ไลฟ์สไตล์

ระดับของจิตใจ - หมอเอิ้น พิยะดา

THINK TODAY
เผยแพร่ 29 พ.ค. 2562 เวลา 10.09 น.

ทุกวันนี้เรามีช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารของเราอยู่ติดตัวเราตลอดเวลา ข่าวสารบางอย่างมีผลดีต่อจิตใจ

แต่ข่าวสารที่มีผลร้ายกับจิตใจนั้นมากกว่า โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเราและโลกยังคงอึมครึม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การนั่งมองหน้าจอด้วยความสงสัยต่อพฤติกรรมของคนในจอ หรือคนรอบกายตัวเองบางคน แล้วเกิดคำถามว่าเพราะอะไรเขาจึงไม่มีการพัฒนาตัวเอง เพราะอะไรเขาไม่ตระหนักรู้ในเรื่องผิดถูก เพราะอะไรเขาชื่นชมยินดีในพฤติกรรมของตัวเองทั้งที่ผิดในทางศีลธรรมจริยธรรม

ความสงสัยอาจทำให้เราคับข้องใจ แล้วยิ่งมองเห็นคนเหล่านั้นยังคงมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อไป ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าโลกช่างไม่ยุติธรรมขึ้นไปทุกที

หากวันนี้เรายังไม่ได้มองเรื่องผิดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หมออยากบอกว่าเราควรเฉลิมฉลองให้ตัวเอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะนั้นหมายความว่าคุณมีต้นทุนทางจิตใจที่มากกว่า เพราะเราแต่ละคนเติบโตมาพร้อมต้นทุนทางจิตใจที่แตกต่างกัน

ถ้ามองในมุมของศาสนาพุทธเราจะเคยได้ยินคำว่าบัว 4 เหล่า ประกอบด้วยบัวในตม บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวพ้นน้ำ

ในมุมของจิตวิทยามีศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ได้ต่อยอดศึกษาวิจัย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 “ระดับความซับซ้อนของจิต” (level of mental complexity) ในคนว่ามีความแตกต่างกันไปตามการพัฒนาของจิตใจ ศาสตราจารย์ คีแกนได้อธิบายระดับความซับซ้อนของจิตไว้ ๕ ระดับ ซึ่งระดับที่ ๑-๒ คือความซับซ้อนของจิตในเด็กและวัยรุ่น ในขณะที่ระดับที่ ๓-๕ เป็นความซับซ้อนของจิตในผู้ใหญ่

ระดับจิตใจที่ 1 จิตใจเป็นไปตามสิ่งเร้า ( Impulsive mind ) จิตใจระดับนี้โดยธรรมชาติเราจะพบใน

เด็กอายุ 2-6 ขวบ จิตใจระดับนี้จะเป็นไปตามสิ่งเร้า และรับรู้โลกตามจิตนาการของตัวเอง โดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น เด็กวิ่งแล้วเห็นก้อนเมฆเคลื่อนตามก็คิดว่าก้อนเมฆวิ่งตามตัวเอง เด็กซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากคนใกล้ชิดได้ง่ายแล้วแสดงออกในทันทีโดยไม่เข้าใจเรื่องความเหมาะสม และไม่เข้าใจถ้าคนอื่นจะรับรู้ต่างจากเขา

หากร่างกายเติบโตพ้นช่วงวัยนี้แต่จิตใจไม่พัฒนาตาม มักกลายเป็นคนที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สามารถรับรู้ความคิดความรู้สึกของคนอื่น ไม่รู้สึกผิดบาปอะไรกับการที่ตัวเองล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น 

คนรอบข้างจึงเกิดความทุกข์แต่เจ้าตัวคิดว่าตัวเองถูกต้องหรือเป็นผู้ถูกกระทำเสมอ และ คนกลุ่มนี้หากถูกพามารักษากับจิตแพทย์มักมาด้วยการถูกบังคับรักษา เพราะไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นจนเกิดปัญหาใหญ่โต บุคลิกภาพที่ผิดปกติแม้ไม่ได้มีอาการทางจิตเช่นนี้ ไม่มียารักษาและยากจะเยียวยา

ระดับจิตใจที่ 2 จิตใจตามใจตน ( Imperial Mind ) จิตใจระดับนี้โดยธรรมชาติเราจะพบในเด็กอายุ 7 - 12 ขวบ

เด็กวัยนี้รับรู้มุมมองความชอบส่วนตัวของตัวเองและคนอื่นได้ เชื่อมโยงกับคนอื่นและสภาพแวดล้อมได้ เลือกที่จะอยู่กับกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน และเลือกที่จะทำตามความต้องการและปรารถนาของตัวเองมากกว่าความรู้สึกของคนอื่น

