จากรายการวิทยุทุกคืนวันศุกร์ สู่การเป็นเพื่อนคู่คิดของคนที่มี(ปัญหา)ความรัก เรากำลังพูดถึงรายการวิทยุที่มีวิวัฒนาการชัดเจนน่าสนใจ จากรายการทอล์คโชว์สู่บทเพลงและซีรี่ส์มากมาย จนเกิดหนึ่งวลีฮิต “พี่อ้อยพี่ฉอดคะ”
และวันนี้เราได้รับเกียรติจากพี่อ้อย (ดีเจอ้อย- นภาพร) มาพูดคุยกันแบบเอ็กซ์ลูซีฟกับ LINE TODAY ที่นี่ที่เดียว
about Work
- เล่าเรื่องราวการทำงานอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่อยากทำในอนาคต -
“เป็นความโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก พี่อยากเป็นดีเจมาตลอดชีวิต และได้เรียนสายที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรียนจบก็ได้ทำงานตรงสาย และยิ่งรู้สึกรักในอาชีพนี้มากเรื่อยๆ รักยิ่งกว่าตอนเรียนอีก พอมีคลับฟรายเดย์ยิ่งรู้สึกภูมิใจว่างานเล็กๆ ของเราตรงนี้มันมีประโยชน์เหมือนกันนะ ถึงมันจะไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยคนที่โทรเข้ามาในรายการเขาได้ความสบายใจ หรือคนที่ฟังทั่วไปต้องได้แง่คิดอะไรบ้าง แม้จะเป็นเพียงข้อเดียวก็ตาม ก็ถือว่าอาชีพของเราได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ แล้ว”
“แผนในอนาคต จริงๆแล้ว ต้งแต่พี่แต่งงานแรกๆ สามีให้เวลาเราอยู่กับงานที่เรารักสัก 2ปีก่อน แล้วจะให้ย้ายไปอยู่ด้วยกันที่ต่างจังหวัด แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ราวๆ สิบปีเห็นจะได้ ดังนั้นถ้าจะถามถึงแผนในอนาคตก็คงย้ายไปอยู่กับสามี ไปดูแลสามี และช่วยดูแลธุรกิจของสามีที่แม่สอด (จ.ตาก) แต่อยากให้สิ่งที่เราได้เรียนรู้ตลอดระยะการทำงานมานั้นมีประโยชน์ ก็เลยเริ่มมีงานเขียน มีงานออกไปพูดเป็นวิทยากร อย่างน้อยพี่เชื่อว่าความรู้ที่มีมันยังสามารถแชร์กันได้ ตอบยากว่าจะเลิกทำวิทยุเมื่อไหร่ แต่ในวันนี้พี่ยังรักงานและงานก็รักพี่ พี่ก็ยังอยากจะอยู่ตรงนี้อีกสักพักหนึ่ง ส่วนชีวิตส่วนตัวที่นอกเหนือจากเรื่องของงานก็ยังบริหารจัดการได้อยู่ ดีที่สมัยนี้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก เราก็ยังบินไปบินมาเจอกันง่ายขึ้นเยอะ”
- วิธีWork Life Balanceในแบบพี่อ้อย -
“พี่ไม่ได้หารเวลาออกมาแบบ 24ชั่วโมงจะให้อะไรบ้างเป๊ะๆ นะ แต่พี่มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราประสบความสำเร็จในเรื่องงาน แต่เราไม่รู้ว่าจะหันไปฉลองกับใคร มันจะเป็นความสำเร็จที่อ้างว้างมาก ดังนั้นเรื่องงานก็ต้องจริงจัง แต่ก็ต้องบริหารเรื่องส่วนตัวให้ได้ด้วย พี่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีความเป็น 2อาชีพอยู่ในตัว อย่างแรกคือเป็นเซลล์ เราต้องขายแนวคิดของเราได้ ทุกคนกำลังขายความเป็นตัวเองอยู่ จะมีเพื่อนสักคนเราก็ต้องขายความน่ารัก ความเป็นเพื่อนที่ดีของเรา จะมีแฟน ก็ต้องขายความเป็นตัวเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องงาน เราก็ต้องขายความสามารถของเราให้เขาจ้าง. อีกอาชีพหนึ่งที่เราควรมีคือความเป็นผู้บริหาร แม้ว่าเราจะเป็นลูกน้องก็ตาม เราก็ต้องบริหารเวลาให้ได้ พี่ไม่เชื่อในคำว่า ‘ไม่มีเวลา’ เพราะคำว่า ‘ไม่มีเวลา’ หมายถึงฉันยังไม่อยากใส่ใจกับอันนั้นมาก เมื่อไหร่ก็ตามทีที่เราให้ความใส่ใจสำหรับอะไร เราจะมีเวลาให้มันเสมอ”
“อีกอย่างหนึ่งคือพี่ได้เรียนรู้อยู่กับความไม่แน่นอนเยอะแยะมากมาย เช่นคุณแม่มีโรคประจำตัว ชีวิตพี่จะเรียนรู้การยืนอยู่หน้าห้องผ่าตัดบ่อยครั้ง และเมื่อเราอยู่หน้าห้องผ่าตัด เราก็เกิดความคิดว่าชีวิตคนเราจะอยากได้อะไรหนักหนา สิ่งที่คนที่ยืนอยู่หน้าห้องผ่าตัดอยากได้คือคุณหมอเดินออกมาบอกว่าเรียบร้อยแล้วนะ ปลอดภัยนะ เท่านั้นเอง อย่างอื่นเป็นเรื่องรองทันที ถ้าคนที่เรารัก ปลอดภัย เพราะฉะนั้นคำว่า Work Life Balance มันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เช่นพอจะวันหยุดพี่ก็จะคิดแล้วว่าจะพาคนที่เรารักไปเที่ยวไหนกันดี จะใช้เวลาร่วมกันอย่างไรดี ความคิดเหล่านี้มันจะมาในหัวโดยอัตโนมัติ พี่อาจจะไม่ใช่คนที่บริหารเวลาได้ดีที่สุด แต่พี่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยพี่ก็เกลี่ยเวลาให้ทุกอย่างได้ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน”
“สิ่งที่พี่คิดและพูดเสมอ เป็นแฮชแท็กให้ตัวเองเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ #เราจะทำทุกหน้าที่อย่างดีที่สุด เช่นปัจจุบันนอกจากทำรายการวิทยุก็ยังมีรายการโทรทัศน์ และมีงานเขียน พี่ทำเต็มที่กับทุกงาน กล้าพูดเลยว่าพี่ไม่เคยส่งงานเขียนช้าเลย ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีก็ตาม เพราะพี่รู้ว่าทุกคนรอ พี่ไม่อยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน”
- พี่อ้อยมีใครเป็นไอดอลในการทำงาน? -
“มีหลายส่วนค่ะ แม้กระทั่งพี่ฉอดที่เป็นเจ้านาย พี่อ้อยทำงานกับพี่ฉอดมาประมาณ 30ปี พี่ฉอดเป็นเจ้านายที่ดีมากๆ พี่ไม่เคยเห็นพี่ฉอดเอาความเครียดมาลงที่ลูกน้องเลย พี่ฉอดจะเป็นคนที่แคร์คนอื่นเยอะ โดยเฉพาะใจลูกน้อง.. จะทำแบบนี้คนนี้จะรู้สึกอย่างไร แล้วถ้าทำแบบนั้นอีกคนจะรู้สึกอย่างไร พี่เห็นพี่ฉอดแล้วรู้สึกอยากเป็นลูกน้องทั้งชีวิต เพราะถ้าเป็นเจ้านายคงจะเหนื่อยมาก (หัวเราะ) เพราะเมื่อเราเป็นลูกน้อง เราขีดเส้นรอบวง แล้วเราอยู่ในเส้นรอบวงนั้นให้ดี แค่นี้คือจบ แต่คนเป็นเจ้านายจะต้องดูแลหลายๆ เส้นรอบวง ก็จะเหนื่อยหน่อย”
