ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บ้านโนนปอแดง แปรรูปส้มปลาหน้ากระเทียม หนึ่งเดียวของหนองบัวลำภู

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 14 ก.ย 2563 เวลา 04.41 น. • เผยแพร่ 13 ก.ย 2563 เวลา 05.24 น.

“ดินแดนสันเขื่อนอุบลรัตน์ ทิวทัศน์บนภูเก้า ข้าวสารขาวบ้านถิ่น น้ำตกรินตาดโตน ภักษาหารมากล้นกุ้งปูปลา”…

เป็นคำขวัญอำเภอโนนสัง มีการปกครองทั้งหมด 10 ตำบล จำนวน 107 หมู่บ้าน ตำบลมีอาณาเขตติดพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ 6 ตำบล จำนวน 65 หมู่บ้าน มีอาชีพทำการประมง จำนวน 2,350 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลา จำนวน 4 กลุ่ม โดยเฉพาะหมู่บ้านโนนปอแดง หมู่ที่ 4 ตำบลโคกใหญ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่มีกลุ่มแปรรูปปลาจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับของฝากเป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวและเยี่ยมเยือนหรือมาเที่ยวอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณโสภา สมพวงภักดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดง เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านโนนปอแดงแต่ก่อนมีราษฎรบางส่วนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยได้อพยพขึ้นมาอยู่รอบบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพจับปลาขาย

ปัจจุบันนี้บ้านโนนปอแดง มีทั้งหมดจำนวน 81 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 335 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงกระบือ จับปลาตามเขื่อนอุบลรัตน์มาจำหน่าย ขณะเดียวกัน ปลาบางส่วนชาวบ้านได้เก็บไว้บริโภค ทั้งในรูปปลาสดและการถนอมอาหาร อย่างปลาส้ม ปลาร้า เพราะเห็นว่ามีจำนวนมากน่าผลิตเพื่อนำออกจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง เมื่อเกิดแนวคิดจึงได้ทำการรวมกลุ่มกันผลิตแปรรูปปลาส้มตัวอย่างเป็นรูปธรรม โดยช่วงเริ่มต้นปลาที่ใช้ผลิตปลาส้มจะใช้ปลาที่ชาวบ้านจับตามแหล่งน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ และรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแปรรูปปลาโนนปอแดง จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดง วันที่ 6 ธันวาคม 2555 กับสำนักงานเกษตรอำเภอโนนสัง โดยมีที่ทำการที่ตั้ง เลขที่ 3 หมู่ที่ 4 บ้านโนนปอแดง ตำบลโคกใหญ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ได้เริ่มต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2555 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการชีววิถี ได้พาไปศึกษาดูงานที่กลุ่มแปรรูปปลาสมุนไพรบ้านห้วยบง กลุ่มที่ 3 จากนั้นได้ทดลองทำเพื่อขายให้กับคนในชุมชน จากนั้นสมาชิกกลุ่มฝีมือและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมถึงการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย

ทางกลุ่มทดลองใช้กระเทียมติดหน้าปลาส้มตัว จึงเป็นที่มาปลาส้มหน้ากระเทียม และได้ชื่อแบรนด์ “ปลาส้มหน้ากระเทียม” และการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทั้งจากในอำเภอ จังหวัด และต่างจังหวัดเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การตลาดของกลุ่มนำไปจำหน่ายตลาดประชารัฐรวมผลผลิตทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด

สูตรการทำปลาส้ม ส่วนผสมประกอบด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ปลาตะเพียน 2 กิโลกรัม
  • เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ
  • กระเทียมบดหรือตำ 1/2 ถ้วย
  • ข้าวสุก 1 ถ้วย

วิธีทำ

ขอดเกล็ดปลาและควักไส้ออกให้หมด แล้วบั้งปลาข้างละสี่ห้าบั้งหรือตามต้องการ ถ้าปลาตัวใหญ่ตัดปลาเป็นสองถึงสามชิ้น นำข้าวสุกไปล้างน้ำ นำกระเทียมกับเกลือทั้งหมดสามอย่างนำไปคลุกกับปลา นวดให้เข้ากัน นำปลาที่ได้ใส่ภาชนะ กดตัวปลาให้แน่น และปิดฝา ทิ้งไว้ 1-5 วัน หรือจนกระทั่งปลามีรสเปรี้ยวจึงนำออกทอดได้

– การใส่กระเทียมเยอะๆ จะช่วยทำให้กลิ่นปลาหอม และมีความคาวลดลง

– นำแป้งข้าวเจ้าละลายน้ำ แช่ปลาก่อน 20 นาที ก่อนลงหมักด้วยเครื่องต่างๆ จะทำให้เนื้อปลาแข็งตัว เนื้อไม่เละ ก่อนลงทอดตีไข่ไก่ให้แตก แล้วนำปลาไปคลุกไข่ไก่ ก่อนนำลงทอดจะทำให้ปลาส้มหอมน่ารับประทาน หรืออาจนำไปนึ่ง ทำให้รสชาติดีมาก ไม่อมน้ำมัน

ราคาจำหน่าย ปลาส้มหน้ากระเทียม (ปลาตะเพียน) ขายส่งกิโลกรัมละ 70-80 บาท

ปลาส้มสายเดี่ยว ขายส่ง กิโลกรัมละ 9 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท ส้มไข่ปลา ขายส่ง กิโลกรัมละ 85 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท หม่ำไข่ปลา ขายส่ง กิโลกรัมละ 60 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 80 บาท

