ทั่วไป

ชวนชิม!ทุเรียนดินทรายแห่งเดียวในไทย เริ่มปลูกเพื่อนบ้านหาว่า "บ้า"

Manager Online
เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 06.57 น. • MGR Online

อุบลราชธานี-เพื่อนบ้านบอกสองผัวเมียปลูกทุเรียนบนดินทรายเป็นบ้าแต่เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อทุเรียนออกผลสร้างรายได้ให้ปีละหลายแสนบาทภาครัฐเข้าหนุนช่วยสร้างช่องทางทำกินให้ชาวบ้านในละแวกเดียวกันอีกด้วย

ตอนเริ่มปลูกใหม่ๆ เพื่อนบ้านบอกว่า พ่อสมัย สายเสน อายุ 63 ปีกับเมีย ชาวนาหมู่บ้านโคกใหม่พัฒนา หมู่ 10 ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี น่าจะบ้า เพราะดันไปปลูกทุเรียนบนดินทราย แต่เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อทุเรียนออกผล สร้างรายได้ให้พ่อสมัยปีละหลายแสนบาท ภาครัฐเข้าหนุนช่วยสร้างช่องทางทำกินให้ชาวบ้านในละแวกเดียวกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่สำคัญได้กลายเป็นสวนทุเรียนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ปลูกพลไม้ในดินทราย

“เบื่ออาชีพทำนาปลูกข้าว ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่นาก็เป็นนาโคก พื้นดินเป็นดินทรายปนดินเหนียว แต่ละปีต้องรอฟ้าฝน รอเอาน้ำมาปลูกข้าว ปลูกได้เพียงปีละครั้ง และไม่มีความแน่นอนเรื่องผลผลิตข้าวด้วย”พ่อสมัยบอกและเล่าว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในช่วงวัยหนุ่มพ่อสมัย นอกจากทำนาปลูกข้าว ยังตระเวนไปรับจ้างเป็นคนงานตามสวนผลไม้แถวภาคใต้ มีครอบครัวก็กลับมาทำอาชีพขายรองเท้าตามตลาดนัดกับภรรยาที่บ้านเกิด และทำนาปลูกข้าวปีละครั้ง พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีข้าวไว้กินให้ได้ตลอดปี

แต่เมื่ออายุสูงขึ้น ก็เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพที่เสื่อมถอย การขับรถตระเวนไปขายรองเท้าตามตลาดนัดก็เริ่มไม่ไหว ตาฝ้าฟาง กลัวว่าวันไหนเกิดพลาดท่า มีอุบัติเหตุขึ้น จะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ครั้นจะกลับไปทำนาปลูกข้าวแบบเดิมที่เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง ก็กลัวว่าเงินทุนที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตที่มีแค่ 2 แสนบาทเศษ อาจหมดไปกับค่าจ้างไถนา ซื้อปุ๋ยใส่นาข้าวเหมือนที่เคยเป็น

ปมปัญหาเหล่านี้ ทำให้พ่อสมัย จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ทำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยแบ่งที่นาที่รับสืบทอดมากว่า 22 ไร่ ใช้ทำนา 12 ไร่ อีก 10 ไร่ ปลูกพืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว และผลไม้นานาชนิดทั้งละมุด ลำไย สับปะรด ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง กล้วย รวมทั้งทุเรียน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่การปลูกอะไรไม่สำคัญเท่าปลูกทุเรียน เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกยากในพื้นดินที่เป็นดินทราย โดยพ่อสมัยบอกว่า เริ่มแรกในปี 2553 ได้ซื้อพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจำนวน 20 ต้นมาทดลองปลูกลงในที่นาของตนเอง ยึดเอาประสบการณ์ความรู้สมัยหนุ่มๆที่ไปเป็นคนงานในสวนผลไม้ทางภาคใต้มา ประยุกต์ปรับใช้กับดินทรายในที่นาของตนเอง

โดยขนเอาดินจากใต้สระน้ำที่มีตะกอนดินของดินเหนียวสะสมทับถมเป็นเวลานานและมีจำนวนมากมาผสมกับดินทรายบนที่นา แล้วเอาต้นพันธุ์ต้นทุเรียนลงปลูก ซึ่งการปลูกช่วงแรก ก็มีเพื่อนบ้านแวะเวียนเข้ามาดูการปลูกทุเรียนบนดินทรายด้วยความหมิ่นแคลน บางรายก็เข้าขั้นหาว่านายสมัยเป็น "บ้า" ไปเลยทีเดียว

เพราะนอกจากไม่เดินทำนาข้าวเหมือนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเหมือนที่ชาวบ้านทำกันแล้ว ยังเอาพันธุ์ผลไม้นานาชนิดมาปลูกแทนข้าว…แล้วอย่างนี้ ชีวิตบั้นปลายนายสมัยจะไปรอดหรือเปล่า??? คำพูดเหน็บแนมพวกนี้ พ่อสมัยพยายามไม่สนใจ ก้มหน้าก้มตาทำตามที่ตัวเองตั้งใจ