“อีกหนึ่งคนที่เป็นไอดอลด้านการทำงานเป็นดีเจของพี่ก็คือพี่โจ-มณฑานี … พี่โจเคยเป็นดีเจอยู่คลื่น smile radio เป็นดีเจที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้อะไรดีๆจากการฟังรายการที่พี่โจจัด นอกเหนือจากการฟังเพลง ทำให้พี่บอกตัวเองทุกครั้งเวลาทำงานว่าคนฟังต้องได้อะไรมากกว่าแค่การฟังเพลง พี่โจเคยพูดว่า ‘ถ้าโฆษณาทำให้คนฟังเปลี่ยนคลื่นหนีไป ดีเจจะต้องเป็นคนที่ทำให้คนฟังกลับมา’ มันทำให้พี่มีแรงคิดว่า รายการที่เราจัดจะต้องมีข้อดีอะไรสักอย่างสิ คลื่นเรามีเพลง คลื่นอื่นๆ เขาก็มีเหมือนกัน ทำอย่างไรที่จะให้คนอยากฟังเพลงจากเรา”
- พูดถึงรูปแบบของรายการวิทยุในยุคปัจจุบัน -
“รายการวิทยุมีความเป็นเพื่อนสูงมาก เช่นยุคหนึ่งที่มีดาราหันมาเป็นดีเจ หลายคนเกิดข้อสงสัยทำไมถึงเอาดารามาเป็นดีเจ จะบอกว่าเวลาอยู่หน้ากล้องเขาเป็นนักแสดง ต้องรับบทบาทเป็นคนอื่น แต่พอมาเป็นดีเจ นั่นคือตัวตนของเขา ดังนั้นจึงมีคนในวงการไม่น้อยที่ติดใจงานดีเจเพราะเขาได้เป็นตัวของตัวเองตลอด 2-3ชั่วโมงที่เขาจัดรายการ ปัจจุบันก็มีรายการหลายรูปแบบ มีความหลากหลายในเนื้อหา ทุกรายการมีความเป็นเพื่อนใกล้ชิดกับคนฟังมากขึ้น ยิ่งทุกวันนี้เราอยู่ในโลกออนไลน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้คำหยาบคาย สมัยก่อนรายการวิทยุจะต้องถูกคัดกรองเยอะมาก แต่ในปัจจุบันพอเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์ ต้องยอมรับว่าคำหยาบคายบางคำ บางคนก็ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องยอมปรับให้เข้าถึงคนฟังให้มากขึ้น แต่พี่ก็ไม่ได้อยากให้ความหยาบคายเป็นจุดขาย ทุกวันนี้ก็ยังคอยเตือนน้องๆ ให้เบาหน่อย ถึงอย่างไรรายการวิทยุก็เป็นสื่อ มีคนที่พร้อมจะเข้าใจ และมีคนที่พร้อมจะเลียนแบบ แต่โดยรวมพี่จะดีใจมากที่ได้เห็นรายการวิทยุมีวิวัฒนาการ มีความหลากหลาย รายการวิทยุไม่ใช่แค่เปิดฟังเสียงแล้ว แต่ยังสามารถเห็นภาพ เห็นการแสดงออก คนเป็นดีเจไม่จำเป็นจะต้องหล่อสวย เพียงแต่ต้องมีบุคลิกที่เป็นกันเอง”
- จุดกำเนิดของ 'Club Friday' -
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รายการวิทยุกำลังเปลี่ยนรูปแบบ แต่ก่อนเป็นรูปแบบการจัดรายการที่เรียกว่า Format Station คือรูปแบบรายการเป็นเหมือนเดิม 24ชั่วโมง ดีเจก็จะทำหน้าที่เหมือนเดิม ต้องเล่นเกม ต้องนั่งเม้าท์ หาเรื่องคุยต่างๆ นาๆ จนกระทั่งมีรายการวิทยุจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งก่อนที่เขาจะมาเขาได้ทำการรีเสิร์ชข้อมูล สำรวจว่าคนไทยเบื่ออะไรที่สุดในรายการวิทยุ อันดับแรกเลยคือ ‘โฆษณา’ อันดับต่อมาคือ ‘ดีเจ’ ดังนั้นเขาจึงเคลียร์สิ่งที่เป็นสิ่งที่เป็นสิ่งรบกวน โฆษณาน้อย ดีเจพูดน้อย สมัยนั้นรถแทบทุกคันในกรุงเทพเปิดฟังคลื่นนี้ เมื่อมีคนฟังเยอะ ค่าโฆษณาก็สูง ตอนนั้นพี่ฉอดจึงมีแนวคิดลองเปิด Cool Fm ‘50นาทีไม่มีโฆษณาคั่น’ ก็ได้รับการตอบรับที่ดี ต่อมาพี่ฉอดมีแนวคิดใหม่ ที่เชื่อว่าหลายคนชอบฟังคนคุยกัน ก็ลองทำรายการ ‘แฉแต่เช้า’ ที่ EFM ไม่มีเปิดเพลงเลยสักเพลง แต่รายการก็ดังมากในตอนนั้น เราเลยมาลองคิดกันว่าจะทำรายการทอล์คโชว์อะไรทีดที่คลื่น Green Wave จะจัดแฉเหมือนกันก็ไม่ตรงกับคาแรคเตอร์ของดีเจคลื่นนี้สักเท่าไหร่ ก็ได้ไอเดียจากการที่เวลามีคนโทรเข้ามาขอเพลง มักจะมีเรื่องส่วนตัวบวกเข้าไปกับเพลงนั้นๆ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรัก ก็เกิดไอเดียจัดรายการ Club Friday ตอนแรกมีชื่อว่า ‘รักเราเท่าเพลงไหน’ เอาเพลงเป็นตัวตั้งต้น แล้วโยงเข้าเรื่องส่วนตัว มันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของรายการ Club Friday มา 13ปีนี้”
- ทำไมถึงเลือกให้เป็น 'วันศุกร์' -
“เรามองว่าวันศุกร์จะเป็นวันที่คนกลับดึกกว่าปกติ เป็นวันที่เราไม่ต้องรีบนอนเพื่อรีบตื่นไปทำงาน ดังนั้นวันที่เหมาะที่จะฟังเรื่องราวต่างๆ จึงน่าจะเป็นวันศุกร์ และก็แปลกดีที่บังเอิญมีคนบอกว่าดาวศุกร์เป็นดาวแห่งความรัก แต่อันนั้นเราไม่ได้ตั้งใจนะ เราแค่เลือกวันที่น่าจะเป็นวันสบายๆ ขับรถกลับบ้านต้องได้ฟัง และขอบอกเลยว่าจะฟัง Club Friday ให้สนุกต้องฟังในรถนี่แหละ”
- ปัญหาความรักของ Club Friday แบบไหนที่ทำให้รู้สึกหนักใจ / เป็นห่วงมากที่สุด -
“เรื่องแรกที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของความไว เราใช้เวลาในความสัมพันธ์สั้นเกินไป ในยุคโซเชียลที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก การที่เราจะพบกับใครสักคน หรือพูดคุยกับใครกลายเป็นเรื่องง่าย บางกรณีคุยแชทกันแป๊บเดียว ตัดสินใจมีอะไรกันแล้ว พี่ยังคงเป็น ‘คนรุ่นก่อน’ ที่มองว่า บางเรื่องมันเร็วไปก็ไม่ดี เพราะอะไรที่ได้มาง่ายๆ เสียไปก็ไม่เสียดายเท่าไหร่ มันไม่มีใครปกป้องเราได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง คนสมัยนี้อาจจะคิดว่า คนโบราณจะมาเข้าใจได้อย่างไร แต่อย่าลืมนะว่าคนโบราณเขาเคยผ่านวัยเรามาก่อน กว่าจะมาถึงวันนี้คนรุ่นเก่าเขาก็ผ่านอะไรมาเยอะ อยากให้มองนิดนึงว่า หรือว่าคนรุ่นเก่าเคยพังเพราะเรื่องพวกนี้มาก่อนแล้ว เราคิดว่าเขาเป็นคนรุ่นเก่าเลยไม่ฟัง เราอาจจะพังซ้ำรอยคนรุ่นเก่าก็เป็นได้ บางทีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างก็เป็นการวัดใจ ให้เขาได้พิสูจน์ว่าเขารักเรามากแค่ไหน บางทีอะไรที่มันง่ายไปเสียทุกอย่าง ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย เราเลยไม่มีโอกาสวัดใจว่าเขารักเราจริงหรือเปล่า จะต่อสู้เพื่อเราสักนิดได้ไหม สิ่งหนึ่งที่พี่อ้อยเคยบอกบ่อยๆ คือ ถ้าเราใช้เวลาในการดูใจกันไม่นาน เราจะต้องทรมานกับการทำใจซึ่งใช้เวลานานกว่ามาก”
