ไลฟ์สไตล์

เทคโนโลยีไขปมปริศนา ‘ลูกปัดแก้วมีตา’ สมบัติโบราณยุคจ้านกั๋ว

Xinhua
เผยแพร่ 16 ม.ค. 2563 เวลา 16.18 น.

เสิ่นหยาง, 16 ม.ค. (ซินหัว) -- เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้คณะนักวิจัยชาวจีนสามารถแก้ปริศนาของ "ลูกปัดแก้วมีตา" จำนวน 7 เม็ด ที่พบในสุสานยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนค.ศ.)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโบราณวัตถุและโบราณคดีในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (XRF) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) เพื่อศึกษาลูกปัดหายากที่ดูคล้ายคลึงกับตาแมลงปอ

ลูกปัดล้ำค่าทั้ง 7 เม็ดถูกค้นพบเมื่อปี 2003 ภายในสุสานแห่งหนึ่ง ซึ่งที่สร้างขึ้นในยุคจ้านกั๋วและตั้งอยู่ในหมู่บ้านของเมืองหูลูเต่า มณฑลเหลียวหนิง โดยลูกปัดเม็ดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1.78 เซนติเมตร

ไป่อี้เหมิง นักวิจัยชำนาญการประจำสถาบันฯ ระบุว่าเทคโนโลยีระดับสูงสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในด้านส่วนประกอบ อายุ แหล่งกำเนิด และวิธีการผลิตแก้วโบราณได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผลการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่าลูกปัดหายากทั้ง 7 เม็ดถูกนำเข้าจากตะวันตก โดยลูกปัดเหล่านี้ทำจากแก้ว 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นแก้วยุคสัมฤทธิ์ตอนปลายจากอียิปต์โบราณและเมโสโปเตเมีย ขณะที่อีกชนิดหนึ่งเป็นแก้วจากทางชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

ไป่กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานบ่งบอกการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับตะวันตกในช่วงต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อนึ่ง ลูกปัดมีตาที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบเป็นลูกปัดที่ถูกผลิตขึ้นในยุคอียิปต์โบราณระหว่าง 1550-1307 ปีก่อนค.ศ. ด้านจีนรับลูกปัดมีตาและเทคนิคการผลิตเข้ามาในยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนค.ศ.) โดยลูกปัดมีตาส่วนใหญ่มักถูกค้นพบในสุสานหลวง

ดูข่าวต้นฉบับ