คุณโสภา ได้เล่าให้ฟังอีกว่า ทางกลุ่มมีการดำเนินกิจกรรม โดยมีคณะกรรมการบริหารของกลุ่ม ประกอบด้วย

  • คุณโสภา สมพวงภักดี ตำแหน่ง ประธานกรรมการ
  • คุณบุญหลาย เห็มโพธิ์ ตำแหน่ง รองประธานกรรมการ
  • คุณเอี้ยง ไชยรส ตำแหน่ง เลขานุการ
  • คุณลั่นทม แก้วเวหล ตำแหน่ง เหรัญญิก
  • คุณบานเย็น สมศรี ตำแหน่ง กรรมการ
  • คุณสมหมาย สุปัญญา ตำแหน่ง กรรมการ
  • คุณอุทัย โยธามาตย์ ตำแหน่ง กรรมการ
  • คุณท่อน บัวจันทร์ ตำแหน่ง กรรมการ
  • คุณน้อย จันทร์ไทย ตำแหน่ง กรรมการ

 

ผู้ตรวจสอบกิจการของกลุ่ม

  • คุณวีระ ไพรตื่น
  • คุณสมศรี สมพวงภักดี

การสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ

ปี 2556 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างโรงเรือน ปรับปรุง และต่อเติมอาคารที่ทำการกลุ่ม จาก กฟผ. เป็นเงิน 100,000 บาท

ปี 2558 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อต่อเติมห้องเตรียมการผลิต จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 20,000 บาท

ปี 2559 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อต่อเติมห้องบรรจุผลิตภัณฑ์ จาก อบต.โคกใหญ่ จำนวน 20,000 บาท

ปี 2559 สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู สนับสนุนถุงบรรจุผลิตภัณฑ์ จำนวน 10,000 บาท

ปี 2560 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงโรงเรือน จาก กรมประมง จำนวน 200,000 บาท

บทบาทของสมาชิกและบทบาทของคณะกรรมการ ที่มีต่อกลุ่ม

  • บทบาทของสมาชิกที่มีต่อกลุ่ม มีดังนี้

–  ผลิตผลิตภัณฑ์ให้ทันความต้องการตลาด

– ร่วมประชุมประจำเดือน

  • บทบาทของคณะกรรมการที่มีต่อกลุ่ม ดังนี้

– ประชาสัมพันธ์ติดต่อกับลูกค้า

– ประสานงาน เพื่อจัดหางบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

– ประชุมคณะกรรมการกลุ่ม

– ทำบัญชีรายรับรายจ่ายกลุ่ม

คุณกัลยา ไชยคำแดง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รับผิดชอบกลุ่มงานพัฒนาเกษตรกรระดับอำเภอ และรับผิดชอบตำบลโคกใหญ่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการออกติดตาม แนะนำ ให้คำปรึกษา ซึ่งพบว่าทางกลุ่มมีแนวความคิดริเริ่มที่จะดำเนินการโครงการในอนาคต ได้แก่

  • ตั้งร้านค้าสหกรณ์ของกลุ่มในชุมชน
  • ขยายช่องทางการจำหน่ายกิจกรรมการจำหน่ายครบวงจรเพื่อส่งออก
  • แปรรูปปลาร้า ปลาส้มสมุนไพร และปลาจ๊อ
  • ส่งเสริมการประมงเลี้ยงปลาในชุมชนเพื่อเป็นวัตถุดิบ

ณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน เกษตรอำเภอโนนสัง กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดง ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัดเป็นอย่างดี โดยสินค้ามีการวางขายในตลาดชุมชน หรือตลาดสีเขียวในจังหวัด นอกจากนี้ สินค้ายังมีการผลิตตามออเดอร์จากขาประจำจากทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีพ่อค้ารับไปจำหน่ายที่ตลาดลาวและเขมร

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดงมีรสชาติยอดเยี่ยม จุดเด่นทุกตัวต้องมีกระเทียมติด นอกจากนี้ ใช้สูตรและกรรมวิธีแบบโบราณ ไม่มีการใช้สารเคมีหรือปรุงแต่ง พร้อมกับได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ส้มไข่ปลาผ่านการรับรองมาตรฐาน จาก อย. เลข 39-02358-2-0001 และได้รับใบรับรอง มผช. 754/2557

ผลิตภัณฑ์ส้มปลาหน้ากระเทียมผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. เลข 39-02358-2-0002 และได้รับใบรับรอง มผช. 471/2555 ผลิตภัณฑ์ส้มปลาตะเพียนผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. เลข 39-02358-2-0003 และได้รับใบรับรอง มผช. 754/2557

คุณชนะ ไชยฮ้อย เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดหนองบัวลำภู มีจำนวน 1,591 กลุ่ม แต่มีการดำเนินการรวมกลุ่มกัน แต่กิจกรรมยังไม่โดดเด่น กิจกรรมอาจไม่ต่อเนื่อง คุณภาพผลผลิตยังไม่ได้มาตรฐาน อาจจะต้องส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จะส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยการต่อ แต่ง เติม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยจะส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็น Smart Group คือกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน มีกระบวนการผลิตสินค้าที่ดี การบริหารจัดการที่ดี จะได้ผลผลิตที่ดี สู่เป็น Smart Product ต่อไป

หากสนใจหรือสอบถามรายละเอียดการสั่งสินค้าได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดง เลขที่ 3 หมู่ที่ 4 บ้านโนนปอแดง ตำบลโคกใหญ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู รหัสไปรษณีย์ 39140 โทร. (085) 014-5734 และ (061) 029-4970 หรือทางเฟซบุ๊ก ปลาส้มโนนปอแดง

 

ดูข่าวต้นฉบับ