- รู้สึกอย่างไรที่กลายเป็นที่พึ่งทางความรัก -
“ไม่กดดันนะคะ ในฐานะที่เป็นผู้รับฟัง เราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่เราต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะรับมือกับปัญหา มองหาความสุขจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ได้ การฟังเรื่องราวความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบดี หรือแบบที่มันเศร้าก็ตามมักได้แง่คิดที่ดีและน่าสนใจเสมอ”
- การเติบโตของ 'Club Friday' -
“เป็นไอเดียของพี่ฉอดค่ะ พี่อ้อย เป็นดีเจดำเนินรายการอย่างเดียว พอเริ่มมีนักแต่งเพลงฟังรายการClub Friday เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เราเองก็ลองทำขึ้นเองเป็นอัลบั้ม Club Friday Based on true story และยังมีคนทำหนังเอาเรื่องใน Club Friday ไปทำเป็นพล็อตหนัง อย่างเรื่องกวนมึนโฮ ถือเป็นหนังแจ้งเกิด ‘พี่อ้อยพี่ฉอด’ เลยนะ ตอนที่เขาติดต่อมาก็เป็นห่วงว่าเอารายการเราไปลงในหนังคนจะรู้จักเหรอ แต่ปรากฏว่าคนดูชอบ คนจะรู้จัก ‘พี่อ้อยพี่ฉอด’ แต่ไม่เป็น ‘พี่ฉอดพี่อ้อย’ เพราะตัวแสดงในหนังเรียกแบบนั้น จากนั้นเราก็ทำซีรี่ส์ของเราเองก็โดยขออนุญาตจากเจ้าของเรื่องที่โทรเข้ามาเล่าให้เราฟัง พบว่าละครมันเข้าถึงคนได้มากกว่า กลายเป็นมิติใหม่ของละคร ที่ก่อนหน้านี้พระเอกกับนางเอกจะต้องมีตอนจบแบบสวยๆ แต่พอมาเป็นชีวิตจริงแล้วมันไม่ใช่ บางคนดีนี่แหละเป็นคนที่พังที่สุด โดนคอมเมนต์ว่าทำไมจบแบบนี้ ก็เพราะเรื่องที่เขาเล่ามามันเป็นแบบนี้ เราไม่สามารถปรับแกนได้ ปรับได้แค่รายละเอียดเล็กน้อย”
“รายการทีวี ‘Club Friday Celeb Story’ นั้นก็เริ่มมาจากตอนที่พี่ฉอดได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานีโทรทัศน์ ก็ลองนำรายการ Club Friday แบบในวิทยุมาออกอากาศดู พบว่าศาสตร์บางศาสตร์มันใช้ไม่ได้ ก็มีการปรับแก้กันประชุมหลายรอบมาก ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า เรื่องราวของคนดังนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะคนธรรมดาทั่วไปเวลาความรักมีปัญหาจบไปแล้วส่วนใหญ่ก็คือจบ แต่คนดังบางทีเขาเลิกกันไปสองสามปีแต่ยังมีคนสนใจอยู่ และพอเราเชิญคนดังมานั่งคุย เขาก็ไว้ใจและเล่าให้เราฟังทั้งหมด และเราได้มุมมองความรักทีดีมากๆ”
