ไลฟ์สไตล์

หนทางไปสู่ความตายเป็นวิถีสว่างไสว - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2563 เวลา 18.37 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เบื้องแรกปรากฏเสียงดังสนั่นเหมือนระเบิด ตามมาด้วยแรงกระแทกหนักหน่วง เรือทั้งลำสั่นสะท้านสะเทือน ได้ยินเสียงร้องตะโกน “เรือถูกตอร์ปิโด”

เสียงอึงคะนึงของเหล่าทหารที่วิ่งเข้าประจำการรบ เสียงตะโกนโหวกเหวก เรือทั้งลำจมในความมืดเพราะระบบไฟฟ้าถูกทำลาย ปรากฏความวุ่นวาย สับสนอลหม่านในความมืด บางคนติดในเรือเพราะมองไม่เห็นทาง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มันเป็นเวลาราวตีหนึ่ง พวกเขารู้ว่าหายนะกำลังมาเยือน เมื่อเรือถูกตอร์ปิโดข้าศึกยิง ใครบางคนจุดพลุ แสงสว่างทำให้เห็นเรือที่เอียง เรือกำลังจม

เรือชูชีพถูกนำลงผิวน้ำ ชายสี่คนทำหน้าที่แจกจ่ายเสื้อชูชีพและจัดการจัดสรรคนลงเรือชูชีพอย่างเป็นระเบียบ

ชายทั้งสี่เป็นบาทหลวง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

มันเป็นปีที่สี่ของสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดอร์เชสเตอร์ออกจากท่านิวยอร์กเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1943 บรรทุกทหารและลูกเรือเก้าร้อยคน มุ่งหน้าสู่กรีนแลนด์ โดยมีเรือคุ้มกันสามลำ

ดอร์เชสเตอร์เป็นเรือขนาด 5,649 ตัน เดิมเป็นนาวาพาณิชย์พลเรือน เมื่อเกิดสงครามถูกดัดแปลงเป็นเรือขนส่งทหาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนเกิดเหตุกัปตันได้รับแจ้งจากยามชายฝั่งว่าพบสัญญาณเรือดำน้ำหรือเรืออูของเยอรมนีเพ่นพ่านแถวนั้น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรืออูจมเรือรบและเรือพาณิชย์ของฝ่ายสัมพันธมิตรไปมาก กัปตันเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ สั่งให้ทหารเรือสวมเสื้อชูชีพแม้ในเวลานอน แต่ลูกเรือส่วนใหญ่ไม่ฟังคำสั่ง เพราะห้องพักในเรือร้อนมากเนื่องจากอยู่ใกล้เครื่องยนต์

เช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1943 ก่อนตีหนึ่งเล็กน้อย เรือดำน้ำ U-223 ของเยอรมันก็โจมตี ตอร์ปิโดฝ่าคลื่นพุ่งชนดอร์เชสเตอร์ขณะแล่นอยู่แถวนิวฟันด์แลนด์

บาทหลวงทหารทั้งสี่ช่วยจัดการให้คนลงเรือชูชีพอย่างเป็นระเบียบ 

บาทหลวงสี่คนนี้เป็นทหารยศร้อยตรี เป็นบาทหลวงทหาร (Chaplain) ได้แก่ จอร์จ แลนซิง ฟอกซ์, อเล็กซานเดอร์ เดวิด กูด, จอห์น แพทริค วอชิงตัน และ คลาร์ก แวนเดอร์แซล โพลิง

เหล่าทหารเรียกทั้งสี่ว่า The Four Chaplains

หน้าที่ของบาทหลวงทหารคือ ทำกิจศาสนาในกองทัพ รักษาสภาพจิตคนในกองทัพ ทุกศาสนา

ก่อนมาร่วมลงเรือลำเดียวกัน ทั้งสี่เคยพบกันมาก่อนที่ค่ายไมล์ส สแตนดิช ในเมืองทอนตัน รัฐแมสซาชูเซตส์

