ไลฟ์สไตล์

“ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร” แล้วการท่องอาขยานบอกอะไรเด็กไทย จำเป็นแค่ไหนที่ต้องท่องจำ?

The MATTER
เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 11.50 น. • Pulse

ย้อนเวลากลับไปสมัยใส่ชุดนักเรียน ตัดผมสั้น ผูกคอซอง หลายคนคงจำความรู้สึกตื่นเต้นขณะออกไปยืนท่องอาขยานหน้าชั้นเรียนวิชาภาษาไทยกันได้ดี พร้อมกับความสงสัยเล็กๆ ที่ว่า เราท่องอาขยานกันไปเพื่ออะไร? จำก็ยาก แถมท่องเสร็จก็ปล่อยให้หายไป ไม่ได้นำกลับมาใช้อะไรอีก

“ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะทุกคนไม่ได้ชอบท่องอาขยาน มันเป็นความชอบส่วนตัว แล้วท่องไปก็ไม่ได้อะไรเลย” ณัฐรดา สุวรรณ อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

a“ไม่จำเป็นต้องจำ ต้องท่อง แต่ควรได้อ่าน ได้เรียน เอาเวลาไปท่องจำภาษาที่สองดีกว่า” จักริน เก้าพัฒนสกุล อาชีพครีเอทีฟรายการโทรทัศน์

“จำไม่ได้ว่าเคยท่องหรือเปล่า” ธนากร สุนทร อาชีพนักเขียน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การออกไปท่องอาขยานหน้าชั้นเรียน จัดอยู่ในประเภท ‘การเรียนรู้แบบท่องจำ’ (rote learning) ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นการเรียนรู้ที่ ‘ล้าสมัย’ มาอย่างยาวนานจากเหล่านักวิชาการและตัวผู้เรียน แต่ด้วยความหวังดีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่หวังจะฟื้นการท่องอาขยาน สูตรคูณ และหน้าที่สิทธิพลเมืองให้แก่เด็กๆ นั้น ก็เลยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ เพราะการจะต้องมานั่งจำข้อมูลซ้ำๆ เพื่อนำไปสอบ ดูจะไม่ก่อให้เกิดปัญญาเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับการเรียนรู้แบบวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นความเข้าใจเป็นหลัก จึงเกิดเป็นข้อถกเถียงที่ว่า แล้วการท่องจำบทอาขยานนั้น ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

 

“รู้ไว้ใช่ว่า แต่ไม่ควรเป็นการบังคับ ควรให้มันเป็นสุนทรียภาพมากกว่า” ลิลล์รฎา ไชยชุมพล อาชีพนักการตลาด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เรียนได้ไม่เสียหาย ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าอาจารย์ไม่ให้ท่อง” อนวัช ศรีปลัดกอง อาชีพนักศึกษา

 

จากความเห็นของนักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงานที่ผ่านการสอบท่องอาขยานมาเนิ่นนาน ดูเหมือนการต่อต้านส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดพลาดของหลักสูตรการสอน ที่ก่ออคติให้เกิดขึ้นในใจของตัวผู้เรียน บางส่วนรู้สึกว่าการท่องอาขยานเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยท่องหรือเปล่า อาจด้วยความที่ว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สนุก และไม่ได้นำไปใช้อะไรต่อในชีวิตประจำวัน นอกเหนือไปจากการสอบหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ซ้ำยังเป็นกระบวนการผลิตนักเรียนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องท่องจำอะไรตามสูตรสำเร็จรูป ซึ่งในที่สุดก็จะถูกลดทอนความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และการตั้งคำถามไป

แน่นอนว่าเมื่อมีเสียงต่อต้าน ก็จะต้องมีเสียงสนับสนุน

ในแง่ของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย บทอาขยานทำให้เรารู้สึกเหมือนได้โลดแล่นไปในโลกวรรณคดีสมัยก่อน ทั้งตัวละคร ภาษา คำศัพท์ และบริบทต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นบทอาขยานบทหนึ่ง ชี้ให้เราเห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตอันเก่าแก่ สอดแทรกผลผลิตในเรื่องของเพศ ชนชั้น และสังคมในยุคนั้นๆ พร้อมกับให้เราได้ศึกษาวิวัฒนาการทางภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไปในตัว

“มันก็เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของเรา เราต้องรักษาไว้ แต่ไม่ต้องเยอะ เพราะภาษาเราเป็นภาษาที่สวยงามและมีเอกลักษณ์” วิไลหงษ์ แซ่เจีย อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ

“บทอาขยานเป็นการใช้สำบัดสำนวนเพื่อสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” อรรณพ เกิดวุฒิ อาชีพนักศึกษา

“คิดว่ามันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ผ่านการใส่ทำนอง ทำให้เราสามารถจำได้ดีขึ้น เป็นทักษะหนึ่งของเด็กไทยที่มีมานาน ถ้าถามว่ามันยังจำเป็นไหม ก็ถือว่าจำเป็นอยู่” โสภา นิลสริ อาชีพนักเขียน

“เราว่ามันจำเป็นนะ อย่างข้อความในใบเซียมซี เด็กมัธยมหรือผู้ใหญ่บางคนยังแปลไม่ออกเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นคำง่ายๆ ถ้าเราปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ ได้รู้จักคิด วิเคราะห์ เราว่ามันก็เป็นผลดี เรียนไปไม่เสียหาย” นายศุภกฤต อนานนท์ อาชีพนักศึกษา

Unrecognizable young woman reading a book.

การเรียนรู้แบบท่องจำอาจไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป การท่องจำเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ และถือเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่การเรียนระดับสูงได้ เพราะการเรียนรู้บางอย่างจำเป็นจะต้องมีการจดจำ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นต่อไป

วิธีนี้อาจจะได้ผลที่ชัดเจนกับคำศัพท์ กิริยา 3 ช่องในวิชาภาษาอังกฤษ ที่เราต้องท่องจำเพื่อนำไปใช้สร้างประโยคให้สมบูรณ์ หรือแม่สูตรคูณในวิชาคณิตศาสตร์ ที่เราต้องท่องจำเพื่อไปใช้ในการคำนวณเลข แต่การท่องจำบทอาขยานล่ะ เอาไปใช้ทำอะไรได้?

เมื่อได้ลองพูดคุยกับคนที่คลุกคลีกับการสอนภาษาไทยอย่างคุณสุชาวดี โพชัยศรี ผู้มีประสบการณ์วิชาชีพครูภาษาไทย ก็ได้ความว่า “ถ้าท่องจำได้ ก็นำไปใช้ในการแต่งคำประพันธ์ได้ จะได้รู้โครงสร้างหรือที่เรียกว่าฉันทลักษณ์ของบท อย่างจำนวนคำในแต่ละวรรค สัมผัสเชื่อมโยง กระทรวงกำหนดให้บรรจุลงในวิชาเรียน เพราะถือเป็นหลักการใช้ภาษา ถามว่าสำคัญหรือจำเป็นแค่ไหน ก็คงเป็นในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมนั่นแหละ”

และความเห็นเพิ่มเติมจากคุณธิติมา ขวาคำ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย “การท่องอาขยานหรือร่าย โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มันคือเสน่ห์ของภาษาและเป็นเสน่ห์ของตัวคนนั้นด้วย เพราะทำให้เรามีคลังคำในหัวที่หลายคนไม่รู้ ส่วนความจำเป็นที่จะต้องท่องหรือไม่ เอาเป็นว่ารู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ หรือเอาแค่ผ่านหูผ่านตาไว้ก็ดี”

ในด้านของหลักภาษา แน่นอนว่าการท่องจำอาขยานจะทำให้ผู้เรียนคุ้นชินกับโครงสร้างของกลอน แต่สมัยนี้การแต่งกลอนหรือบทกวีนั้นแทบจะเป็นความสนใจที่เฉพาะกลุ่มมากๆ และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะเป็นนักประพันธ์บทกลอน จึงจะเป็นไปได้ไหม หากหลักสูตรนี้จะถูกจัดเข้าไปอยู่ในวิชาเลือก เพื่อให้บทอาขยานได้อยู่ในพื้นที่ที่มีแต่ผู้คนที่มองเห็นคุณค่า