- ก้าวต่อไปของ 'Club Friday' -
“ต้องยอมรับว่ายังไม่ได้มีการวางแผนอะไรไว้นะคะ ล่าสุดนอกจาก Club Friday ก็จะยังมีรายการใหม่ชื่อ ‘พี่อ้อยพี่ฉอด ตัวต่อตัว’ ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากเวลาที่ไปไหนมาไหนจะมีคนมาเล่าเรื่องความรักให้ฟัง แม้แต่เวลาที่กดลิฟต์ลงในออฟฟิศที่ตึกแกรมมี่ก็มีคนที่เจอเราแล้วอยากเล่าเรื่องของเขาให้เราฟัง ก็เลยเปิดรายการนี้ขึ้นมาให้ได้พูดคุยกัน สำหรับ Club Friday นั้นยังไม่มีแผนอะไร นอกจากทำสิ่งที่มีอยู่ให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ให้รายการ Club Friday เป็นรายการที่ดึงสติคนที่กำลังเคว้งคว้างอ้างว้างไม่ให้คิดสั้น ปัจจุบันสถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเพราะเวลาที่เรามีปัญหาเราไม่มีคนรับฟัง เรามีเครื่องมือสื่อสารทันสมัยแต่พอมีปัญหาเรากลับไม่รู้จะโทรหาใคร รายการคลับฟรายเดย์อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยมีคนรับฟัง นอกจากนั้น เวลาคนที่โทรเข้ามาได้เล่าให้เราฟัง เขาจะเริ่มมีสติจากการคิดทบทวนในขณะเล่าและเริ่มรับมือกับปัญหานั้นได้ด้วยตัวของเขาเองด้วย ได้รู้จักวิธีที่จะคิดอย่างไรให้รอด”
about Life
- วันว่าง 1 วันของพี่อ้อย -
“พี่ชอบทำงานบ้านค่ะ การทำงานบ้านเป็นเรื่องที่สนุก เราจะได้ค้นพบว่า ของในบ้าน 80% คือของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ แต่ก็ไม่กล้าทิ้ง โดยเฉพาะเสื้อผ้า บางทีเรามีความสุขแค่เห็นมันแขวนอยูในตู้ของเรานี่แหละ นอกจากนี้พี่อ้อยก็จะใช้เวลาว่างที่มีอยู่กับคนที่เรารัก สุดแท้แต่การจะจัดการบริหารเวลาในช่วงนั้นๆ”
- เรื่องราวความรักของพี่อ้อย -
“เป็นรักทางไกลค่ะ 17ปีแล้ว นับจากวันที่ตกลงเป็นแฟนกัน เจอกันจากการทำงาน พี่เป็นดีเจ สามีเป็นอดีตนักร้อง เริ่มต้นทำความรู้จักกันเป็นเพื่อน พัฒนามาเป็นแฟนและแต่งงาน แต่ก่อนความรักก็จะมีอุปสรรคอยู่เหมือนกันนะ ถึงขนาดที่เขาเคย บอกกับเราว่า “คู่เรา.. แค่ไหนแค่นั้นนะ” ซึ่งก็จริงของเขานะ เพราะตอนนั้นเรามองไม่เห็นอนาคตเลย มีโจทย์เยอะแยะมากมาย เช่นด้วยความที่สามีเป็นอดีตนักร้อง ก็จะมีกลุ่มแฟนคลับซึ่งตอนนั้นไม่ชอบเรา หรือตอนนั้นคุณแม่เขาก็หมายตาผู้หญิงอีกคนหนึ่งไว้ เคยถึงขนาดจะตัดแม่ตัดลูกกัน แต่เราก็ยังอยู่ข้างๆ กันมาตลอด จนปัจจุบันได้แต่งงานกัน อาศัยอยู่กันคนละจังหวัด เพราะสามีต้องดูแลคุณแม่และพี่สาว พี่อ้อยเองก็ต้องดูแลคุณแม่ และงานที่พี่อ้อยรักก็อยู่ที่กรุงเทพฯ พอมีเวลาเราก็บินขึ้นไปหาสามี ไปช่วยงาน ช่วยดูแลคุณแม่สามี ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้เราไม่ได้ใช้คำว่า ต้องต่อสู้ แค่ทำทุกวันให้มันดีที่สุด ‘แค่ไหนแค่นั้น’ จริงๆ”