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

จอร์จ แลนซิง ฟอกซ์ (George Lansing Fox) เกิดที่ลูอิสทาวน์ เพนซิลเวเนีย อายุสิบเจ็ดออกจากโรงเรียนไปสมัครทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เข้าไปประจำหน่วยพยาบาล ในปี 1917 ถูกส่งไปฝรั่งเศส เป็นผู้ช่วยหน่วยพยาบาล เขาแสดงความกล้าหาญให้เห็นหลายครั้งจนได้รับเหรียญ Silver Star เหรียญ Purple Heart และ Croix de Guerre ของฝรั่งเศส

หลังพ้นหน้าที่ ฟอกซ์ก็กลับบ้านไปเรียนต่อด้านศาสนา

เขาแต่งงานปี 1923 และทำงานเป็นนักเทศน์สาย Methodist ศึกษาด้านศาสนวิทยาต่อ และในปี 1934 ผ่านพิธีเป็นบาทหลวง (Methodist minister)

ในปี 1942 อายุ 42 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองกำลังเข้มข้น เขาอาสาเป็นบาทหลวงทหารประจำกองทัพ และในที่สุดก็มาลงเรือลำนี้

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

อเล็กซานเดอร์ เดวิด กูด (Alexander David Goode) เกิดที่บรูคลิน นิวยอร์ก บิดาเป็นแรบไบ เขาเจริญรอยตามพ่อ ไปเรียนเป็นแรบไบที่ Hebrew Union College จนจบการศึกษา และยังเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ 

ปี 1941 อายุสามสิบ เขาสมัครเป็นบาทหลวงในกองทัพเรือ แต่ไม่ผ่าน

ทว่าหลังเกิดเหตุญี่ปุ่นโจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในปีนั้น เขาสมัครอีกครั้ง ได้เป็นบาทหลวงทหารในปีถัดมา แล้วเริ่มออกปฏิบัติหน้าที่ 

เขาถูกส่งไปประจำการที่ฐานทัพอากาศ 333rd Fighter Squadron ในเมืองโกลด์โบโร รัฐนอร์ธ แคโรไลนา แล้วส่งต่อไปประจำการที่ทอนตัน แมสซาชูเซตส์ และในที่สุดก็มาลงเรือลำนี้

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

คลาร์ก แวนเดอร์แซล โพลิง (Clark Vandersall Poling) เกิดที่โคลัมบัส โอไฮโอ เกิดในครอบครัวที่เคร่งศาสนา เรียนที่ Divinity School มหาวิทยาลัยเยล จบปี 1936

ทำงานด้านกิจการศาสนามาตลอด บวชที่ The Reformed Church in America เป็นนักเทศน์

บิดาเขาเคยเป็นบาทหลวงทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บิดาบอกว่าบาทหลวงทหารก็เป็นงานเสี่ยงภัยไม่ต่างจากทหารทั่วไป

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาสมัครเป็นบาทหลวงทหารในปี 1942 อายุสามสิบสอง เป็นบาทหลวงทหาร ประจำการที่ 131st Quartermaster Truck Regiment (ซึ่งต่อมาเป็นหน่วยที่ไปร่วบรบที่นอร์มังดี ฝรั่งเศส)

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

จอห์น แพทริค วอชิงตัน (John Patrick Washington) บ้านเกิดคือ นิว เจอร์ซีย์ เรียนเป็นบาทหลวงแคทอลิก และบวชเป็นบาทหลวงในปี 1935

บาทหลวงวอชิงตันทำงานที่ นิว เจอร์ซีย์ แต่เมื่อสหรัฐฯเข้าสู่สงคราม เขาก็สมัครเป็นบาทหลวงทหาร และพบอีกสามคน

