนคุมเครื่องที่ต้องผ่านการฝึกอบรม และต้องมีแผนการรับมือและแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงต้องดูแลความสะอาดป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ เช่น โรคมือ เท้า ปาก, ไข้หวัดใหญ่, ตาแดง สู่ผู้ที่มาใช้บริการ และสำหรับสวนสนุกที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน กทม. ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเร่งแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการโดยเร็ว 

 

ทั้งนี้ ความปลอดภัยจากการเล่นเครื่องเล่นและใช้บริการในสวนสนุก นอกจากจะต้องเข้มงวดกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการและผู้ปกครอง คอยดูแลและให้คำแนะนำเด็กให้เล่นเครื่องเล่นอย่างเหมาะสมกับช่วงอายุ เล่นด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเล่นในสวนสนุก เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย
_
คุณทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ - รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

"กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้บริการเครื่องเล่นในสวนสนุก จึงมอบหมายให้สำนักอนามัย โดยสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนาแนวทาง หลักเกณฑ์ คู่มือการตรวจประเมินด้านสุขลักษณะความปลอดภัย และอาชีวอนามัยสำหรับกิจการสวนสนุก พร้อมทั้งได้กำชับให้สำนักงานเขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนที่ไปใช้บริการ"

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 8
  • Bugjo Sakda
    มีคนตายเมื่อไหร่ค่อยบอกสถานที่
    24 ก.ค. 2562 เวลา 07.25 น.
  • Jiab sopana
    มาตรฐานต่ำไปนะ ไม่มีใบอนุญาตก็ต้องปิดเลยสิ ไม่ใช่ว่าให้ไปขอภายใน15วัน ไม่ลงโทษแล้วยังอนุโลมอีกเหรอ เกิดลูกหลานใครเจออุบัติเหตุตายแล้วใครจะรับผิดชอบคะคุณพี่ 🤔🤨🙄
    24 ก.ค. 2562 เวลา 07.13 น.
  • ..l𝓦𝓲𝓵𝓵𝔂 吳 𝓙𝓙 l...
    เปิดเผยชื่อด้วย ยิ่งที่ไหนเปิดมานานนะ เครื่องเล่นอุปกรณ์เซฟชีวิตจะพังอยู่แล้วโคตรน่ากลัวเลย
    24 ก.ค. 2562 เวลา 07.21 น.
  • orgasm
    แห่งไหนดี ไม่ดีก็แจ้งให้ทราบสิคะใครจะไปตรัสรู้ ประชาชนจะได้รู้และเลือกได้
    24 ก.ค. 2562 เวลา 07.30 น.
  • K ll
    ไม่มีใบอณุญาต ไม่ผ่านเกณฑ์ แล้วจะเปิดทำไม หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ปิดและรอจนกว่าจะพร้อมดึกว่ามั้ย อย่าเอาความมักง่ายมาหากินกับชีวิตคน
    24 ก.ค. 2562 เวลา 08.24 น.
ดูทั้งหมด