“คำว่า ‘รักทางไกล’ หลายคนอาจไม่เชื่อ พี่เองก็รู้สึกลึกๆ ว่าเราอาจจะเป็นภรรยาที่ไม่ได้อยู่ดูแลสามีทุกวัน แต่ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน เราดูแลกันเต็มที่และทำให้ดีที่สุด การอยู่ไกลกันเราก็ใช้การโทรหากัน หลายคนอาจบอกว่ารักกันต้องเชื่อใจกัน แต่พี่อ้อยคิดว่ารักกันต้องทำตัวให้น่าเชื่อใจด้วย หากเราเอาแต่มีความไม่เชื่อใจ ทุกครั้งที่คุยกันมันจะเป็นช่วงเวลาที่กดดัน เราห้ามความคิดมากไม่ได้ สิ่งที่สำคัญของรักทางไกลคือเราทำตัวให้อีกฝ่ายไว้ใจได้มากแค่ไหน จริงอยู่ที่ว่าความรักมันเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่ถ้าวันนี้ยังดี ก็ทำวันนี้ให้เต็มที่และดีที่สุด”
- เคล็ดลับ ใช้ชีวิตให้มีความสุข ในแบบของพี่อ้อย -
“ทุกครั้งเวลาที่มีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไร หยุดตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เพราะการตั้งคำถามแบบนี้มันจะมีการตำหนิอยู่ในนั้น เช่น ‘ทำไมไม่โทรมา’ ‘ทำไมทำแบบนี้’ ‘ทำไมแค่นี้ไม่รู้เหรอว่าอยากได้อะไร’ ‘ทำไมวันนี้ไม่ว่าง’ ทำไม ทำไม ทำไม คนฟังจะรู้สึกเหมือนถูกชี้หน้าอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครอยากถูกชี้หน้า ลองเปลี่ยนจากคำว่า ‘ทำไม’ มาเป็น ‘แล้วเราจะทำยังไงต่อ?’ เขามาไม่ได้ เราไปหาได้ไหม / เขาไม่ว่างโทรมา เราไลน์ไปหาก็ได้ไหม หาวิธีต่อไปในการแก้ปัญหา”
- นิยามความรักที่สมบูรณ์แบบ ในแบบฉบับของพี่อ้อย -
“ความรักจะสมบูรณ์ขนาดไหน อยู่ที่ความคาดหวังของแต่ละคนว่าจะตั้งความคาดหวังไว้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนคือไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ เรารักกันในข้อดี ให้อภัยกันในข้อเสีย ไม่มีคู่ไหนตกหลุมรักกันได้ทุกวัน ต่อให้คบกันมานานก็มีวันที่หมั่นไส้กัน คิดเห็นไม่ตรงกัน เบื่อกัน แต่ถามว่าจะปล่อยมือไปไหม ก็ไม่หรอก ดังนั้นความรักจะสมบูรณ์แบบแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความคาดหวังว่าจะได้อะไรจากความสัมพันธ์นั้น หลายคนมองหาสิ่งที่เรียกว่า ‘รักแท้’ โดยลืมมองว่าควรทำรักที่มีในมือให้เป็นรักที่ดีที่สุดก่อน รักแท้ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วมันจะหล่นใส่ตัก บางทีเริ่มแรกมันอาจจะไม่แท้ก็ได้ แต่เมื่อเราดูแลมันอย่างดี มันอาจจะกลายเป็นรักแท้ขึ้นมาในวันหนึ่ง”
- ข้อคิดในการดำเนินชีวิตสำหรับคนโสดและไม่โสด จากพี่อ้อย -