เขาอายุสามสิบสี่เมื่อมาลงเรือลำนี้

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

บาทหลวงทั้งสี่ช่วยปลอบขวัญทหารที่แตกตื่น ดูแลคนบาดเจ็บ ช่วยกันแจกเสื้อชูชีพให้ทุกคน 

ในที่สุดเสื้อชูชีพก็หมด ทั้งสี่มองตากัน แล้วถอดเสื้อชูชีพของตัวเองให้คนอื่น

พวกเขาช่วยคนให้ลงเรือมากที่สุด

ในที่สุดบนเรือก็เหลือเพียงทั้งสี่ 

เมื่อไม่มีเสื้อชูชีพ ทั้งสี่ก็รู้ชะตาชีวิตที่เหลือดี

เกรดี คลาร์ก ผู้รอดตายคนหนึ่งเล่าว่า “ผมว่ายออกจากเรือ แล้วมองกลับไป แสงพลุส่องสว่าง เห็นหัวเรือโผล่ขึ้นสูง แล้วไถลลงใต้ผิวน้ำ สิ่งสุดท้ายที่ผมเห็น บาทหลวงทั้งสี่กำลังสวดมนต์ให้ทุกคนปลอดภัย พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้ว ผมไม่เห็นพวกเขาอีกเลย พวกเขาไม่มีทางรอดโดยปราศจากเสื้อชูชีพ”

เมื่อเรือชูชีพแล่นออกไป ทั้งสี่ก็คล้องแขนกันร้องเพลง สวดมนต์เป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งฮีบรู ละติน ฯลฯ จนกระทั่งเรือจมใต้ผิวน้ำ

The Four Chaplains ร่วมเรือลำเดียวกัน และร่วมชะตาเดียวกัน 

ความเชื่อเดียวกัน ความกล้าหาญอย่างเดียวกัน

ในคืนมืดมิด แต่หนทางไปสู่ความตายเป็นวิถีสว่างไสว

หมายเหตุ

ผู้โดยสารดอร์เชสเตอร์ 904 คน รอดตายมาได้ 230 คน เพราะแม้ส่วนใหญ่สวมเสื้อชูชีพ แต่การลอยคอในทะเลหนาวเหน็บ อุณหภูมิหนึ่งองศาเซลเซียส ก็เกิดอาการ Hypothermia จนเสียชีวิต ศพลอยเต็มทะเล แต่ไม่จมเพราะเสื้อชูชีพพยุงไว้

The Four Chaplains ได้รับการยกย่องหลังตายด้วยเหรียญ Distinguished Service Cross และ The Purple Heart

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

ความเห็น 3
  • sor sirimetha
    ชีวิตที่อยู่เพื่อคนอื่นทำเพื่อคนอื่นเป็นชีวิตที่สว่างไสวเสมอไม่ว่าจะอยู่หรือตายไปแล้วก็ตาม
    07 ธ.ค. 2563 เวลา 12.36 น.
  • Tid
    อ่านบทความ​ของ​คุณ​วินทร์หลายเรื่องแล้ว​ น้ำตาไหลซาบซึ้ง​ในความดีของหลายๆคนที่เล่ามา​ ขอบคุณ​ค่ะ​ ในโลกออนไลน์​ควรมีเรื่องดีๆเยอะๆ​ เผื่อที่ทะเลาะกันในไทย​จะได้มีโอกาสทบทวนว่าตัวเองได้ทำประโยชน์​อะไรกันบ้างหรือเปล่า​ ดีกว่าคอยจ้องเขียนโจมตีกันไปมา
    10 ธ.ค. 2563 เวลา 04.16 น.
  • Damm Panichkul
    คือถ้าจะแปลเรื่องราวของตนในโลกใบนี้,อายุคนแปล80ปีคงไม่พอ,เพราะกำเหนิดประวัติศาตร์มนุษย์ประมาณ2แสนปี.🤣🤣🤣🤣🤣🤣
    07 ธ.ค. 2563 เวลา 02.15 น.
ดูทั้งหมด