แต่แล้วเมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 3-4 ปี ทุเรียนจำนวน 20 ต้นเริ่มให้ผลผลิต โดยมีผลใหญ่น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 กิโลกรัม มีเนื้อหอม หวาน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน สามารถเก็บออกขายผสมกับผลไม้ชนิดอื่นๆด้วย

มาถึงวันนี้ พ่อสมัยก็ได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนบนดินทรายจาก 20 ต้นเป็นเกือบ 300 ต้น และเก็บผลผลิตที่งอกเงยออกขายทุกปี แต่ด้วยพื้นที่ที่แห้งแล้ง แม้มีผลทุเรียนให้เก็บเกี่ยวได้เพียง 1 ใน 3 ในแต่ละปี ก็ทำเงินให้กับพ่อสมัยปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 แสนบาท

ซึ่งไม่รวมถึงพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และผลไม้อีกหลากชนิดที่มีอยู่ในสวน "ตายาย" ของนายสมัยและนางราตรีผู้เป็นภรรยา ทุกวันนี้ สองตายาย แค่นั่งๆนอนๆอยู่ในสวนของตัวเอง ก็มีคนเข้าไปจับจองขอซื้อผลผลิตที่หมุนเวียนออกตามฤดูกาล ไม่ต้องเหนื่อยยากไปขายรองเท้าตามตลาดนัดอีกแล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีโรคระบาดไวรัสโควิด 19 ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อรายได้ของสองผัวเมียคู่นี้

นายชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอสำโรง พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตรที่เข้าเยี่ยมดูผลผลิตในสวนทุเรียนของนายสมัย กล่าวถึงผลสำเร็จของเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีชีวิตดีขึ้นว่า เป็นสวนทุเรียนเพียงแห่งเดียวของอำเภอในขณะนี้ ที่ปลูกบนดินทราย และเป็นทุเรียนที่มีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่นคือ เนื้อมีความหอมออกรสหวาน แต่กลิ่นไม่ฉุน เนื้อแห้ง ราคาไม่แพง

ส่วนการต่อยอดขณะนี้ มีเกษตรรายอื่นที่อยู่ใกล้กับสวนพ่อสมัย และเห็นความสำเร็จได้เริ่มปลูกทุเรียนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้เกษตรอำเภอเข้าสนับสนุน เพื่อเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปเที่ยวชมสวนหรือเลือกซื้อผลผลิตหลากชนิดในสวนของพ่อสมัย โทรศัพท์สอบถามล่วงหน้าที่หมายเลข 081-062-6470 เพราะจะได้ไม่เสียเที่ยวกลับมามือเปล่า ซึ่งทุเรียนผลขนาด 4-5 กิโลกรัม ขณะนี้ยังพอมีเหลือจากการจองให้ซื้อกลับไปกินได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 150 บาทเท่านั้น ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ต้องเข้าไปตามฤดูกาลจะได้ผลไม้ที่สดใหม่จากต้นเลยทีเดียว

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 20
  • watcharin
    ลุงแกเก่งดี ได้ผลผลิตดี ของผมก้อปลูกดินทรายครับ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 04.59 น.
  • Pilot guide
    มันต้องลูกบ้าแบบนี้สิ คนเรา ยางพาราเหมือนกัาคนแถวบ้านผมปลูกเค้าหาว่าบ้า สุดท้ายรวยเละซื้อชอปเปอร์แจกลูกหลาน คนที่คอยเอาอย่างเค้า ก็ตอนยางพาราราคาตกซะแล้ว สมน้ำหน้า
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 04.51 น.
  • Sirat
    เก่งมากคะดีใจด้วยคะ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 04.20 น.
  • bunterm
    เปลี่ยนจากแรงกดดัน​เป็นความมุ่งมั่นจนประสบ​ความ​สำเสร็จ​ ​นับถือๆๆๆ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 03.04 น.
  • หยก
    นี่แหละข้าราชการไทย เรียนจบด้านเกษตรมารับราชการ วันๆไม่มีผลงาน. ไม่คิดอะไร ชาวบ้านต้องเริ่มต้น ลองผิดลองถูก และสู้เอง. ไม่สำเร็จก็ติดหนี้ ธกส ต่อไป แต่ถ้า ชาวบ้าน ทำสำเร็จแล้ว ข้าราชการ จะใช้คำว่า เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งๆที่เขาทำจนเสร็จแล้ว พากันแห่เข้าไป ถ่ายรูป และกินฟรี แล้วนำไปเป็นแบบอย่างอ้างเป็นผลงานขอเบิกงบ แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับอะไรนอกจากแค่ ได้ออกข่าวฟรีๆ แค่นั้นเอง
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 02.57 น.
ดูทั้งหมด