“ความโสด ไม่ใช่บทลงโทษจากฟ้า โสด ก็แค่หาวิธีแก้เหงา ดีกว่าต้องมานั่งเศร้าเพราะเขาไม่ใช่ ตอนนี้เราโสด ความสุข-ความทุกข์ มันขึ้นอยู่กับเรา ไม่ใช่ผูกอยู่กับขาใคร ฉะนั้นจงเห็นคุณค่าของความโสดเถอะ ทำไมคนที่จะแต่งงาน เขาถึงใช้คำว่า ‘สละโสด’ … มันอาจจะย่อมาจาก ‘สละความสุขซึ่งความโสด’ หรือเปล่า? ถ้ายังไม่เจอคนๆ นั้นก็ไม่ต้องรีบ พอเรามีความสุข เดี๋ยวจะมีคนมาขอแบ่งความสุขใกล้ๆ เอง อย่าเป็นคนโสดทีมีรังสีอมหิตอยู่รอบตัว หรือเป็นคนโสดที่ดูขมขื่นใจ”
“ส่วนคนที่มีคู่ จงมีคู่อย่างมีความสุข อย่ามีคู่แล้วต้องทนทุกข์ทรมาน ถ้ารักใครแล้วทำให้เราเจ็บ การรักตัวเองจะทำให้เรารอด หากมีคู่แล้วต้องเลิกรากันไปไม่ใช่ความผิดพลาดของเรา ผู้หญิงทุกคนกลัวคำว่า ‘หม้าย’ แต่เมื่อวันหนึ่งที่ความรักมันเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ผู้หญิงที่เป็นหม้ายหลายคนคือคนที่ควรชื่นชมเพราะเขาเลือกที่จะมีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่ ดีกว่าทนทุกข์เพียงเพราะกลัวคำว่า ‘หม้าย’ ดังนั้น จงมีคู่อย่างมีความสุข ไม่ผิดหรอกค่ะถ้าเราจะเรียกร้อง หรืออยากได้อะไรจากคู่ของเรา แต่ก็อย่าลืมให้เขาด้วย อย่าเอาแต่อยากได้แต่ฝ่ายเดียว”
- ฝากผลงานปัจจุบัน -
“ตอนนี้ก็มีจัดรายการทุกวันเวลา 15:00 – 19:00 ที่คลื่น Green Wave, Club Friday 22:00 – 00:0 วันศุกร์, เจอหน้ากันได้ในรายการ Club Friday Show Based on Celeb Story ทุกวันเสาร์ 18:25 ทาง GMM25 นอกจากนี้ก็จะมีงานเขียนคอลัมน์อย่างมากมาย เช่นงานเขียนที่ LINE TODAY ทุกสัปดาห์ มีอะไรอยากถามพี่อ้อยก็ฝากมาทาง LINE TODAY ได้เลยค่ะ”
เพราะความรัก มีให้เรียนรู้ไม่รู้จบ มันไม่ใช่ “แค่” เรื่องความรัก แต่ความรักเป็นวัตถุดิบในการใช้ชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นความรักที่เราให้แก่กัน หรือความรักในงาน มีความสุขภายใต้เงื่อนไขที่มันมี ความรัก จะดีหรือไม่ดี ในที่สุดแล้ว ความรักที่ควรมีและไม่ควรหายไปคือความรักในตัวเอง และเราจะรอดจากทุกปัญหาได้เพียงแค่เรารักตัวเองให้มากพอ.
Nink😊 ชอบมุมมองของพี่อ้อยมากเลยค่ะ Positive thinking.
03 ส.ค. 2561 เวลา 14.28 น.
NTPSANG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรัก ไม่เห็นเปิดเผยความรักของตนเองให้คนอื่นรู้บ้างเลย
03 ส.ค. 2561 เวลา 13.31 น.
ลองเปิดเผยความรักของตัวเองดูบ้างสิครับว่ามีด้านมืดบ้างหรือเปล่าจิตใจคนเรามันไม่ได้ปลูกในทุ่งดอกลาเวนเดอร์นะครับผมว่าโลกมันไม่สวยหรอกโลกมันมืด
04 ส.ค. 2561 เวลา 01.20 น.
Kulsri 22 อยากคุยกับคุณอ้อยเรื่องนาวชีวิตของตัวเอง ต้องทำอย่างไรครับ
03 ส.ค. 2561 เวลา 13.56 น.
Sky2365 เอาตำแหน่งนี้ไปโล้ดดดด "ศาลาคนเศร้า"
04 ส.ค. 2561 เวลา 00.38 น.
ดูทั้งหมด