การศึกษาบทอาขยานอาจจะทำหน้าที่ได้ดีในการคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน แต่หากจะบอกว่าการท่องจำอาขยานนั้น ก็เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกซาบซึ้งกับความเป็นไทยที่ซ่อนอยู่ในนั้นเห็นจะไม่ได้ผลเสมอไป ถ้าการท่องจำที่ว่าเป็นเพียงแค่ความจำระยะสั้นที่มีเพื่อเอาไว้สอบเก็บคะแนน

อย่างไรก็ตาม อาขยานไม่ใช่เรื่องที่ดูนกแก้วนกขุนทองมากมายนัก หากมองในเรื่องประโยชน์ของการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ หลักภาษา หรือเสพเป็นงานศิลป์เพื่อสุทรียภาพ เพียงแต่เราควรจะมีวิธีอื่นไหมในการศึกษาความหมายของกลอนอันไพเราะเหล่านั้น ที่นอกเหนือไปจากการท่องจำและนำไปสอบหน้าชั้นเรียน ซึ่งหลังจากนี้ก็คงเป็นโจทย์เล็กๆ ฝากให้กับกระทรวงศึกษาธิการว่า จะทำให้ยังไงให้การศึกษาบทอาขยานดูมีคุณค่ามากกว่าการท่องจำ เพื่อลดอคติในใจและเพิ่มความใกล้ชิดกับตัวผู้เรียนมากขึ้น และเพื่อที่อย่างน้อยๆ ก็คงจะเหมือนใครหลายคนให้ความเห็นว่า “รู้ไว้ไม่เสียหาย” นั่นเอง

Illustration by Kodchakorn Thammachart

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 31
  • Dr. Proud ʕ•ᴥ•ʔ
    ไม่คิดจะให้เด็กจำอะไรเลยหรือไง ศิลปะ วัฒนธรรม มรดกของชาติ จำๆไปบ้าง ไม่เปลืองเซลล์สมองเท่าไหร่หรอก ไม่ใช่มัวแต่นั่งจำพาสเวิร์ดเฟสบุ๊ค ไลน์ ยูทูป
    24 ก.ค. 2562 เวลา 13.00 น.
  • มงคลชัย แก้วพวงงาม
    ถ้ามองแค่เพียงผิวเผินก็คงจะมองว่าเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งนั่นแหละคือคำสอนของบรรพบุรุษที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต และแง่มุมต่างๆตลอดจนชั้นเชิงด้านกวีนิพนธ์ซึ่งหากใครไร้ซึ่งศิลปะก็คงมิอาจเข้าถึงคุณค่าของกวีชั้นสูงเหล่านี้ได้ จึงเป็นสิ่งที่ลำบากที่จะนำมาอรรถาธิบายให้เข้าใจได้เป็นการทั่วไป เสมือนธรรมะของพระอริยบุคคล แม้กล่าวในบทเดียวกันเวลาเดียวกัน แต่มีผู้ฟังที่หลากหลาย การรับรู้ถึงธรรมะนั้นๆก็ย่อมแตกต่างกันไป ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับผู้รับสารเป็นอย่างมาก
    24 ก.ค. 2562 เวลา 13.00 น.
  • “Misssuwiie” 🦖
    ตอนท่องอาขยาน “ วิชาเหมือนสินค้าอันมีค่าอยู่แดนไกล...” จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกสนุกมากกับการท่อง เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองคือกะลาสีที่กำลังล่องเรือไปเอาความรู้อันมีค่า 55+ ท่องไปๆมาๆก็สนุกดี
    24 ก.ค. 2562 เวลา 13.01 น.
  • Srisamorn Wiriyapiro
    ถีงแม้โลกจะเปลี่ยนไปก็เถอะ จิตใจคนจะเป็นเช่นไร ถ้าไม่ฝึกเกราให้อ่อนน้อมก็จะแข็งกร้าว
    24 ก.ค. 2562 เวลา 12.59 น.
  • ooy013
    ถ้าท่องสูตรคูณไม่ได้แล้วจะต่อยอดความรู้ขั้นต่อไปในคณิตศาสตร์ได้อย่างไร
    24 ก.ค. 2562 เวลา 13.05 น.
ดูทั้งหมด