 หากร่างกายเติบโตพ้นช่วงวัยนี้แต่จิตใจไม่พัฒนาตาม บุคลิกภาพมักแสดงออกมาเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัว โดยไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่คือสิ่งที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว

ระดับจิตใจที่ 1 และ 2 เป็นระดับที่จะบอกว่าวัยวุฒินั้นสำคัญหรือไม่สำคัญ เพราะหากอายุเกินแล้วแต่ระดับของจิตใจไม่พัฒนาตาม วัยวุฒิอาจไม่ได้ตอบโจทย์ของความคิด

ระดับจิตใจที่ 3 จิตใจตามสังคม ( Socialized Mind ) จิตใจระดับนี้ เราจะรับรู้ความต้องการของตัวเอง

ของคนอื่น และของสังคม สามารถระงับความต้องการของตัวเองได้เพื่อรักษาประเพณี กติกา ศีลธรรมจรรยาหรือกฎหมายที่สังคมกำหนด และผูกติดคุณค่าของตัวเองกับบทบาทที่มีในสังคม เช่น บทบาทในสังคมคือการเป็นครู

ก็จะสวมบทบาทครูทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เป็นต้น

 ระดับจิตใจที่ 4 จิตใจตามตัวตน ( Self – authoring Mind ) จิตใจระดับนี้ จะรับรู้ความเป็นตัวเอง และบทบาทต่อสังคมได้ชัดเจนแต่มีความสามารถในการยืดหยุ่นต่อบทบาท กฎระเบียบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ ประสิทธิภาพของงานและการบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือสังคมเป็นหลัก มีการเลือกให้บทบาทของตัวเองได้เหมาะสมมากขึ้นเช่น ที่โรงเรียนเป็นครู

อยู่กับสามีก็เป็นภรรยา อยู่กับลูกก็เป็นแม่ สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจระดับนี้คือ การพยายามรักษาความสมดุลในชีวิตไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง

ระดับจิตใจที่ 5 จิตใจตามการเปลี่ยนแปลง ( Self – transforming mind)

จิตใจระดับนี้ จะมีความเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสังคม เข้าใจกฎระเบียบ มีความยืดหยุ่น รู้จักรักษาสมดุลแต่ก็เข้าใจการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงจุดที่ท้าทายสามารถเรียงร้อยประสบการณ์และพาตัวเองไปสู่สมดุลใหม่ได้

 การทำความเข้าใจในพื้นฐานของระดับจิตใจ อาจทำให้เราลดความสงสัยในพฤติกรรมของใครบางคนและลดการให้คุณค่าและเวลากับพฤติกรรมของคนเหล่านั้น ประเมินระดับจิตใจของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ แล้วรักษาระดับหรือพัฒนาจิตใจของเราให้ดีขึ้น เพื่อความสุขในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเราเอง

เพราะความพิเศษของการเกิดเป็นมนุษย์คือการเป็นสัตว์ที่สามารถฝึกฝนจิตใจของตนได้

https://youtu.be/JdYk2IbC6A0 

วิ่งนี้ดีต่อใจ สิ่งดีดีที่ได้เรียนรู้จากการลงวิ่งครั้งแรก

https://youtu.be/1W7r6ZCaGWg

เพลงนี้ดีต่อใจ มากกว่ารัก ( original version)

https://youtu.be/Fim6BwyP3MY

Pain ship มาเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมที่เงียบเหงา

---------------------------------------------------------------------------- 

Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549

----------------------------------------------------------------------------

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/

----------------------------------------------------------------------------

Website : http://www.earnpiyada.com/

ความเห็น 2
  • ผมคิดว่าบางครั้งการที่ไม่ยึดติดหรือว่าเก็บเอาเรื่องราวต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามมาคิดให้มากจนเกินไปก็อาจสามารถที่จะทำให้จิตใจของเรานั้นดีขึ้นมาได้เหมือนกันนะครับ.
    29 พ.ค. 2562 เวลา 12.51 น.
  • การเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญมาก อยากให้เด็กโตขึ้นแล้วมีจิตใจแบบใหน อยู่ที่เราจะใส่อะไรลงไปในจิตใจเขา อย่างแรกที่ต้องใส่คือธรรมะ ให้เขาเป็นคนดีก่อนแล้วค่อยใส่อาวุธทางปัญญา
    30 พ.ค. 2562 เวลา 11.49 น.
ดูทั้งหมด